
วัดถ้ำคูหา





สถานที่ท่องเที่ยวสุราษฎร์ธานี
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดถ้ำคูหา ศาสนสถานในพุทธศาสนาที่สืบเนื่องกันมานับพันปี ในระยะแรกคงเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน โดยดูจากพระพุทธรูปดินดิบที่ปั้นประดับอยู่บนผนังและเพดานถ้ำด้านบน กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนโบราณตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณลุ่มน้ำคลองท่าทองมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นและคงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนภายนอก
ในย่านชายฝั่งทะเลตั้งแต่อ่าวบ้านดอนไปถึงแหลมญวน อันเป็นแหล่งอารยธรรมที่รุ่งเรืองในพื้นถิ่นลุ่มน้ำสำคัญต่างๆของไทยไล่ไปตั้งแต่ลุ่มน้ำหลวง ลุ่มเจ้าพระยา ไปจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะเห็นได้จากศิลปกรรมของพระพุทธรูปดินดิบที่ถ้ำคูหาได้รับอิทธิพลศิลปจาม
ในประเทศเวียดนาม ผสมผสานกับอิทธิพลศิลปทวารวดี ที่แผ่ขยายอยู่ในแถบตอนกลางของไทย ส่วนภาพปูนปั้นรูปซุ้มพญานาคและพระพุทธรูปนาคปรกปางมารวิชัย เป็นศิลปขอมมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปศิลาทรายที่สร้างตามศิลปกรรมแบบอยุธยา ที่บอกถึงเวลาสร้างว่าเป็นช่วงศตวรรษที่ 20 และก็พัฒนาต่อมาเป็นอารามตามสมัยปัจจุบัน
วัดถ้ำคูหา ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเขาคูหา เขาหินปูนขนาดย่อมลูกโดดในพื้นที่ มีโพรงถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดิน และน้ำฝนที่ไหลมาตามแนวถ้ำ มีทางเข้าถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีทางเดินเข้าไปด้านในต่อเนื่องกับปล่องด้านบนได้ ห้องโถงใหญ่ของถ้ำคูหามีขนาดถ้ำยาวประมาณ 17 เมตร กว้าง 8 เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก
ภายในถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปศิลาทราย และพระพุทธรูปดินดิบ ในปางต่างๆกัน พระพุทธรูปปางมารวิชัยและปางสมาธิประดิษฐานเรียงราย เป็นแถวชิดผนังถ้ำด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีประมาณ 50 องค์ โดยมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางไสยยาสน์ ยาวประมาณ 8 เมตร ประดิษฐานไว้สุดผนังด้านในฝั่งตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำ
มีพระพุทธรูปดินดิบ เป็นพระพุทธรูปดินปั้นนูนสูง ประกอบด้วยภาพพระพุทธเจ้า และภาพเล่าเรื่องตามคัมภีร์ สัทธรรมปุณฑริกสูตรในพุทธศาสนามหายาน ปั้นปะติดบนผนังและเพดานถ้ำ เดิมมีผู้เล่าว่าภาพดินปั้นเหล่านี้มีเต็มตลอดเพดานถ้ำ แต่ได้หลุดร่วงไปเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเหลือภาพดินปั้นอยู่สองตำแหน่ง ได้แก่ บริเวณผนังและเพดานตรงปากทางเข้าถ้ำและบริเวณมุมซอกเพดานด้านตะวันออกเฉียงใต้ กรมศิลปกรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อ 3 มกราคม 2480
วัดถ้ำคูหา มีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 1 บ้านหนองยอ ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปเคารพในพุทธศาสนาที่ปรากฏในวัดถ้ำคูหา นอกจากมีความสำคัญในเชิงศิลปกรรมทางศาสนาแล้ว ยังเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญให้ชนรุ่นหลังได้สืบค้นย้อนกาลเวลา เพื่อรู้จักรกรากชนพื้นถิ่นบรรพบุรุษของชาวกาญจนดิษฐ์
ที่เรารู้ว่าเป็นชุมชนโบราณที่มีวิวัฒนาการในย่านลุ่มน้ำคลองท่าทอง และมีอดีตยาวนานมาเป็นพันปี ร่วมสมัยกับแหล่งอารยธรรมอื่นในคาบสมุทรแห่งนี้ ที่มีการใช้ถ้ำเป็นศาสนสถาน ซึ่งจะเห็นได้จากพระพุทธไสยาสน์วัดคูหาแห่งนี้ คล้ายคลึงกับพระพุทธไสยาสน์ วัดคูหาภิมุข ที่จังหวัดยะลาเป็นวัดสมัยทวารวดีคาบเกี่ยวกับศรีวิชัยเช่นกัน
การเดินทาง ตั้งอยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 1 บ้านหนองยอ ตำบลช้างขวา อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากที่ว่าการอำเภอกาญจนดิษฐ์ประมาณ 3 กิโลเมตร จากบ้านดอนประมาณ 15 กิโลเมตรตามทางสาย 401 ตรงสามแยกไฟแดงกาญจนดิษฐ์ มีทางแยกทางขวาไปวัดถ้ำคูหาประมาณ 1 กิโลเมตร หรือถ้าตรงไปที่สี่แยกไฟแดงถัดไป เลี้ยวขวาไปแระมาณ ครึ่งกิโลเมตร มีทางแยกขวา ตรงไปถึงหน้าวัดได้เลย




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage