Rating: 4/5 (5 votes)
ถือศีลกินเจ
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ช่วงเวลา การถือศีลกินเจของชาวตรังตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน (ตรงกับเดือน 11 ของไทย ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี) โรงศาลเจ้าทุกโรงจะกำหนดการกินเจพร้อมกัน การประกอบพิธีกรรมจะใช้สถานที่บริเวณโรงศาลเจ้าของแต่ละแห่ง
ความสำคัญ พิธีถือศีลกินเจจะเป็นประเพณีที่มีความสำคัญดังนี้
1. เป็นการบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจ บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ เป็นการละเว้นการทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์ งดการเที่ยวเตร่ ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ศรัทธาที่กินเจจะสวมเสื้อผ้าสีขาวและสวดมนต์ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิต ขอพรให้ตนเองและครอบครัว
2. เป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากตัวผู้ที่ถือศีลกินเจ
3. เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ที่ศรัทธาที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจ ต่างก็ยิ้มแย้มเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน มีการบริจาคทรัพย์สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัว เพื่อให้มีอาหารเพียงพอ มีอาสาสมัครมาช่วยงานทำงานครัวเป็นจำนวนมาก
พิธีกรรม ประเพณีถือศีลกินเจเป็นประเพณีภาคใต้ที่มีการผสมผสานของลัทธิความเชื่อต่าง ๆ หลายลัทธิ ได้แก่ ลัทธิเต๋า, ลัทธิขงจื่อ, ลัทธิการนับถือเทวะ และพุทธศาสนานิกายมหายาน
1. ก่อนพิธีหนึ่งวัน จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า รมกำยาน ไม้หอม และยกเสาธงเต๊งโก ไว้หน้าศาล เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้า พอถึงเวลาเที่ยงคืนจะประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องฮ่องเต้ และกิวอ๋องไตเต้มาเป็นประธานในพิธี พร้อมกับแขวนตะเกียงน้ำ 9 ดวง ซึ่งหมายถึงดวงวิญาณขององค์กิวอ๋องไตเต้ เป็นอันว่าพิธีกินเจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากพิธีรับเจ้าเข้ามาเป็นประธานในศาลแล้ว ก็จะทำพิธีวางกำลังทหารรักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ
2. การเตรียมการกินเจ ผู้ศรัทธาที่จะร่วมถิอศีลกินเจจะทำความสะอาดภาชนะเครื่องใช้ในการประกอบอาหารให้สะอาดหมดกลิ่นคาว จัดแยกเครื่องใช้ไว้เฉพาะไม่ปะปนกับเครื่องใช้ทั่วไป บางบ้านจะนำภาชนะชุดใหม่มาประกอบอาหารและใส่อาหารเจ บางบ้านจะรับอาหารจากโรงปรุงของศาลเจ้า
3. พิธีกรรมตลอด 9 วัน ของการกินเจ มีดังนี้
3.1 พิธีบูชาเจ้า ทำในวันแรก ซึ่งจะบูชาด้วยเครื่องเซ่นต่าง ๆ ทั้งที่ศาลเจ้า และที่บ้านของผู้ที่กินเจ โดยเมื่อกินเจครบสามวัน ถือว่าผู้กินเจได้ชำระร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ได้สะอาดบริสุทธิ์
3.2 พิธีโขกุ้น เป็นพิธีเลี้ยงทหารที่รักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ โดยจะทำพิธีในวัน 3 ค่ำ 6 ค่ำ และ 9 ค่ำ มีอาหารและเหล้าเซ่นสังเวยเลี้ยงทหาร
3.3 พิธีซ้องเก็ง นั้นเป็นพิธีการสวดมนต์ โดยพิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่องค์กิวอ๋องไตเต้ เข้ามาประทับในศาลและจะกระทำกันทุก ๆ วันวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ
3.4 พิธีบูชาดาว นั้นจะทำในคืนวัน 7 ค่ำเพื่อขอความคุ้มครองให้แก่ผู้กินเจ โดยในพิธีบูชาดาว จะมีการแจกฮู้ (กระดาษยันต์) เพื่อคุ้มครองผู้กินเจ
3.5 พิธีแห่เจ้า (ออกเที่ยว) นั้นเป็นพิธีที่เจ้าทั้งหมดออกเยี่ยมลูกหลานตามบ้าน โดยมีความเชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคล และปัดเป่าความชั่วร้าย ศาลเจ้าแต่ละโรงจะออกเยี่ยมไม่พร้อมกัน พิธีนี้จะจัดเป็นริ้วขบวน ซึ่งจะแห่แหนไปตามถนนสายต่าง ๆ บรรดาชาวบ้านที่จะศรัทธาจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ไว้รับพระและจุดประทัดเมื่อขบวนผ่านโดยเจ้าองค์ที่เข้าประทับทรงจะแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารโดยใช้ของมีคม เหล็กแหลม ทิ่มแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
3.6 พิธีลุยไฟ เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ของเจ้า จึงมีการก่อกองไฟให้เป็นถ่านแดงระอุร้อน เจ้าที่เข้าประทับคนทรงจะเข้าไปวิ่งลุยผ่านกองไฟ เพื่อแสดงให้เห็นความบริสุทธิ์และอิทธิฤทธิ์ ผู้ที่ถือศีลกินเจก็จะเข้าไปลุยไฟด้วยเพื่อให้ไฟทิพย์ชำระร่างกายให้บริสุทธิ์
3.7 พิธีส่งพระ ทำกันในวันสุดท้ายของการกินเจ พิธีนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือภาคกลางวันจะส่งเทวดาเง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งทำกันที่เสาธง และภาคกลางคืนจะส่งองค์กิวอ๋องไตเต้ ซึ่งจะทำกันตอนเที่ยงคืน โดยผู้กินเจจะเดินไปส่งกันที่ฝั่งน้ำเพราะเจ้าจะกลับสวรรค์ทางทะเล และทันทีที่คณะส่งเจ้าออกพ้นประตูศาลไฟทุกดวงจะต้องดับสนิท แล้วปิดประตูใหญ่ รุ่งขึ้นจะลดเสาธง เรียกทหารพร้อมกับเลี้ยงทหารและส่งกลับ เสร็จแล้วก็เปิดประตูใหญ่เมื่อได้ฤกษ์ตามวัน/เวลาที่เจ้าสั่งไว้
พิธีกินเจ เป็นพิธีที่แสดงออกถึงการละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเว้นอบายมุขทั้งหมด และเป็นพิธีก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สมาชิกที่มาร่วมพิธี
หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
กลุ่ม: ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
ปรับปรุงล่าสุด : 6 เดือนที่แล้ว