ยะลา
จำนวน : 487,380คน
คำขวัญ :ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน
ยะลา เป็นจังหวัดในประเทศไทย คือจังหวัดใต้สุดของแผ่นดินไทย มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายประเภท ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม และธรรมชาติ ที่ล้วนมีเอกลักษณ์ น่าค้นหา เฉพาะในส่วนของตัวเมืองยะลานั้น ได้รับการกล่าวขานว่ามีการวางผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ถนนหนทางกว้างขวาง น่าไปเที่ยวชม
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายสไตล์แล้ว ยะลายังมีความน่าสนใจตรงที่เป็นจังหวัดที่ผสมผสานวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และชาวไทยจีน ไว้ด้วยกันได้อย่างน่าทึ่ง ลักษณะบ้านเรือนและวิถีความเชื่อที่แตกต่างนั้น ทำให้ยะลาเป็นจุดหมายที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการเรียนรู้เรื่องราวของผู้คน
จังหวัดยะลา มีเนื้อที่ประมาณ 4,512 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดเดียวในภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่ปกคลุมด้วยผืนป่าอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ราบมีน้อย และถูกใช้ประโยชน์ในด้านการเป็นพื้นที่ตั้งชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยความที่มีป่าเขาอุดมสมบูรณ์ จึงมีฝนตกชุกมากถึงปีละประมาณ 9 เดือน ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง
ความเป็นมาของยะลาเริ่มต้นและเติบโตมาเคียงคู่เมืองปัตตานี โดยเป็นส่วนหนึ่งของปัตตานี ซึ่งเชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับอาณาจักรลังกาสุกะ ที่ถือว่าเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดบนแหลมมลายู
ยะลาเป็นส่วนหนึ่งของปัตตานี ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย จนล่วงเลยมาถึง พ.ศ. 2310 หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียเมืองให้พม่า ยะลาก็ยังคงอยู่ในความปกครองของปัตตานี กระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง ใน พ.ศ. 2351 ยะลาจึงแยกออกจากปัตตานีนับแต่นั้น และได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2476 หลังจากมีประกาศยุบเลิกมณฑล
จังหวัดยะลาแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยะลา อำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอธารโต อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง