หมูฮ้อง หมูสามชั้นต้มซีอิ๊ว เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้
Rating: 5/5 (1 votes)
หมูฮ้อง หมูสามชั้นต้มซีอิ๊ว เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้ หมูฮ้อง เมนูพื้นถิ่นของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในแถบภาคใต้บ้านเรา สาเหตุที่เรียกกันว่า “หมูฮ้อง” มาจากคำว่า ฮ้อง คือ การต้มให้เข้าเนื้อ จะเป็นสูตรดั้งเดิมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาอยู่ที่เมืองภูเก็ต และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ปีนัง-สิงคโปร์ โดยคนจีนเหล่านี้จะทำหมูฮ้องกินกันในงานไหว้ งานมงคล ทำครั้งหนึ่งเป็นหม้อใหญ่ ๆ ไว้ให้ลูกหลานตักกินได้เต็มที่ ปัจจุบันหลายคนเข้าใจผิดว่า หมูฮ้องกับหมูพะโล้เป็นอาหารเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงอาหารสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
หมูฮ้อง ถือเป็นอาหารคู่เมืองภูเก็ตมาเป็นเวลานาน โดยว่ากันว่าหากใครมาภูเก็ตแล้วก็จะต้องลิ้มลองทานหมูฮ้องต้นตำรับจากฝีมือคนท้องถิ่น เพื่อที่จะเข้าใจอาหารปุ๊นเต่ (อาหารพื้นเมือง) ของจีนฮกเกี้ยน เป็นอาหารที่มีความละเอียดและต้องใส่ใจในกระบวนการทำทุกขั้นตอน
หมูฮ้อง วัตถุดิบของหมูฮ้องต้นตำรับจะต่างจากหมูพะโล้ตรงไม่ใส่ผงพะโล้ (อบเชย) ไม่ใส่ไข่ ไม่ใส่เต้าหู้ เน้นเฉพาะเนื้อหมูสามชั้น ซึ่งจะเคี่ยวกับซีอิ๊วและเมล็ดพริกไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนในการปรุงอาหารเมนูนี้ องค์ประกอบของหมูฮ้องจะมีเพียงน้ำขลุกขลิกต่างกับหมูพะโล้ซึ่งจะมีน้ำเยอะกว่าจนสามารถราดข้าวได้ โดยเนื้อต้องนุ่มจนแทบละลายในปาก แต่เดิมหมูฮ้องมักขึ้นโต๊ะในพิธีกรรมสำคัญ แต่ความอร่อยทำให้เมนูนี้สืบทอดต่อกันมา และสร้างสูตรอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่จนถึงปัจจุบัน
สำหรับเนื้อหมูส่วนที่ดีที่สุด ที่จะนำมาทำหมูฮ้อง คือ เนื้อสามชั้นบริเวณราวท้อง หรือคนภูเก็ตเรียกว่า เลี่ยมต้อ เพราะเนื้อจะไม่ติดมันมากเกินไป หนังไม่หนา เนื้อจะนุ่มอร่อย บางท่านที่ไม่ชอบทานเนื้อหมูติดมัน ก็อาจใช้หมูเนื้อแดงก็ได้ และ ถ้าหากต้องการเพิ่ม ไข่ต้ม, ไข่นกกระทาต้ม, หน่อไม้จีน, และเห็ดหอม ลงไปฮ้อง (เคี่ยว) ด้วยก็แล้วแต่ชอบ
วัตถุดิบ (สูตรอาหารภาคใต้)
- หมูฮ้อง
- เครื่องปรุง
- หมูสามชั้น 1 กิโลกรัม
- รากผักชี 20 กรัม
- กระเทียม 30 กรัม
- พริกไทยขาวป่น ¼ ช้อนชา
- พริกไทยดำป่น ¼ ช้อนชา
- ผงพะโล้ 1 ½ ช้อนชา
- ซีอิ๊วดำ 2 ช้อนโต๊ะ
- ซอสถั่วเหลืองปรุงรส 2 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายแดง5 ช้อนโต๊ะ
- น้ำ 700 มิลลิลิตร
- ผักชีหั่นหยาบ3 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ (เมนูอาหารใต้)
1. หั่นหมูสามชั้นเป็นเส้นยาวกว้าง 1.5 นิ้ว และหั่นขวางกว้าง 1 นิ้ว
2. ตำรากผักชี กระเทียม พริกไทยขาวป่น พริกไทยดำป่น และผงพะโล้เข้าด้วยกันจนละเอียดดี แล้วนำไปคลุกกับหมูสามชั้นที่หั่นไว้
3. เติมซีอิ๊วดำ ซอสถั่วเหลืองปรุงรส ซีอิ๊วขาว และน้ำตาลทรายแดง คลุกรวมกัน หมักทิ้งไว้ 2 ชั่วโมง
4. นำหมูที่หมักไว้ใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟแรง รวนหมูพอสุก เติมน้ำลงไป คนให้เข้ากัน รอจนเดือด จึงลดลงเป็นไฟอ่อน จากนั้นเคี่ยวต่อประมาณ 45 นาที หรือจนกระทั่งหมูสุกนุ่ม
5. ตักใส่ชาม โรยหน้าด้วยผักชีหั่นหยาบ
อาหารภาคใต้ อาหารพื้นบ้านภาคใต้นั้นจะมีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เนื่องจากดินแดนของภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวา จึงทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก
อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป นั้นจะมีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดทะเลทั้งสองด้านจึงมีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย
อาหารใต้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมไทยในสำรับอาหารปักษ์ใต้นั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ ทำให้เกิดตำรับอาหารใหม่มากมาย ล้วนผ่านวิธีการดัดแปลง ปรับปรุงเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน จึงทำให้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภาคอื่นอย่างชัดเจนคือ รสชาติจัด เน้นเครื่องเทศ และมีผักสารพัดชนิดที่เรียกว่า ผักเหนาะ นับเป็นพืชพื้นบ้านหาได้ในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น ลูกเหนียง, สะตอ และยอดกระถิน มากินร่วมด้วยซึ่งจะช่วยบรรเทารสเผ็ดของอาหาร ทั้งมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารส่วนมากนิยมสัตว์ทะเล เช่น ปลาทู, ปูทะเล, กุ้ง, หอย และปลากระบอก ซึ่งจะหาได้ในท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น แกงไตปลา แกงเหลือง มักจะนิยมใส่ขมิ้นปรุงอาหารเพื่อแก้รสคาว เครื่องจิ้มคือน้ำบูดูอาหารพื้นบ้านภาคใต้ที่มีชื่อเสียง
อาหารไทย เป็นอาหารประจำของประเทศไทย ที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าอาหารไทยเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญของประเทศไทย ต้ม, ยำ, ตำ และแกง ส่วนการทำอาหารแบบทอด ผัด และนึ่ง มีที่มาจากการทำอาหารแบบจีน
หมวดหมู่: บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร
กลุ่ม: เมนูอาหารใต้, สูตรอาหารใต้
ปรับปรุงล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม
ไปยังส่วนบน