Rating: 3.8/5 (5 votes)
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 06.00 - 18.00 น.
เกาะพยาม ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม ห่างจากปากน้ำระนองประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือ 1-2 ชั่วโมง เกาะพยามเป็นแหล่งปลูกมะม่วงหิมพานต์ หรือกาหยู ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัด บนเกาะมีพื้นที่ประมาณ 35 ตารางกิโลเมตร มีป่าที่สมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของนกเงือกที่พบเห็นได้ง่าย
มีชายหาดที่สวยงามขาวสะอาดหลายแห่ง ได้แก่ อ่าวใหญ่ และอ่าวเขาควาย ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะ และเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทหลายแห่ง ส่วนอ่าวแม่ม่ายซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นท่าเทียบเรือ มีร้านค้าต่าง ๆ และเกสท์เฮ้าส์ มีมอเตอร์ไซค์ให้เช่า และมีเรือเช่าเที่ยวรอบเกาะ ไปดำน้ำเกาะขามซึ่งอยู่ใกล้กัน
นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงกับเกาะพยามยังมีเกาะอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งตกปลา เช่น เกาะสินไห เกาะช้าง นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเช่าเหมาเรือจากปากน้ำระนอง ท่าเรือสะพานปลาได้เช่นเดียวกัน
การเดินทาง จากท่าเรือไปเกาะพยาม ตำบลปากน้ำ ใกล้กับสะพานปลา มีบริการเรือโดยสารขนาด 60 คน ไปยังเกาะพยามวันละ 2 เที่ยว เที่ยวเช้าเวลาประมาณ 9.00 น. ส่วนเที่ยวบ่ายเรือออกเวลา 14.00 น. ค่าเรือโดยสารคนละ 150 บาท เที่ยวกลับเรือออกจากท่าเรืออ่าวแม่ม่ายบนเกาะพยามเวลา 9.30 น. และ 14.30 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีเรือเร็วบริการใช้เวลาประมาณ 40 นาที ค่าโดยสารคนละ 400 บาท จากระนองเรือออกเวลา 10.00 และ 14.00 น. ขากลับจากเกาะพยาม เรือออกเวลา 9.00 และ 13.00 น. หรือติดต่อกับรีสอร์ทบนเกาะพยาม ส่วนการคมนาคมบนเกาะมีเพียงเส้นทางสำหรับมอร์เตอร์ไซค์เท่านั้น
หมู่เกาะพยาม เป็นกลุ่มเกาะที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยเรียงรายทอดยาวตลอดแนวชายฝั่งเหนือ-ใต้ ของทะเลอันดามัน ติดต่อกับชายแดนสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า ด้วยการมองการณ์ไกลและชาญฉลาดของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง)
ในสมัยนั้น ได้ให้ ป๋าโฮ้ย ซึ่งเป็นชาวไทยมุสลิม ไปก่อตั้งหมู่บ้านที่เกาะพยาม เพื่อป้องกันการบุกรุกของอังกฤษซึ่งครอบครองพม่าอยู่ ในปัจจุบันมีหลักฐานปรากฏอยู่ที่แหลมฝรั่งบริเวณอ่าวใหญ่ที่เกาะพยาม
ต่อมากรมป่าไม้ โดยกองอุทยานแห่งชาติได้มาดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2532 ซึ่งจากการสำรวจพบว่าพื้นที่บริเวณครอบคลุมพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะพยาม ป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะช้าง ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหินกลอง - ป่าคลองม่วงกลวง และป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียว - ป่าคลองเกาะสุย
ประกอบไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ มีความเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเมื่อคราวการประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2543 และได้ทำการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อง่ายต่อการควบคุมและตอบสนองความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น เหลือเนื้อที่ประมาณ 347 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะพยาม ตำบลหงาว ตำบลราชกรูด และตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยมีอาณาเขตทิศเหนือจดสาธารณรัฐสังคมนิยมสหภาพพม่า ท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ทิศใต้จดเขาชาย และคลองม่วงกลวง ท้องที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ทิศตะวันออกจดป่าชายเลน ท้องที่ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และทิศตะวันตกจดทะเลอันดามัน ท้องที่ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถแบ่งลักษณะภูมิประเทศออกได้เป็น 3 กลุ่มพื้นที่ ได้แก่
