
ประเพณีกินผัก (กินเจ)

Rating: 3.8/5 (4 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวภูเก็ต
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ช่วงเวลา ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน ตรงกับเดือน 11 ของไทย
ความสำคัญ คนภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นชาวจีน วัฒนธรรม และประเพณีไทย และความเชื่อของคนจีนจึงฝั่งรากลึก และยึดถือปฏิบัติสืบทอดอยู่จนปัจจุบัน เมื่อถึงเทศกาลกินผัก ชาวภูเก็ตร้อยละแปดสิบจะปฏิบัติตามประเพณีนิยม พร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว ร่วมกันถือศีลกินผัก เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ และระลึกถึงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ตนเคารพนับถือ โดยยึดถือวิญญาณนั้น ๆ เป็นเสมือนเจ้าหรือเซียน ให้ช่วยปกป้องคุ้มครอง
พิธีกรรม
1. การถือศีล การปฏิบัติจะเริ่มในแรม 1 ค่ำเดือน 9 ผู้ที่ถือศีลกินผักจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว ละเว้นจากสิ่งที่ทำให้จิตใจมัวหมอง รักษากาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ เว้นจากการพูดโกหก เบียดเบียน ลักทรัพย์ และการข้องแวะในกาม การดื่มสุราของมึนเมา และเว้นจากการฆ่าสัตว์
2. พิธีบูชาเจ้า ประเพณีถือศีลกินผัก ประเพณีภาคใต้ โดยเริ่มด้วยการจุดตะเกียงน้ำมัน ขึ้นสู่เสาใหญ่สีแดง ที่ตั้งสูงตระหง่านที่หน้าอ้าม (ศาลเจ้า) เรียกว่า เสาโกเต๊ง ซึ่งจะยกเสาในตอนเย็นก่อนเริ่มงานหนึ่งวัน โดยเสาโกเต๊งเป็นเครื่องหมายสำคัญที่อัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้ามาประทับ บนยอดเสาจะแขวนตะเกียงไว้ 9 ดวง หมายถึง วิญญาณของกิ๋วอ๋องไตเต (ผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) โดยในวันรุ่นขึ้นซึ่งเป็นวันงานจะมีการบูชาเจ้าด้วยการจุดธูปขนาดใหญ่ เผาไม้หอม กระดาษเงินกระดาษทอง ตั้งเครื่องเซ่นบูชาเจ้า
3. การอัญเชิญเจ้าเข้าทรง โดยจะทำที่อ้ามทุกวันโดยเฉพาะวันสำคัญคือวัน 3 ค่ำ 6 ค่ำ และ 9 ค่ำ โดยมีม้าทรง (คนทรง) และพี่เลี้ยง 2-3 คนเป็นผู้ช่วย คอยกล่าวบทอัญเชิญ ตีกลอง, ตีล่อโก๊ะ, จุดธูป และเผาไม้หอม เซ่นไหว้ด้วยผลไม้ โดยเมื่อเจ้าประทับทรงแล้ว ม้าทรงจะหยิบธงหรืออาวุธคู่มือของเจ้าได้ถูกต้อง พี่เลี้ยงจะคอยเอาเสื้อยันต์ประจำตัวของเจ้ามาผูกใส่ให้ เจ้าจะคว้าอาวุธคู่มือมาร่ายรำฟาดฟันร่างกายตนเอง
4. พิธีโขกุ้น นั้นจะเป็นการบวงสรวงทหารของเจ้า ซึ่งเป็นบริเวณของเจ้าแต่ละองค์ โดยจะทำพิธีใน 3 ค่ำ 6 ค่ำ และ 9 ค่ำ หลังเที่ยง จะเตรียมอาหารและเหล้า โดยส่วนหญ้าและถั่วจะเป็นอาหารม้า ในตอนกลางคืนจะตรวจพลทหารตามทิศต่าง ๆ 5 ทิศ
5. พิธีซ้องเก็ง คือการสวดมนต์ เริ่มสวดตั้งแต่กิ๋วอ๋องฮุดโจ้ว เข้าประทับในโรงพระจะทำพิธีสวดวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและตอนย่ำค่ำ หลังจากสวดมนต์กลางคืนแล้วจะมีการอ่านรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมกินผัก เป็นการเบิกตัวเข้าเฝ้าเจ้า
6. พิธีบูชาดาว ทำในคืน 7 ค่ำ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองผู้ที่กินผัก ในพิธีจะมีการทำฮู้ (กระดาษยันต์) แจก
7. พิธีพระออกเที่ยว (การแห่เจ้า) โดยเจ้าจะออกเยี่ยมประชาชนตามบ้าน ซึ่งจะมีขบวนธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า และจะมีขบวนหามเกี้ยวพระโดยจะมีรูปเจ้าแต่ละองค์นั่งในเกี้ยวไปตามลำดับชั้น และยศของเจ้า โดยขบวนเกี้ยวใหญ่ใช้คนหาบ 8 คน จะเป็นที่ประทับของกิ๋วอ๋องฮุดโจ้ว โดยปกติชาวบ้านนั้นจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและจุดประทัดต้อนรับเมื่อขบวนไปถึง
8. พิธีลุยไฟ กองไฟถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์เป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์บังคับไฟไม่ให้ร้อน ลุยได้ทั้งเจ้าและประชาชนทั่วไป
9. พิธีโก๊ยห่าน เป็นการสะเดาะเคราะห์ ต้องตัดกระดาษทองเป็นรูปคนแทนตัวเองคนละรูป ตัดผม ตัดเล็บ เหรียญกษาปณ์ ต้นกุ้ยช่ายแทนสิ่งชั่วร้ายในตัวคน นำสิ่งเหล่านี้มาที่ศาลเจ้าแล้วให้เจ้าประทับตราที่ด้านหลังเสื้อ ผู้ที่ผ่านพิธีโก๊ยห่านมาแล้วจะมีตราประทับติดเสื้อด้านหลังทุกคน
1๐. พิธีส่งพระ ทำในวันสุดท้ายของการกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดา คือเง็กเซียนฮ่องเต้ที่เสาธง ตอนกลางคืนจะมีการส่งพระกิ๋วอ๋องฮุดโจ้วกลับสวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในอ้ามต้องดับแล้วปิดประตูใหญ่ ตะเกียงที่เสาธงถูกดึงขึ้นสูงสุด รุ่งเช้าจึงเอาเสาธงลงและเรียกกำลังทหารกลับ
พิธีกินผักนอกจากจะสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคร้ายจากตัวผู้กินผักแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงการเคารพบรรพบุรุษ เป็นการฝึกจิตใจของผู้กินผักให้บริสุทธิ์เพราะได้รักษาศีลและยังสร้างความสามัคคีอีกด้วย



แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage