หน้าหลัก > ภาคใต้ > จ.พังงา > อ.คุระบุรี > ต.เกาะพระทอง > อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์


พังงา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

Share Facebook

Rating: 3.7/5 (6 votes)

วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 06.00 - 18.00 น.
 
ประวัติ พระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต (นามเดิมนกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้ค้นพบเกาะและตั้งชื่อ หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อครั้งที่ท่านมาสำรวจ ทะเลฝั่งอันดามัน ที่ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จนกระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2514 กรมป่าไม้จึงได้ประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
 
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันและอยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ห่างจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยประมาณ 70 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร 
 
ความเป็นมา กรมป่าไม้ได้ประกาศป่าหมู่เกาะสุรินทร์ ท้องที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อ 30 ธันวาคม 2514 ต่อมาคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2519 เห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
 
ซึ่งกรมป่าไม้ได้ติดต่อประสานงานไปยังกรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งว่า หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในเขตสัมปทานปิโตรเลี่ยม แปลงที่ ตก. 9 W1 ของบริษัท WEEKS PETROLEUM จึงขอให้ระงับการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ก่อน และบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ยังเคยถูกเสนอให้ใช้เป็นค่ายญวนอพยพ แต่เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล ประกอบกับทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงาม เหมาะที่จะจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมชาติ กรมป่าไม้จึงได้คัดค้านไม่เห็นด้วย
 
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีปะการัง สภาพป่าที่สมบูรณ์ หาดทรายขาวสะอาด และนกนานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินหมู่เกาะสุรินทร์ ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย 
 
ลักษณะภูมิประเทศ เกาะสุรินทร์มีสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดู เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่รอบเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร นอกเหนือจากการรับอิทธิพลจากคลื่นลม สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของบริเวณหมู่เกาะเหล่านี้อเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือ น้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ
 
และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะ ความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์อื่นๆ ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแบบ Semidiurnal คือ น้ำขึ้นและน้ำลงอย่างละ 2 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง และความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดอาจถึง 3 เมตร ทำให้มีกระแสน้ำเลียบฝั่งค่อนข้างแรง
 
เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด โดยมีพื้นน้ำตื้นๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้ เรียกว่า อ่าวช่องขาด ส่วนเกาะขนาดเล็กอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ไม่หนาแน่นนัก พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น เป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย 
 
ลักษณะภูมิอากาศ สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ปริมาณฝนเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีค่ามากกว่า 3,000 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 
 
พืชพรรณและสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีป่า สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ดังนี้ 
 
ป่าดงดิบ เป็นป่าที่มีพื้นที่มากที่สุด มีอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยพรรณไม้หลายชนิด เช่น คอแลน มะยง เท้าแสนปม กระเบากลัก ลำป้าง มะพลับ ลักเคยลักเกลือ ดำตะโก พลับเขา เลือดแรด หันช้าง สลอดป่า หงอกค่าง พระเจ้าห้าพระองค์ ยางยูง ยางปาย สะเดาปัก ตะพง มะเม่าดง มะส้าน อ้ายบ่าว มะกล่ำต้น แตงชั่ง มะเม่าสาย นกนอน ลิ้นควาย กระบาก ไทร กร่าง ไม้หอม แกงเลียงใหญ่ มะเม่าดง ตะขบควาย นวล มูกเขา และลังค้าว นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ชนิดอื่นๆ อีก คือ 
 
ปาล์ม ได้แก่ เต่าร้างแดง ช้างไห้ หวาย ไม้พุ่ม ได้แก่ แม่กลอน เต้ยชะครู จันทร์คันนา คัดเค้าทอง ไม้เถาเลื้อย ได้แก่ เถาปลอง แสลงพันเถา ลิ้นกวาง ขมัน เถานางรอง กร่าง ไม้พื้นล่าง ได้แก่ เข็มพระรามไม้ ผักยอดตอง คล้า ว่านสากเหล็ก กูดง้อง เตยหนู กูดปรง และร๊อก เป็นต้น 
ชายหาด ประกอบด้วย โพกริ่ง กระทิง ตีนเป็ดทะเล สนทะเล จิกเล ปอทะเล โกงกางหูช้าง คันทรง ขาเปี๋ย สำมะงา รักทะเล ปรงทะเล ลำเจียก หญ้าไหวทาม เป็นต้น 
 
ชายเลน ประกอบด้วย โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โกงกางหัวสุม ตะบูน ลำแพนหิน ตีนเป็ดทะเล และพืชอิงอาศัยพวกกระแตไต่ไม้และกล้วยไม้บางชนิด 
 
จากสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์นี้จึงเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะนกซึ่งพบมากกว่า 80 ชนิด ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เช่น นกขุนทอง นกลุมพูขาว นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกชาปีไหนซึ่งเป็นนกที่หายาก และหากเดินไปตามชายทะเลจะพบนกยางทะเล นกนางนวล เหยี่ยวแดง บินเหนือท้องทะเลเพื่อล่าปลาเป็นอาหาร ภายในป่าจะพบลิงกังอยู่เป็นฝูงใหญ่ เกาะรอก กระจง ตะกวด งูหลาม ค้างคาวแม่ไก่ และค้างคาวหนูผี 
 
สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง แนวปะการังที่พบทั่วไปที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นแนวปะการังริมฝั่ง หรือที่เรียกกันว่า fringing reef ปะการังที่พบได้มากได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังเขากวาง ปะการังโขดหรือปะการังนิ้วมือ ปะการังดอกเห็ด ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังแผ่นเปลวไฟหรือปะการังดอกจอก ปะการังสมอง ปะการังจาน ปะการังไฟ ดอกไม้ทะเล ปะการังอ่อน กัลปังหา และปากกาทะเล เป็นต้น 
 
นอกจากปะการังแข็งที่พบเห็นโดยทั่วไปแล้ว ยังพบหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวของหมู่เกาะสุรินทร์ 3 ชนิด ได้แก่ หญ้าเงาหรืออำพัน หญ้ากุ่ยช่ายเข็ม และหญ้าชะเงาเต่า นอกจากนี้ยังมี ฟองน้ำ หนอนทะเล กุ้งมังกร กุ้ง ปู หอย หมึก ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก เม่นทะเล ปลิงทะเลเพรียงหัวหอม
 
และกลุ่มปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลานกแก้ว ปลากะรังและปลาทอง ปลาขี้ตังเป็ด ปลาสลิดทะเล ปลาผีเสื้อเทวรูป ปลาอมไข่ ปลาตั๊กแตนหิน ปลาบู่ ปลาสิงโต ปลากะรังหัวโขน ปลาหิน ปลากะพง ปลากล้วย ปลาสร้อยนกเขา ปลาทรายขาว ปลาหางแข็ง ปลาโมง ปลาสีกุน ปลาวัว ปลาปักเป้า นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งของสัตว์ทะเลหายาก เช่น ฉลามวาฬ วาฬ และเต่าทะเลซึ่งพบ 4 ชนิดด้วยกันได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
 
เกาะตอรินลา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะไข่ อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 6 กิโลเมตร เกาะตอรินลาเป็นจุดดำน้ำชั้นยอดของหมู่เกาะสุรินทร์ บางคนเรียกกองเหลือง บริเวณนี้มีทั้งแนวปะการังและกองหินใต้น้ำสลับกัน จัดเป็นจุดดำน้ำที่ใหญ่มาก กินอาณาเขตเกือบทั่วร่องน้ำระหว่างเกาะตอรินลากับเกาะสุรินทร์ใต้ มีดงปะการังเขากว้างที่กว้างใหญ่ มีปลาสวยงามมากมาย มากกว่า 200 ชนิด เช่น ปลาไหลสวน ฉลามครีบเงิน ฉลามเสือดาว กระเบนหางแส้ กะรังหน้างอน ฝูงปลาค้างคาว ปลากระตั้ว ปลาไหลริ้บบิ้น เป็นต้น และที่โดนเด่นคือ มีปลากระโทงแทงกระโดดให้เห็นกันบ่อยๆ ถือเป็นจุดชมปลากระโทงแทงชั้นเยี่ยมแห่งหนึ่งของทะเลไทย ข้อควรระวังสำหรับนักดำน้ำ คือ บริเวณร่องน้ำเกาะตอรินลา มีกระแสน้ำอันรุนแรง บางครั้งไหลวน จึงควรดำน้ำความความระมัดระวัง
 
เกาะปาจุมบา หรือเรียกอีชื่อหนึ่งว่า เกาะมังกร มีอ่าวมังกรอยู่ทางทิศตะวันออกเกาะ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 5 กิโลเมตร พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สงวนสำหรับการอนุรักษ์เต่าทะเล บรเวณนี้น้ำไม่ลึก ยกเว้นด้านเหนือของเกาะ มีแต่กองหินใต้น้ำ ไม่มีปะการังอ่อนหรือกัลปังหา บางครั้งมีกระแสน้ำรุนแรง ไม่เหมาะสำหรับการดำน้ำ
 
หินแพ หรือหินกอง เป็นแนวหินที่โผล่พ้นน้ำ ตั้งอยู่หน้าอ่าวที่ทำการอุทยานแห่งชาติทางด้านทิศใต้ของเกาะสุรินทร์เหนือ เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุม มีปะการังเขากวางเป็นผืนผืนใหญ่
 
อ่าวจาก อยู่ด้านทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 10 กิโลเมตร เป็นแนวปะการังในอ่าวใหญ่ ขอบปะการังห่างฝั่ง 200 - 400 เมตร ด้านในเป็นปะการังเขากวาง ปะการังพุ่ม ปะการังกิ่ง ด้านนอกมีปะการังก้อนสลับกับปะการังเขากวางกว้างใหญ่ สัตว์ใต้ทะเลส่วนมากเป็นปลาสวยงาม สัตว์ใหญ่ๆ มีน้อย
 
อ่าวช่องขาด เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติบนเกาะ อยู่ระหว่างเกาะสุรินทร์เหนือและเกาะสุรินทร์ใต้ บริเวณนี้จะเป็นศูนย์รวมก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ภายในอุทยานแห่งชาติ เพราะ เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านพัก สถานที่กางเต็นท์ ร้านอาหาร ห้องน้ำ ห้องสุขา หน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น ท่าเทียบเรือ เรือบริการท่องเที่ยว
 
อ่าวเต่า อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะสุรินทร์ใต้ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 2 กิโลเมตร เป็นแนวปะการังริมเกาะ กว้าง 50 - 200 เมตร แนวปะการังหักชันลงที่ลึก 20 - 25 เมตร อย่างรวดเร็ว บริเวณด้านในของแนวปะการังจะพบกับปะการังขนาดเล็ก บริเวณตรงกลางของแนวปะการังพบปะการังหลากหลายชนิด สำหรับบริเวณขอบแนวปะการังพบปะการังก้อนขนาดใหญ่ มีปะการังอ่อนและกัลปังหาอยู่เป็นหย่อมๆ ในที่ลึก สัตว์เด่นบริเวณนี้ คือ เต่ากระ นอกจากนี้ยังมีสัตว์หลากหลายชนิด แม้แต่กระเบนราหูหรือฉลามวาฬ ก็เคยมีนักดำน้ำแบบดำผิวน้ำพบเห็นในบริเวณนี้เช่นกัน
 
อ่าวผักกาด เป็นอ่าวเล็กๆ อยู่ทางทิศใต้ของเกาะสุรินทร์ใต้ เลยอ่าวเต่าไป อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 5 กิโลเมตร แนวปะการังริมฝั่งกว้างประมาณ 50 - 150 เมตร มีชายหาดเล็กๆ แนวปะการังหักชันตรงขอบลงสู่ความลึก 15 -20 เมตร ด้านล่างเป็นพื้นทราย สามารถพบเห็นปะการังอ่อนและกัลปังหาได้บ้าง
 
อ่าวผักกาด เป็นจุดที่มีปะการังหลากหลายชนิดในพื้นที่แคบๆ พบทั้งปะการังก้อน แผ่นตั้ง แผ่นนอน เขากวาง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีสัตว์ทะเลที่น่าสนใจ เช่น ดอกไม้ทะเล หอยมือเสือ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในน้ำลึก อาจทำให้มองเห็นไม่ชัดสำหรับผู้ที่ชอบดำน้ำแบบผิวน้ำ ที่นี่มีปลาเกือบทุกชนิดที่พบในหมู่เกาะเกาะสุรินทร์ มาดำน้ำที่อ่าวผักกาดจึงต้องสังเกตปลาเป็นหลัก โดยเฉพาะปลาผีเสื้อ และปลาสินสมุทร เพราะที่นี่มีปลาสองกลุ่มนี้หลากหลายมาก
 
อ่าวไม้งาม อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะสุรินทร์เหนือ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 2 กิโลเมตร ด้านตะวันตกของอ่าวเป็นแนวปะการังใน
 
อ่าวใหญ่ ขอบแนวปะการังห่างฝั่ง 200 - 500 เมตร การเดินทางไปอ่าวแห่งนี้ ทำได้ 2 แบบ คือ เดินเท้าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติหาดไม้งาม ความยาว 2,000 เมตร อีกแบบหนึ่งคือนั่งเรือ แต่เรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าอ่าวไม้งาม เนื่องจากน้ำตื้นมาก จึงต้องไปจอดเรือที่หาดเล็กๆ ก่อนเดินทางเท้าต่อไปอีก 200 เมตร นักท่องเที่ยวจะได้มีโอกาสเดินชมป่า ก่อนที่จะไปดำน้ำริมหาด บริเวณอ่าวไม้งามเป็นหาดทรายธรรมชาติที่งดงาม มีปูเสฉวนจำนวนมาก บางช่วงฤดูอาจพบเห็นนกขุนทองทำรังบนต้นไม้
 
ปะการังที่พบในอ่าวนี้ เป็นปะการังแผ่นตั้ง ปะการังเห็ด ปะการังเขากวาง และปะการังก้อน พบอยู่ห่างจากฝั่งพอสมควร นอกจากปะการังแล้วยังพบสัตว์ทะเล เช่น ดอกไม้ทะเล ปลิงทะเล และปลา การดำน้ำดูปะการังในบริเวณอ่าวนี้ ควรดำน้ำเฉพาะเส้นทางดำน้ำที่กำหนด มิฉะนั้นแล้วอาจไปเกยตื้นกลางดงปะการัง สิ่งที่ควรทำคือ พยายามลอยตัวไปตามพื้นทราย ลัดเลาะข้างๆ ปะการัง อย่าลอยอยู่บนปะการังโดยตรง ซึ่งอาจโดนปะการังหรือเม่นทะเลโดยไม่ได้ตั้งใจ
 
บริเวณอ่าวไม้งามนี้ ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำสถานที่กางเต็นท์ ห้องน้ำ-ห้องสุขา ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจมาพักแรมแบบแคมป์ปิ้ง นักท่องเที่ยวควรปฎิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ช่วยกันประหยัดน้ำจืด ช่วยเหลือกันและเคารพสิทธิของกันและกันในหมู่นักท่องเที่ยว
 
อ่าวสุเทพ อยู่บนเกาะสุรินทร์ใต้ เป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะนี้ มีแนวประการับยาวถึง 1,200 เมตร ห่างจากฝั่ง 200 - 500 เมตร หรือมากกว่านั้น ด้านในของแนวปะการังเป็นปะการังขนาดเล็กปนเศษปะการัง ด้านนอกของแนวเป็นปะการังก้อนขนาดใหญ่สลับกับปะการังแผ่นนอนใหญ่มาก ขอบแนวปะการรังลาดลงสู่พื้นทราย ความลึก 15 เมตร สามารถพบเห็นปะการังอ่อนและกัลปังหา หอยมือเสือ และปลาสวยงาม 
อ่าวสุเทพอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่พักของอุทยานแห่งชาติ (อ่าวช่องขาด) แต่มีนักท่องเที่ยวน้อย เพราะเรือวิ่งข้ามช่องขาดมาได้เฉพาะช่วงน้ำขึ้น อ่างสุเทพจึงค่อนข้างสงบ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเป็นส่วนตัว
 
หมู่บ้านชาวเล หรือมอแกน ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายหาดบริเวณอ่าวไทรเอน เกาะสุรินทร์เหนือ ประมาณ 130-150 คน ชาวเลหรือมอแกน เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะของทะเลอันดามัน ตั้งแต่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย เรื่อยไปจนถึงเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย มอแกนเป็นชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมหาเลี้ยงชีพโดยการงมหอย แทงปลา โดยในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน มอแกนจะอาศัยอยู่บนเรือที่เปรียบเสมือนบ้าน แต่พอถึงช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน จะเปลี่ยนที่อยู่มาอาศัยอยู่บนบกที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์
 
เรือของชาวมอแกนแบบดั้งเดิม มี 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เป็นเรือขนาดใหญ่ สร้างขึ้นจากไม้ประมาณ 3-4 ต้น ใช้เวลาสร้างประมาณ 60 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 20 คน ประเภทที่ 2 เป็นเรือขนาดเล็ก ใช้ไม้เนื้ออ่อนเจาะด้วยขวาน ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 3 คน โดยวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบเรือทั้ง 2 ประเภท จะใช้วัสดุและอุปกรณ์เช่นเดียวกัน คือ ไม้ขนุนปานหรือไม้ระกำ ขวาน ใช้สลักไม้แทนตะปู ใช้หวาย ใบเตย หรือใบค้อ กระสอบป่านแทนหมันและน้ำมันยาง
 
วิถีชีวิตของชาวมอแกน อาศัยการนับเวลาจะสังเกตจากดวงจันทร์ พวกเขามีความเชื่อในเรื่องของภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษ โดยในเดือนเมษายนของทุกปี กลุ่มชาวเลที่อยู่กระจัดกระจายตามเกาะต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงและในประเทศพม่าจะมารวมตัวกันที่หมู่เกาะสุรินทร์ เพื่อประกอบพิธี "ลอยเรือ" อันเป็นการบวงสรวงผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ให้ปลอดภัยและแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง จึงถือได้ว่าชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้มากที่สุด 
 
ฤดูการท่องเที่ยว ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 15 พฤศจิกายน ของทุกปี เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ต.คุระ อ. คุระบุรี จ.พังงา 82150 โทรศัพท์ 076-472145, 076-472146   โทรสาร 076-472147  อีเมล [email protected]
 
การเดินทาง
รถยนต์ ขับรถไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ( ถนนเพชรเกษม) จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ อำเภอคุระบุรี ระยะทางประมาณ 720 กิโลเมตร ก่อนถึงอำเภอคุระบุรีประมาณ 6 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 721 มีทางแยกเลี้ยวเข้าท่าเรือคุระบุรี ประมาณ 2 กิโลเมตร จะมองเห็นป้ายอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ทางขวามือ จากนั้นให้เลี้ยวเข้าไปจอดรถบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ( บนฝั่ง) 
 
รถโดยสารประจำทาง เริ่มต้นจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เวลาออกเดินทางจากกรุงเทพฯประมาณ 19.00 น. ถึงคุระบุรี เวลา 05.00 น. อัตราค่าโดยสารคนละ 480 บาท จากบริเวณสถานีขนส่งคุระบุรี ในอำเภอคุระบุรี บริการรถมอเตอร์ไซด์และรถยนต์เช่า เหมาคันเดินทางไปส่งยังบริเวณท่าเรือคุระบุรี อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร สำหรับอัตราค่าโดยสารมีดังต่อไปนี้ คือ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 50 บาท/คน รถยนต์เช่าเหมา 200 บาท/คัน 
 
เครื่องบิน โดยสารเครื่องบินมาลงที่สนามบินจังหวัดระนอง หรือสนามบินจังหวัดภูเก็ต จากนั้นจึงเดินทางด้วยรถยนต์มายังอำเภอคุระบุรี ในจังหวัดพังงาต่อไป 
เรือ 
 
การเดินทางทางเรือ เริ่มจากท่าเรือคุระบุรี ไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีการบริการเรือทัวร์โดยสารของเอกชนให้บริการนักท่องเที่ยว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.0 - 2.5 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเรือโดยสาร 
 
การบริการเรือทัวร์โดยสาร เปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมจึงจะปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว มีตารางการเดินเรือ ดังนี้ 
 
- จากท่าเรือคุระบุรี เวลา 09.00 น. ของทุกวัน ถึงที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ เวลาประมาณ 11.30 น. 
 
- จากที่ทำการอุทยานฯ บนเกาะสุรินทร์เหนือ เวลา 13.00 น. ของทุกวัน ถึงท่าเรือคุระบุรี เวลาประมาณ 15.30 น. 
อัตราค่าโดยสารทางเรือ 
 
- เรือโดยสารทั่วไป ค่าโดยสารไป-กลับ ประมาณ 1,100 บาท/คน 
 
- เรือเร็ว ค่าโดยสารไป-กลับ ประมาณ 1,700 บาท/คน

เว็ปไซต์ : www.dnp.go.th

ธรรมชาติ และสัตว์ป่า หมวดหมู่: ธรรมชาติ และสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล กลุ่ม: อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล

ปรับปรุงล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว

แผนที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก

สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์(3)

แลนด์มาร์ก และอนุสรณ์สถาน แลนด์มาร์ก และอนุสรณ์สถาน(6)

ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี(3)

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

วัด วัด(18)

โบสถ์ โบสถ์(1)

สถานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ สถานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ(8)

วิถีชีวิต วิถีชีวิต

หมู่บ้าน ชุมชน หมู่บ้าน ชุมชน(3)

ธรรมชาติ และสัตว์ป่า ธรรมชาติ และสัตว์ป่า

อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล(12)

ดอย และภูเขา ดอย และภูเขา(8)

น้ำตก น้ำตก(21)

น้ำพุร้อน น้ำพุร้อน(2)

ถ้ำ ถ้ำ(12)

แม่น้ำลำคลอง แม่น้ำลำคลอง(4)

อ่าว และชายหาด อ่าว และชายหาด(28)

หมู่เกาะ หมู่เกาะ(11)

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ(7)

บันเทิง และท่องเที่ยวเชิงเกษตร บันเทิง และท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แคมป์สัตว์ และการแสดงสัตว์ แคมป์สัตว์ และการแสดงสัตว์(2)

ฟาร์ม, ไร่, สวน, สวนสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฟาร์ม, ไร่, สวน, สวนสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(2)

กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมผจญภัย กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมผจญภัย(3)

บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร

เมนูอาหารใต้, สูตรอาหารใต้ เมนูอาหารใต้, สูตรอาหารใต้(1)