พื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นพื้นที่ลาดลงมาจากทิศตะวันออกของจังหวัดระนอง มีหาดยื่นออกไปในทะเล และปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน ซึ่งเป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รัฐบาลไทยจึงได้จัดทำโครงการร่วมกับประเทศสมาชิกยูเนสโก้ประกาศพื้นที่ชายฝั่งบริเวณนี้เป็นเขตสงวนชีวมลฑลโลก (International Coastal and Marine Biosphere Reserve)
ซึ่งเป็นแห่งที่ 4 ของประเทศไทย พื้นที่ทั้งหมดของเขตสงวนชีวมลฑลโลก มีพื้นที่ประมาณ 214.35 ตร.กม ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งทับอยู่ในเขตอุทยานแห่งขาติหมู่เกาะพยามประมาณ 176 ตร.กม โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นที่สงวนความหลากหลายทางธรรมชาติ
พื้นที่ใกล้ชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเกาะบางจาก เกาะยิว เกาะทรายดำ เกาะสน ประกอบด้วยป่าชายเลนทางทิศตะวันออก และหาดทรายทางฝั่งตะวันตก ส่วนพื้นที่บนเกาะปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบ
พื้นที่ห่างจากชายฝั่ง ได้แก่ บริเวณเกาะช้าง เกาะพยาม เกาะทะลุ เกาะตาครุฑ เกาะหม้อ เกาะปริง เกาะไร่ และเกาะไฟไหม้ ฯลฯ โดยกลุ่มเกาะดังกล่าวขนานกับชายฝั่ง พื้นที่บนเกาะปกคลุมไปด้วยป่าดงดิบและรอบเกาะมีปะการังกระจายอยู่โดยรอบ
ลักษณะภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม อยู่ในเขตลมมรสุม ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน เป็นช่วงฝนชุกมาก ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศไม่หนาวจัดเพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควร
แต่บางครั้งอาจมีฝนตกได้เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยพาเอาฝนมาตก ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีลมจากทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดมาปกคลุม ทำให้อากาศร้อนโดยทั่วไป อากาศจะร้อนสุดในเดือนเมษายน แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากภูมิประเทศเป็นคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำจากทะเลทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก
พืชพรรณและสัตว์ป่า สังคมพืชในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถจำแนกออกเป็น ป่าชายเลน มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพันธุ์ไม้หลายชนิด อาทิเช่น แสม แสมขาว แสมทะเล แสมดำ ถั่วขาว ถั่วดำ พังกาหัวสุมดอกขาว พังกาหัวสุมดอกแดง โปรงขาว โปรงแดง ตาตุ่มทะเล หลุมพอทะเล ฝาดดอกแดง ฝาดดอกขาว โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพน ตะบูนดำ ตะบูนขาว และจาก เป็นต้น พืชพื้นล่าง ได้แก่ สำมะง่า เถากระเพาะปลา เหงือกปลาหมอ ปรงทะเล ปรงหนู เป็นต้น
ป่าดงดิบ สภาพป่าในปัจจุบันยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะบริเวณภูเขาสูงของเกาะบางจาก เกาะยิว เกาะช้าง เกาะทรายดำ เกาะพยาม พันธุ์ไม้ที่พบโดยส่วนใหญ่ เช่น กระท้อนป่า ตำเสา ขนุนป่า ขุนไม้ ไข่เขียว เฉียงพร้านางแอ ตะเคียนทอง ตะเคียนทราย ตีนเป็ด เทพทาโร ทุ้งฟ้า ยมหิน สะตอ เลือดควาย มะม่วงป่า กันเกรา หลาวชะโอน เป็นต้น พืชพื้นล่างได้แก่ หวายกำพวน หวายแดง ระกำ มอส เฟิน เป็นต้น
ป่าชายหาด พบได้ตามแนวชายหาดบางส่วนของพื้นที่เกาะพยาม เกาะช้าง และเกาะทรายดำ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ สนทะเล จิกทะเล หยีทะเล เตยทะเล และปรงทะเล เป็นต้น ทุ่งหญ้า เป็นสังคมพืชที่ขึ้นบริเวณเกาะยิว เกาะทรายดำ โดยมีหญ้าต่างๆ สลับกับป่าโปร่ง มีหญ้าคาเป็นหลัก
จากการสำรวจการแพร่กระจายของหญ้าทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม
ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2545 โดยวิธี Monta tow และดำผิวน้ำ พบหญ้าทะเลที่มีลักษณะแตกต่างกัน จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ หญ้าชะเงาใบสั้นปล้องยาวหรือชะเงาใบฟันเลื่อย หญ้าใบมะกรูด หญ้าผมนางหรือกุ้ยช่ายเข็ม กุ้ยช่ายทะเล หญ้าคาทะเล หญ้าเงาแคระ หญ้าใบสน และ หญ้าเต่าหรือหญ้าชะเงาเต่าพบแพร่กระจายบริเวณเกาะช้าง เกาะพยาม เกาะบางจาก เกาะตาครุฑ เกาะสิน สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยามสามารถจำแนกออกได้เป็น
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สำรวจพบ 11 ชนิด ได้แก่ ลิงแสม นาก บ่าง กระรอก กระแต หมูป่า ตุ่น ชะมด และหนูชนิดต่างๆนก สำรวจพบ 52 ชนิด ได้แก่ นกแก๊ก นกยางชนิดต่างๆ เหยี่ยว นกนางแอ่น นกกวัก นกกางเขน นกกาน้ำเล็ก และนกกินปลาชนิดต่างๆ เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย กิ้งก่า ตะกวด งูและเต่าชนิดต่างๆ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วยกบ คางคก อึ่งอ่าง เขียด และปาด
แมลง ได้แก่ ผีเสื้อ แมลงปอ แมงมุม จิงโจ้น้ำ แมลงสาปทะเล เป็นต้น
ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ประกอบด้วย ปูก้ามดาบ ปูแสม ปูดำหรือปูทะเล ปูเสฉวน กุ้งแชบ้วย กุ้งเคย กุ้งกะต่อม กุ้งดีดขัน แม่หอบ หอยตะโกรม หอยกะทิ หอยเจดีย์ หอยขาว ปลาตีน ปลาบู่เสือ ปลากระบอก ปลากระทุงเหว ปลาข้างลาย ปลาปักเป้า ปลาสาก ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาอินทรี แมงกะพรุน หมึก หอยเม่น ปลิงทะเล และปะการัง เป็นต้น
จากการสำรวจแนวปะการังในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ซึ่งจะพบบริเวณอ่าวกวางปีป อ่าวแม่ยาย เกาะพยาม เกาะทะลุ อ่าวค้างคาว เกาะช้าง พบปะการังหลายชนิด ได้แก่ ปะการังโขด ปะการังสมอง ปะการังพุ่ม ปะการังเขากวาง ปะการังนิ้วมือ ปะการังโต๊ะ ปะการังผักกาดปะการังอ่อน ซึ่งจะพบบริเวณเกาะทะลุฝั่งตะวันตก กัลปังหา แส้ทะเล ไฮดรอยด์ ดอกไม้ทะเล ซึ่งจะพบบริเวณอ่าวเสียด เกาะช้าง และฝั่งตะวันตกของเกาะทะลุ ปลาทะเลสวยงามเช่น ปลาการ์ตูน ปลาชี้ตังเบ็ดฟ้า ปลาสินสมุทรลายฟ้า ปลาวัวหางเหลือง ปลาไหลมอเรย์จุดขาว ปลาไหลมอเรย์ปานดำ ปลาหิน ปลาสิงโต พบได้ตามกองหินและบริเวณที่มีปะการัง
การเดินทาง
รถยนต์ จากจังหวัดระนองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ( ระนอง-ตะกั่วป่า) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงตำบลหงาว เลี้ยวขวาเข้าเทศบาลหงาว เดินทางต่อไปตามทางสายบ้านล่าง-หัวถนน อีกประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
เรือ การเดินทางสู่จุดท่องเที่ยวในปัจจุบันมี 2 เส้นทาง ได้แก่
เดินทางจากท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลา ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ระยะทางประมาณ 33 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-3.5 ชั่วโมง จะมีเรือเมล์ไว้บริการ
ท่าเทียบเรืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีเรือเช่าเหมาลำให้บริการ
หมวดหมู่: ธรรมชาติ และสัตว์ป่า
กลุ่ม: อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล
ปรับปรุงล่าสุด : 3 ปีที่แล้ว