ประเพณีแต่งงานกับนางไม้

ประเพณีแต่งงานกับนางไม้

ประเพณีแต่งงานกับนางไม้
Rating: 3.9/5 (7 votes)
แผนที่ แผนที่ แผนที่ มีแผนที่ มีแผนที่ ไม่มีแผนที่ ไม่มีแผนที่

สถานที่ท่องเที่ยวสงขลา

สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย

วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
 
กระแสที่หนึ่ง นางไม้ตอนที่ยังมีชีวิตนั้นมีพื้นเพอยู่บริเวณวัดมะม่วงหมู่ เป็นลูกสาวของย่าจันทร์ กับ ตาเจิม ซึ่งเรียนกันว่า พ่อเจ้า แม่เจ้า ไม่ได้แต่งงาน จึงถวายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเป็นที่สร้างวัด เมื่อตายไปก็ปรากฏให้ชาวบ้านเห็นบ้าง เข้าฝันชาวบ้านว่าตนเองอยู่ที่ต้นมะม่วงดังกล่าวบ้าง เมื่อชาวบ้านเกิดความเชื่อจึงมีการบนบานศาลกล่าวยามที่ตัวเองประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือความเดือดร้อนจากสาเหตุต่าง ๆ เมื่อสำเร็จตามวัตถุประสงค์ก็มีการนับถือต่อกันมา
 
และมีพิธีกรรมบวงสรวงถึงปัจจุบัน กระแสที่เล่าสืบต่อกันมาในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการกล่าวถึงในลักษณะของการนับถือบรรพบุรุษของชาวบ้านโดยทั่วไป เรียกกันว่านับถือ “พ่อแม่ตายาย” เป็นการไหว้พ่อแม่ตายาย ที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ และเรียกพ่อแม่ตายายดังกล่าวว่า “ทวดแม่ม่วงทอง” ที่เรียกว่า “ทวดแม่ม่วงทอง” เนื่องจากภาพที่ปรากฏให้ชาวบ้านเห็นในความฝันหรือการบอกเล่าผ่านคนทรงว่า การแต่งตัวของทวดแม่ม่วงทองเต็มไปด้วยทองคำทั้งกำไลมือ กำไลข้อเท้า สร้อยคอ ปิ่นปักผมหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไม้กลัดผม แวววาวไปทั้งตัว มีหน้าตาสดสวยงดงาม ประจวบกับแม่ม่วงทองสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วงคัน ขนาดใหญ่ ลำต้นกลวงเป็นโพรงคนสามารถเข้าไปอยู่ภายในได้หลายคน จึงเป็นที่มาของชื่อ “แม่ทวดม่วงทอง”
 
กระแสที่สอง “มีธิดาของเจ้าเมือง โดยได้เดินทางมาเที่ยวป่าและถูกลูกของเมียน้อยฆ่าตาย ยัดใส่ไว้ในโคนมะม่วง” หรืออีกแนวหนึ่งว่า “แม่ม่วงทองแต่ก่อนเป็นธิดาของเจ้าเมืองได้หนีซัดเซพเนจรมาสองคนพี่น้อง เมื่อพร้อมมีเครื่องทรงเต็มตัว เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณวัดมะม่วงหมู่ ซึ่งมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่อยู่ ทั้งสองคนมาพักอยู่ในโพรงมะม่วง เมื่อหิวจัดก็ไม่รู้จะกินอะไร คนผู้พี่ซึ่งเป็นแม่ทวดม่วงทองได้เชือดเนื้อของตนให้น้องสาวกิน แต่ผู้เป็นน้องไม่กินเลยชวนกันฆ่าตัวตาย โดยเมื่อตายแล้วปรากฏนิมิตให้คนหลายคนรู้ว่าตนอยู่ที่ต้นมะม่วงนี้ และแสดงปาฎิหาริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ ผู้ที่ประสบเข้านั้นจึงเชื่อถือบนบานศาลกล่าว เมื่อสมประสงค์จึงมีการนับถือสืบ ๆ กันมาดังปัจจุบัน”
 
อีกกระแสหนึ่งซึ่งมีลักษณะพ้องกับกระแสที่สอง และได้บันทึกไว้ในหนังสือสงขลากับวัฒนธรรม โดยความว่า “มีธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถูกโจรจับตัวมาเพื่อปล้นทรัพย์และถูกฆ่าตาย ซึ่งศพถูกซ่อนอยู่ในโพรงมะม่วงใหญ่ต่อมาได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏเนือง ๆ จนทำให้ชาวบ้านนับถือและเกิดการบวงสรวง บนบานเพื่อความประสงค์ต่าง ๆ”
 
ชาวบ้านนั้นจะความเชื่อว่า ทวดแม่ม่วงทอง หรือนางไม้ดังกล่าวได้สิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วง ซึ่งมีขนาดใหญ่ โดยปรากฏให้ชาวบ้านเห็นและเข้าฝันบอกให้ชาวบ้านรู้ ซึ่งต่อมาเมื่อต้นมะม่วงดังกล่าวโค่นล้มลงตามธรรมชาติ และต้นมะม่วงดังกล่าวผุพังลงเหลือเฉพาะแก่น สามารถยกได้ด้วยกำลังคนเพียงคนเดียว จึงได้มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งพิงไว้กับต้นอินทนิลขนาดใหญ่ ซึ่งจะอยู่ไม่ห่างจากต้นเดิมที่หักโค่นลงมากนัก “จวบจนปี 25๐8 โดยทางวัดต้องการสถานที่ดังกล่าวเพื่อก่อสร้างกุฏิเจ้าอาวาส จึงได้โค่นต้นอินทนิลซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าแม่ทวดม่วงทองสิงสถิตอยู่ลง”
 
การโค่นต้นอินทนิลของทางวัด โดยได้มีการทำพิธีอันเชิญให้แม่ทวดม่วงทองไปสิงสถิตยังต้นประดู่ซึ่งอยู่ทางมุมด้านทิศตะวันตกของวัด โดยหมอผู้ทำพิธีชาวอีสาน ซึ่งการทำพิธีอันเชิญนางไม้หรือทวดม่วงทองไปอยู่ยังสถานที่ใหม่ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้เป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นสังเวยด้วยของ 12 อย่างโดยหมอพิธี โดยหลังจากที่ทำพิธีอันเชิญแม่ทวดม่วงทองไปสิงสถิตอยู่ ณ ต้นประดู่ อันเป็นบริเวณตลาดนัดวันเสาร์ในปัจจุบัน การทำพิธีของชาวบ้านนั้นจึงต้องย้ายไป ณ บริเวณดังกล่าวด้วย
 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ในการประกอบพิธีการไหว้ต้นไม้ใหญ่ของนายเสริม อำภา แม่ทวดม่วงทองได้เข้าทรงนางเหี้ยง ซึ่งเป็นผู้ช่วยจัดขันหมากของนางเปี่ยมผู้เป็นเจ้าพิธี ได้เกิดการทรงแม่ทวดม่วงทองซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน การเข้าทรงครั้งนี้ต้องการบอกว่า สถานที่ที่ตนอยู่นั้นตั้งอยู่ในบริเวณตลาดนัด จึงทั้งโคนต้นไม้ที่ตนอยู่ยังถูกใช้เป็นที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำล้างปลาที่คนแขก(มุสลิม) ที่ขายปลามักนำมาเททิ้งตรงนี้ ทำให้สกปรก จนตนเองไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไปและได้บอกกล่าวในทำนองว่า ใครก็ตามที่มาทำพิธีเซ่นไหว้ตนที่ต้นประดู่แห่งนี้ตนจะไม่รับเครื่องเซ่น โดยหากใครต้องการเซ่นตนให้ไปทำพิธีเซ่นไหว้ที่ต้นตะแบกท้ายตลาดซึ่งอยู่ถัดจากต้นประดู่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3๐ เมตร อันเป็นที่อยู่ใหม่ของตน ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
 
สำหรับรูปปั้นแม่ทวดม่วงทองซึ่งผู้ปั้นคือ นายเพียร บัลลังโก ได้ปั้นไว้เมื่อครั้งเป็นพระในวัดมะม่วงหมู่ ที่ปั้นนั่นก็เพราะถูกลูกหลานของแม่ทวดม่วงทองให้ปั้นรูปพ่อแม่ตายายของตนให้” และได้ตั้งไว้ใต้กุฏิวัดมะม่วงหมู่ โดยในภายหลังมีการนำมาตั้งไว้ใต้ต้นตะแบก และได้สร้างหลังคากันแดดกันฝนให้แก่รูปปั้น ซึ่งปัจจุบันรูปปั้นแม่ทวดม่วงทองได้มีชาวบ้านที่นับถือนำผ้าสีต่าง ๆ มาห่มให้ และนำทองคำเปลวมาติดไว้จนเหลืองอร่วมดังที่ปรากฏ
 
ความมุ่งหมายของประเพณี
1. เพื่อตอบสนองความต้องการที่พึ่งทางใจ อันเป็นลักษณะสำคัญของศาสนาปฐมบรรพ์
2. เพื่ออนุรักษ์ และการสืบสานประเพณีอันเก่าแก่ที่จัดสืบทอดต่อเนื่องกันมาช้านาน
3. ส่งเสริมกระตุ้นให้ประชาชน เยาวชนให้มีความสนใจและช่วยกันอนุรักษ์ เผยแพร่ ประเพณีสืบต่อกันไป
 
ขั้นตอนประเพณี
การจัดเตรียมขันหมาก ประเพณีภาคใต้ โดยการจัดเตรียมขันหมากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักคือเจ้าพิธี ที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า นายหมื่น นายโหมฺรฺน หรือ นายเหฺมฺริน บางกลุ่มก็จะเรียกว่า นายหยูน ซึ่งจะหมายถือ “พี่เลี้ยง” โดยเจ้าพิธีเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการจัดซื้อ จัดหาสิ่งของต่าง ๆ เพื่อจะนำมาจัดขันหมากบางรายทำหน้าที่ในการจัดซื้อเครื่องประกอบขันหมากโดยตนเอง ซึ่งบางรายก็จะบอกกล่าวให้เจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วน แต่สิ่งที่ต้องใช้ในการจัดขันหมากจะประกอบไปด้วยของสามลักษณะ คือ เครื่องสักการบูชา เครื่องเซ่นสรวงและใบไม้มงคลในขันหมากรวมถึงอาวุธในขบวนขันหมาก
 
ขันหมากเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ 1 ขัน, ธูปเทียน 2 ชุด
 
ขันหมากเครื่องเซ่นสรวง หมากพลู, เงินค่าหัวขันหมาก จำนวน 1๐1 บาท, ขนมต่าง ๆ ประกอบด้วย ขนมพอง ขนมลา ขนมเจาะหูหรือเจาะรู ขนมแดงขนมขาว ขนมถั่วงา ยาหนม ขนมปลา ข้าวเหนียวกวน ขนมข้ออ่อน ฯลฯ, ผลไม้ ประกอบด้วยมะพร้าว อ้อย กล้วย ส้มและส้มโอ
 
กรรมวิธีการจัดขันหมากจะเริ่มขึ้นโดยผู้จัดคือเจ้าพิธี จะจัดขันหมากในช่วงเย็นของวันก่อนการประกอบพิธีกรรมการแต่งงานกับนางไม้ หากวันประกอบพิธีเป็นวันเสาร์ การจัดขันหมากก็จะมีขึ้นในช่วงเย็นวันศุกร์
 
เครื่องประกอบขันหมากหลายชนิดถือว่าเป็นของสำคัญขาดไม่ได้ เช่น เครื่องประกอบสำหรับขันหมากประเภทขนมคือ “ขนมพอง ขนมลา ขนมเจารู” การจัดขันหมากจะทำพิธีจัดกันที่บ้านของเจ้าบ่าว โดยเจ้าพิธีจะเริ่มการทำพิธีจัดขันหมากด้วยการให้มีการผูกผ้าเพดาน ไว้เหนือที่จัดขันหมาก โดยเจ้าพิธีกล่าวว่า “ผูกไว้เพื่อให้เทวดา ตายายเขาลงมารับรู้เวลาเราเชิญเขา” ซึ่งจากนั้นจึงปูผ้าขาวสำหรับรองรับภาชนะสำหรับใช้ในการจัดขันหมาก โดยภาชนะที่เตรียมไว้ในเบื้องต้นนี้มีภาชนะขันเงิน จำนวน 5 ขัน ในส่วนภาชนะอื่น ๆ คือ ถาดสำหรับบรรจุเครื่องประกอบขันหมากประเภทผลไม้ และขนมก็จะถูกวางไว้ต่างหาก ไม่นำมาวางไว้บนผ้าขาว
 
สิ่งของต่างๆ ในการจัดขันหมาก ขันหมากที่จะจัดในเบื้องต้นประกอบไปด้วยขันหมากหัว ขันหมากคาง ขันหมากคอ และขันหมากเตียบหรือเทียบ โดยขันหมากหัว คางและคอจะมีอย่างละขันที่เหลือเป็นขันหมากเตียบทั้งหมด เมื่อจัดเตรียมขันเงินสำหรับจัดขันหมากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าพิธีจะนำใบไม้มงคลคือ ใบประดู่หรือใบโดที่ชาวบ้านใช้เรียกกัน ใบเงิน ใบทอง และใบทองหลาง ใส่รองไว้ก้นขันที่เป็นขันหมากหัว คาง คอ และขันหมากเตียบอีกสองขันเมื่อรองก้นขันด้วยใบไม้มงคลดังกล่าว ต่อจากนั้นก็จะใส่หมากพลูลงไป ซึ่งพลูจะถูกป้ายด้วยปูนกินหมากและมีหมากที่ฝานบาง ๆ รวมอยู่ด้วยโดยทั้งหมดจะถูกบรรจุอยู่ในซอง ที่ทำจากใบตอง เรียกว่ามีหมากพลู ปูนพร้อมกินบรรจุในซองจำนวนของพลูที่ใส่ไว้ในแต่ละซองจะมีจำนวน 9 ใบ
 
หมากซองจะต้องใช้จำนวนมาก เพราะมีข้อกำหนดว่า ขันหมากหัวจะมีจำนวนหมากซองอยู่ 13 ซอง ขันคาง 11 ซอง และขันคอ 7 ซอง และอีกสองขันที่จัดในลักษณะเดียวกับขันหมากหัว คางและคอ เรียกกันว่า ขันหมากเทียบ มีจำนวนของหมากซอง 7 ซอง เท่ากับขันหมากคอ
 
การจัดเตรียมขันหมากช่วงแรกนี้นอกจากขันหมากทั้ง 5 ขันที่กล่าวมาแล้ว ยังมีขันหมากอีก 3 ขันที่จะต้องจัดในเบื้องต้นก่อนที่จะทำพิธีอันเชิญเทวดา และวิญญาณบรรพบุรุษ คือ ขันหมากที่เรียกว่า เชี่ยนเจ้าบ่าว ซึ่งในขันนี้จะบรรจุหมากพลู (หมากจุกอก) ยาฉุนหรือยาเส้น ปัจจุบันมักจะเป็นบุหรี่ และอีกขันหนึ่งซึ่งเป็นเชี่ยนราษฎร์จะบรรจุเงินจำนวน 112 บาท (ส่วนนี้จะตกเป็นของเจ้าพิธี) ขันนี้จะเป็นค่าครูให้กับผู้จัดขันหมาก นอกจากนั้นยังมีเชี่ยนเงิน ซึ่งเป็นขันใส่เงินค่าสินสอดให้เจ้าสาวจำนวน 1๐1 บาท (ส่วนนี้หมอทำพิธีจะนำไปถวายวัด) เมื่อขันหมากในช่วงแรกจัดเตรียมเสร็จการอันเชิญเทวดา (ชุมนุมเทวดา) และวิญญาณบรรพบุรุษก็จะเกิดขึ้น
 
การอันเชิญเทวดาและวิญญาณบรรพบุรุษเจ้าพิธี จะเริ่มจากการจุดธูปเทียน ที่หิ้งพระพุทธ และจะจุดเทียนไว้หน้ารูปถ่ายของบรรพบุรุษ รวมถึงจุดเทียนไว้ในขันหมากทุกขันที่เตรียมไว้ในเบื้องต้น
 
ขันหมากเครื่องสักการบูชา ขันหมากเทียนเล็ก ขันหมากเทียนใหญ่ และขันดอกไม้ ทั้ง 3 ขันนี้จัดอยู่ในประเภทเครื่องสักการบูชา โดยเทียนที่ใช้จัดขันหมากมี สองขนาด คือ ขนาดเล็กที่ใช้จุดตามอยู่โดยทั่วไปแยกเป็นขันหมากขันหนึ่ง ส่วนที่เรียกว่าขันหมากเทียนใหญ่นั้นเป็นเทียนที่มีขนาดประมาณ 6-8 นิ้ว จำนวน 2 เล่ม จะถูกจัดแยกอีกขันหนึ่ง ภาชนะสำหรับใช้จัดขันหมากเทียนนี้แม้จะเรียกว่าขันก็ตามแต่จะใช้พานเป็นภาชนะสำหรับจัดในแต่ละขันมักจะมีธูปบรรจุเป็นซองวางคู่อยู่เสมอ
 
แต่ก็มีเจ้าบ่าวบางรายที่มีเฉพาะธูปอยู่ในขันใดขันหนึ่ง เทียนเล็กที่ใช้จัดขันหมากจะถูกนำไปใช้เมื่อประกอบพิธีกรรมที่หลาแม่ทวดดังจะได้กล่าวต่อไป ส่วนเทียนใหญ่หมอผู้ทำพิธีหรือบางครั้งเจ้าภาพเองจะนำไปถวายวัดเมื่อเสร็จพิธี ส่วนขันดอกไม้นั้นก็จะมีเฉพาะดอกไม้ใส่ไว้ในพานพุ่มขนาดเล็ก ดอกไม้ที่ปรากฏ มักจะเป็นดอกไม้ที่หาได้โดยทั่วไปในชุมชน เช่น ดอกกุนหยี (บานไม่รู้โรย) ดอกเข็ม เป็นต้น แต่บางรายก็จะเป็นอกไม้ที่หาซื้อมาจากตลาด เช่น ดอกกุหลาบ ดอกไม้นี้จะถูกใช้เมื่อประกอบพิธีกรรมที่หลาแม่ทวดตอนให้พรแก่เจ้าบ่าวจะได้กล่าวต่อไปในขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม
 
ขันหมากเครื่องเซ่นสรวงขันหมากขนม ประกอบไปด้วยขนมหลัก ๆ คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมเจาะหูหรือเจาะรู ขนมถั่วงา ยาหนม ข้าวเหนียวกวน นอกจากนั้นในปัจจุบันขนมอื่น ๆ ก็มีปรากฏอยู่ในขันหมากเช่น ขนมไข่ ขนมเค้ก ขนมเปี๊ยะ และขนมอื่นที่ปรากฏอยู่ตามร้านค้า ฯลฯ แต่ขนมที่ “สำคัญขาดไม่ได้คือขนมพอง ขนมลา และขนมเจาะรู” ขนมทั้งสามชนิดนี้เป็นขนมหลักที่ใช้ในงานทำบุญเดือนสิบหรือ วันชิงเปรตของชาวบ้านในถิ่นนี้ นอกจากนั้นขนมที่มีมาแต่ดั้งเดิมในพิธีนี้ คือ ยาหนมและข้าวเหนียวกวน ขนมทั้งหมดนี้จะถูกจัดไว้ในภาชนะ คือถาด ถาดจะมีจำนวนกี่ถาด ขนมแต่ละชนิดจะมากจะน้อย หรือมีขนมสมัย ๆ ใส่ลงไปด้วย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าภาพจะจัดขันหมากจำนวนขันมากน้อยเพียงใด
ขันหมาก
 
ขั้นตอนการทำพิธี
การแต่งงานกับนางไม้ การยกขันหมากจะกระทำกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งวันดังกล่าวก็จะตรงกับวันเสาร์หรือวันอังคารที่ไม่ใช่วันพระ โดยเจ้าพิธี (นายหยูน) จะให้คนช่วยแต่งตัวให้เจ้าบ่าว ซึ่งจะอยู่ในชุดนุ่งโจงกระเบนเสื้อเชิ้ตแขนยาว สวมรองเท้าหนังโดยมีถุงเท้าสีขาวยางถึงหัวเข่า นอกจากนั้นยังมีอาวุธพกประจำตัวของเจ้าบ่าวคือ กริช จะเหน็บไว้บริเวณชายพกผ้าค่อนมาทางด้านหน้า
 
ในปัจจุบันการแห่ขันหมาก มีการตีกลองร้องรำ โดยการเดินเท้ามีปรากฏให้เห็นน้อย ส่วนใหญ่ก็จะทำพอเป็นพิธี ตอนขบวนขันหมากออกจากบ้านเพื่อมาขึ้นรถยนต์ เมื่อเดินทางมาถึงที่ประกอบพิธีคือหลาแม่ทวด ก็จะตั้งขบวนขันหมากพอเป็นพิธีอีกครั้ง ซึ่งก็จะจัดขบวนขันหมาก เช่นเดียวกับที่ตอนเดินออกจากบ้าน
 
เด็กสาวเมื่อส่งขันหมากให้กับเจ้าพิธีแล้วก็จะแยกย้ายไปนั่งบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะมีร้านที่ปลูกไว้สำหรับค้าขายในตลาดนัด ปล่อยให้การประกอบพิธีกรรมเป็นเรื่องของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเพื่อนเจ้าบ่าวอีกกลุ่มที่แยกไปตีกลองร้องรำทำเพลงในบริเวณที่เสียงจะไม่รบกวนการประกอบพิธีกรรมการประกอบพิธีแต่งงานกับนางไม้
 
ผู้ทำหน้าที่หลักในหลาแม่ทวดมีด้วยกัน 2 คน คือ หมอทำพิธี และเจ้าพิธี หรือนายหยูน โดยทั้งสองคนจะทำหน้าที่แตกต่างกัน เจ้าพิธีทำหน้าที่ในการนำเครื่องสักการบูชา บูชาต่อแม่ทวด และนำเครื่องเซ่น เซ่นสรวงต่อแม่ทวดตลอดถึงการเซ่นของเหลือเดนเหลือชานให้กับบริวารของแม่ทวดกิน ซึ่งส่วนหมอทำพิธีจะทำหน้าที่ในการนำเจ้าบ่าวและกลุ่มเครือญาติไหว้พระ หลังจากนั้นก็อันเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดถึงแม่ทวดเพื่อมารับทราบการประกอบพิธีกรรม แต่สุดท้ายก็จะนำเจ้าบ่าวกราบเสื่อกราบหมอน
 
เมื่อเจ้าพิธีรับขันหมากจากมือสาวพรหมจรรย์ จะนำมาวางไว้ตามลำดับความสำคัญของขันหมากอย่างเป็นระเบียบ เจ้าพิธีแก้ห่อขันหมากทุกขันออก แล้วนำเทียนที่แบ่งจากขันหมากเทียนเล็กจุดตามไว้ในภาชนะขันหมากทุกขัน โดยเจ้าพิธีได้กล่าวถึงเหตุผลในการต้องจุดเทียนในขันหมากทุกขัน (หมอทำพิธีบางคนใช้ธูปจุดตามไว้) ว่า “เพื่อให้เขา (แม่ทวดม่วงทอง) เห็นว่าขันหมากที่จัดมามีความถูกต้องหรือไม่ “นี้เป็นหน้าที่เริ่มต้นของเจ้าพิธี
 
ส่วนหมอทำพิธีก็จะเริ่มหน้าที่ของตนด้วยการปูสาดใหม่ ผ้านวม และผ้าขาวให้เจ้าบ่าวนั่ง และวางหมอนใหม่ไว้หน้าเจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจุดธูปเทียนหน้าแท่นบูชารูปปั้นขนาดเท่าคนจริงของแม่ทวด นำผู้ร่วมพิธีไหว้พระ เริ่มจากบท นโม...สามจบพร้อมกันแล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแบบย่อ และคำอันเชิญเทวดาดังที่กล่าวแล้ว
 
เครื่องเซ่นต่อแม่ทวดม่วงทอง จากนั้นเจ้าพิธีจะนำเครื่องเซ่น เซ่นสรวงต่อแม่ทวดม่วงทอง และกล่าวเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาร่วมในพิธี ในขณะเดียวกัน หมอจะนำให้เจ้าบ่าวกราบเสื่อ กราบหมอน
 
เมื่อหมอทำพิธีในช่วงแรกเสร็จสิ้นลง คือการนำผู้มาร่วมในพิธีกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย โดยจะกล่าวคำอัญเชิญเทวดา และกล่าวออกชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่นับถือของคนในชุมชน ซึ่งที่สำคัญกล่าวเชิญแม่ทวดม่วงทองมาเป็นประธานในการประกอบพีธีกรรมในครั้งนี้แล้ว ลำดับต่อไปหมอทำพิธีจะให้เจ้าบ่าว โดยให้กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มด้วยให้เจ้าบ่าวกราบลงสามครั้งแล้วกล่าว นโม สามจบต่อจากนั้นจะกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแบบย่อดังที่กล่าวแล้ว โดยหมอจะเป็นผู้กล่าวนำให้เจ้าบ่าวกล่าวตาม
 
ในขณะที่หมอให้เจ้าบ่าวกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยอยู่นั้น หมอนั้นจะเตรียมของเพื่อให้เข้าบ่าวกราบเสื่อ กราบหมอนไปด้วย ของที่เตรียมจะมีด้วยกัน 4 อย่าง คือ พลู 3 ใบ หมาก 3 ชิ้น ดอกไม้ 3 ดอก โดยดอกไม้จะเป็นดอกอะไรก็ได้ เช่น ดอกเข็ม, ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกไม้ชนิดอื่น ๆ และของอีกอย่างหนึ่งคือเหรียญบาทจำนวน 3 เหรียญ โดยหมอทำพิธีจะแบ่งของทั้ง 4 อย่างออกเป็น 3 กอง จำนวนเท่ากัน ซึ่งกองหนึ่งประกอบด้วยใบพลูหนึ่งใบ หมากหนึ่งคำ, ดอกไม้หนึ่งดอก และเหรียญบาทหนึ่งเหรียญ วางไว้บนหมอนหน้าเจ้าบ่าว
 
เจ้าบ่าวนั่งต่อหน้าแท่นบูชารูปปั้นแม่ทวดม่วงทอง เมื่อเจ้าบ่าวกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และหมอเตรียมของเรียบร้อยแล้ว หมอทำพิธีจะให้เจ้าบ่าวใช้มือขวากวาดของกองซ้ายมือของเจ้าบ่าวลงข้างหมอน โดยจะต้องกล่าวคำว่า พุทธัง วันทามิ ก่อนแล้วจึงกวาด จากนั้นก็ใช้มือขวาเช่นกัน กวาดกองขวามือของเจ้าบ่าวลงข้างหมอน โดยต้องกล่าวคำว่า ธัมมัง วันทามิ ก่อนเช่นกัน สุดท้ายก็จะเหลือกองที่อยู่กลาง หมอทำพิธีจะให้เจ้าบ่าวกล่าวคำว่า สังฆัง วันทามิ แล้วก็กอบกองที่อยู่ตรงกลางนั้นไปใส่ไว้ในเชี่ยนของเจ้าบ่าว พร้อมกล่าวว่า ของที่กอบไปใส่เชี่ยนนั้นเป็นของมงคลต่อตัวเจ้าบ่าวให้นำไปเก็บไว้ ในขั้นตอนนี้หมอบางรายจะให้กวาดของอื่น ๆ ลงข้างหมอนให้หมดจะเหลือเฉพาะเหรียญ เพื่อให้เจ้าบ่าวนำเหรียญไปเป็นขวัญถุง มีความหมายในทำนองว่า เป็นของมงคลให้ทำมาหากินไม่ฝืดเคือง
 
เมื่อผ่านขั้นตอนการกราบเสื่อกราบหมอนของเจ้าบ่าว หมอนั้นก็จะทำพิธีก็จะกล่าวบอกให้แม่ทวดทราบว่า “การประกอบพิธีกรรมการแต่งงานกับนางไม้ของเจ้าบ่าวรายนี้ ก็ด้วยเหตุที่เจ้าบ่าวได้กระทำสืบทอดกันมาตามเชื้อสาย ซึ่งจะทำกันมาเป็นกกเป็นโหมฺกระทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ” หรือหากถ้าการประกอบพิธีกรรมการแต่งงานกับนางไม้ไม่ใช่การทำสืบทอดกันมาตามเชื้อสาย นั้นก็จะกล่าวว่า “การแต่งงานในครั้งนี้ ก็ด้วยสาเหตุที่ได้บนบานเอาไว้ ขอให้หลุดเหฺมฺรยเสีย” โดยคำกล่าวของหมอทำพิธีเป็นที่ได้ยินกันทั่วในกลุ่มผู้อยู่ร่วมในพิธีกรรม ถึงแม้จะมีเจตนาจะบอกกล่าวต่อแม่ทวดโดยตรงก็ตาม
 
กิจกรรมในพิธีกรรมที่กล่าวมานี้เป็นกิจกรรมที่หมอทำพิธีแยกทำจากเจ้าพิธี ถึงแม้จะอยู่ในพิธีเดียวกันก็ตาม แต่ในขั้นตอนสุดท้ายทั้งหมอทำพิธีและเจ้าพิธีจะร่วมกันให้พร และทำพิธีชำระตัวของเจ้าบ่าวด้วยเปลวไฟจากเทียน
 
เจ้าพิธี เมื่อรับขันหมากและนำมาวางไว้อย่างเป็นระเบียบดังที่กล่าวมาแล้วในขณะที่เตรียมของเซ่นสรวง นั้นก็จะพูดในทำนองที่พูดกับแม่ทวดม่วงทองว่า “พ่อแม่ตายายทวดม่วงทอง นี้แหละลูกหลานมาไหว้แล้ว เขามาไหว้โหมฺ (โดยหากมาไหว้แก้บน ก็จะบอกกล่าวว่า มาไหว้แก้บน) อย่าเที่ยวทักเที่ยวทอ ขอให้ขาดเหฺมฺรยเสีย” โดยในขณะที่กล่าวบอกแก่ทวดม่วงทองอยู่นั้น ก็มักจะนำเทียนที่ปักไว้ในขันไก่วักด้ามและขันข้าวสุกมาร่วมกันสองเล่ม โดยนำไปส่องตามขันหมากทุกขันและกล่าวว่า “นี่แหละของที่เราทำมา เราทำถูกต้องแล้ว” ซึ่งเป็นการกล่าวกับแม่ทวด โดยต่อจากนั้นก็จะนำใบพลูไปจุ่มลงในแก้วเหล้า และมะพร้าวอ่อนที่ถูกปากหัวออกแล้ว เพื่อนำไปประพรมตามเครื่องเซ่นต่าง ๆ การเซ่นสรวงให้แก่แม่ทวดม่วงทองก็เป็นอันเสร็จสิ้น
 
ต่อจากนั้นเจ้าพิธีจะนำของที่ผ่านการเซ่นให้แม่ทวดม่วงทองที่เรียกกันว่า “ของลอยเดนลอยชาน” โดยไปตั้งให้กับบริวารของแม่ทวดที่รู้จักกันในนามว่า “ผู้ถือกองฆ้องน้ำ” กินต่อไป ซึ่งเจ้าพิธีนั้นจะแบ่งเครื่องเซ่นทุกชนิดมาจากทุกขันหมากอย่างละเล็กละน้อยมาวางไว้บนหางตอง แล้วแบ่งออกเป็นสี่กอง “สองกองแรกสำหรับตายายของแม่ทวด อีกสองกองสำหรับของผู้ถือกองฆ้องน้ำของแม่ทวด” โดยต่อจากนั้นก็จะนำไปวางไว้ที่โคนต้นตะแบกพร้อมกับเหล้าแก้วหนึ่ง แล้วกล่าวว่า “นี่แหละของพวกถือกองฆ้องน้ำ ทั้งตาและยายอย่าได้ทักได้ทอ” โดยตามเทียนไว้เล่มหนึ่งด้วย
 
ในกรณีที่เจ้าพิธีเป็นคนทรง เมื่อผ่านพิธีการเซ่นสรวงเป็นที่เรียบร้อย กลุ่มเครือญาติของเจ้าภาพมักจะขอให้แม่ทวดได้ประทับทรงและให้พรแก่ลูกหลาน ลูกหลานเป็นคำที่กลุ่มเครือญาติใช้เรียกตนเมื่อกล่าวกับแม่ทวด กลุ่มลูกหลานดังกล่าวก็จะได้รับการตอบสนองคือการเข้าทรงของแม่ทวด ซึ่งจะเริ่มด้วยการนั่งตัวสั่นของเจ้าพิธี เป็นอันแสดงให้เห็นว่าแม่ทวดได้เข้ามาประทับทรงแล้ว
 
ต่อจากนั้นแม่ทวดในร่างทรงก็จะลูกขึ้นยืนแล้วหยิบกริชที่วางอยู่บนพาน ชักออกมาจากด้าม นำกริชยื่นไปตามขันหมากต่าง ๆ ในลักษณะตรวจตราดูขันหมากพร้อมกล่าวว่า “ถูก จัดถูกต้องแล้ว จัดถูกต้องแล้ว” เมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าวแล้ว แม่ทวดม่วงทองในร่างของคนทรงก็จะเรียกให้นำกลองมาตีในบริเวณหลาแม่ทวด ตนเองก็จะร่ายรำตามจังหวะการตีกลอง โดยมีกริชอยู่ในมือด้วย ส่วนลูกหลานซึ่งเป็นกลุ่มเครือญาติของเจ้าภาพก็จะปรบมือให้จังหวะการร่ายรำ ในขณะที่แม่ม่วงทองในร่างของคนทรงร่ายรำอยู่ก็จะชักชวนให้ลูกหลานลุกขึ้นมาร่ายรำพร้อมกับตน จะมีลูกหลานลุกขึ้นรำเป็นที่สนุกสนานและอบอุ่น ในตอนสุดท้ายแม่ทวดม่วงทองก็จะให้พรแก่บรรดาลูกหลาน แล้วจะเดินไปฟุบอยู่บนหมอนรองกราบของเจ้าบ่าวเป็นอันแสดงให้รู้ว่าบัดนี้แม่ทวดม่วงทองได้ออกจากการประทับทรงแล้ว บทบาทหน้าที่หลักของเจ้าพิธีก็เป็นอันเสร็จสิ้นลง ต่อไปจะได้กล่าวถึงบทบาทที่ทำร่วมกันของผู้ที่เข้าร่วมพิธีกรรม คือ หมอทำพิธี เจ้าพิธี และกลุ่มเครือญาติของเจ้าบ่าว
 
ช่วงสุดท้ายของพิธี หมอทำพิธี เจ้าพิธี พ่อแม่และกลุ่มเครือญาติของเจ้าบ่าว จะร่วมกันให้พรแกเจ้าบ่าว และทำพิธีชำระตัวเจ้าบ่าวให้บริสุทธิ์ ซึ่งการทำอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมพิธีกรรมที่บ้านเจ้าสาว และการแบ่งเครื่องขันหมากทั้งหมดหลังจากการทำพิธีบูชาเซ่นสรวงเสร็จแล้วให้แก่ผู้ถือขันหมาก และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขั้นตอนของพิธีกรรมที่นำมากล่าวในช่วงสุดท้ายนี้เป็นพิธีกรรมที่กลุ่มคนทั้งสามเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลักจึงกล่าวรวมกันในที่นี้
 
การให้พรแกเจ้าบ่าว โดยผู้นำในการทำหน้าที่หลักคือหมอทำพิธี จะทำหลังจากที่เจ้าพิธีทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้ว ในส่วนหน้าที่หลักของหมอทำพิธีก็จบสิ้นลงเช่นกัน การให้พรแก่เจ้าบ่าวผู้ที่ร่วมให้พรมีทุกฝ่ายคือหมอทำพิธี เจ้าพิธี โดยกลุ่มเครือญาติรวมถึงพ่อแม่ของเจ้าบ่าวด้วย ซึ่งหมอทำพิธีก็จะนำดอกไม้ที่ผ่านการสักการบูชาต่อแม่ทวดแล้ว ซึ่งจะอยู่ในขันหมาก ขันดอกไม้ มาแจกจ่ายให้กับทุกคนในพิธีกรรม ส่วนหมอทำพีจะสวดบทให้พรซึ่งเป็นบทเดียวกับบทสวดให้พรของพระคือบทสวดชยันโต...นั่นเอง โดยผู้เข้าร่วมพิธีกรรมส่วนใหญ่สามารถที่จะร่วมสวดได้ โดยหมอทำพิธีบางคนก็จะสวดบทอื่น ๆ ด้วยซึ่งจะนำบทสวดดังกล่าวนั้นมาจาก บทสวดอนุโมทนาทานกถา ของพระบทใดบทหนึ่งนอกจากบทสวด ชยันโต...ดังที่กล่าวแล้ว แต่บทสวดที่ปรากฏเป็นหลักคือ บทสวด ชยันโต เพียงบทเดียว
 
การให้พรแก่เจ้าบ่าว ในขณะที่ทุกคนสวดบทให้พรก็จะซัดดอกไม้เข้าหาตัวของเจ้าบ่าว ทำให้ดอกไม้ที่ต่างคนต่างซัดเข้าหาตัวเจ้าบ่าวดูเหมือนมีดอกไม้โปรยเข้าหาตัวเจ้าบ่าวอย่างไม่ขาดสาย เมื่อจบบทสวดดอกไม้ก็จะหมดจากมือของผู้สวดให้พร ทำให้ดอกไม้ติดอยู่ตามเสื้อผ้าของเจ้าบ่าวดูหน้าศรัทธา
 
ช่วงเวลาที่จัด เดือน 6 จนไปสิ้นวันสุดท้ายของเดือน 8
 
สถานที่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านมะม่วงหมู่ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
คำค้นคำค้น: ประเพณีแต่งงานกับนางไม้ประเพณีแต่งงานกับนางไม้ รูปปั้นแม่ทวดม่วงทอง ทวดแม่ม่วงทอง ประเพณี ประเพณีไทย
ปรับปรุงล่าสุดปรับปรุงล่าสุด: 11 เดือนที่แล้ว


แสดงความเห็น

แสดงความเห็น




คำค้น (ขั้นสูง)
   
Email :
  รหัสผ่าน :
  สมัครสมาชิก | ลืมรหัสผ่าน
 

 

ภูมิภาค ภูมิภาคhttps://www.lovethailand.org/

https://www.lovethailand.org/อ.เมืองสงขลา(35)

https://www.lovethailand.org/อ.สทิงพระ(13)

https://www.lovethailand.org/อ.จะนะ(5)

https://www.lovethailand.org/อ.นาทวี(6)

https://www.lovethailand.org/อ.เทพา(4)

https://www.lovethailand.org/อ.สะบ้าย้อย(7)

https://www.lovethailand.org/อ.ระโนด(8)

https://www.lovethailand.org/อ.กระแสสินธุ์(4)

https://www.lovethailand.org/อ.รัตภูมิ(7)

https://www.lovethailand.org/อ.สะเดา(6)

https://www.lovethailand.org/อ.หาดใหญ่(28)

https://www.lovethailand.org/อ.นาหม่อม(2)

https://www.lovethailand.org/อ.ควนเนียง(4)

https://www.lovethailand.org/อ.บางกล่ำ(4)

https://www.lovethailand.org/อ.สิงหนคร(24)

https://www.lovethailand.org/อ.คลองหอยโข่ง(3)