
เหมืองแร่ทองคำ





สถานที่ท่องเที่ยวนราธิวาส
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
เหมืองแร่ทองคำ อยู่บริเวณบ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ห่างจากชายแดนมาเลเซียเพียง 800 เมตร โดยแหล่งแร่อยู่ในป่าดิบกลางหุบเขา ชาวบ้านเรียกว่าเขาโต๊ะโมะและเขาลิโช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสุไหงโก-ลก เป็นหุบเขาที่ทึบแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ชื้นและฉ่ำฝนอยู่แทบทุกฤดูกาล
จนเป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลิโช อันเป็นสาขาหนึ่งของต้นแม่น้ำสายบุรี และตามสายน้ำที่ไหลคดเคี้ยวลงมาจากป่าลึกและขุนเขานี้เองที่มีผงทองคำปะปนลงมา ชาวบ้านอาศัย "เลียง" เครื่องมือร่อนทำด้วยไม้ รูปร่างคล้ายกระทะ ตักเศษดินเศษหินใต้น้ำขึ้นมาร่อนหาทองคำ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่น้ำจะหลากลงมาจากเขา พัดพาเอาเกล็ดทองคำลงมาจมอยู่ก้นลำห้วย
การร่อนทองแบบชาวบ้านดำเนินมาช้านาน ชาวจีนชื่อ "ฮิว ซิ้นจิ๋ว" ซึ่งทำมาค้าขายอยู่แถบไทย-มาเลเซียนำพรรคพวกราว 50 คน เข้าขุดค้นหาทองคำด้วยวิธีการร่อนเอาตามสายน้ำตั้งแต่บ้านกาลูบีขึ้นไปทางต้นน้ำ
จนเกือบถึงเขตแดนมาเลเซีย พวกเขาพบว่ายิ่งใกล้ต้นน้ำเท่าใดปริมาณทองคำที่ติดก้นเลียงยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปผู้คนจำนวนมากก็หลั่งไหลมาแสวงโชค ณ ดินแดน แถบนี้ ประมาณกันว่ามีมากถึงพันกว่าคน และนักแสวงโชคเหล่านั้นก็ร่อนหาทองคำได้ถึงวันละ 1-2 สลึงทีเดียว
เมื่อข่าวการพบทองที่โต๊ะโมะเป็นที่โจษจันกันมากขึ้น รัฐบาลไทยมอบหมายให้ "อาฟัด" บุตรชายของฮิวซิ้นจิ๋ว ซึ่งรับสืบทอดงานขุดหาทองคำต่อจากบิดา เป็นผู้รักษาผลประโยชน์ให้รัฐบาล โดยเก็บภาษีจากชาวบ้านที่เข้าไปขุดค้นหาทองคำ อาฟัดเปรียบได้กับนายอำเภอของโต๊ะโมะในสมัยนั้น
ต่อมาได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น "หลวงวิเศษสุวรรณภูมิ" เขาเป็นบิดาของ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ พนมเทียน และดินแดนสุดแดนใต้อันลี้ลับ เร้นลึกที่เหมืองโต๊ะโมะซึ่งปู่และพ่อเป็นผู้บุกเบิกนี่เอง คือส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจก่อกำเนิดนวนิยายผจญภัยอันแสนโด่งดัง "เพชรพระอุมา" และ ฮิวซิ้นจิ๋ว ก็คือต้นตระกูล วิเศษสุวรรณภูมิ
ดินแดนแห่งขุนเขาและป่าลึกที่เติบโตด้วยทองคำแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนเป็นเหมืองครั้งแรกใน พ.ศ.2473 โดยชาวอังกฤษเข้ามาติดตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองคำอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจึงเลิกกิจการไป ก่อนที่เหมืองทองคำจะดำเนินการอย่างเป็นระบบ และจริงจังใน พ.ศ.2475
เมื่อบริษัทฝรั่งเศสชื่อ Societe d"Or de Litcho เข้ามาสำรวจและพบว่าลึกลงไปในผืนดินของขุนเขาโต๊ะโมะและลิโช ซึ่งอยู่ในแนวเทือกเขาสุไหงโก-ลก มีแร่ทองคำอยู่มาก ที่สำคัญเนื้อทองคำมีเปอร์เซ็นต์สูง จึงได้ขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยทำเหมืองทองคำเป็นเวลา 20 ปี
บริษัทฝรั่งเศสมีราษฎรอพยพเข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองจำนวนมาก กิจการดำเนินไปจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองทองคำต้องปิดตัวลง ชาวฝรั่งเศสเดินทางกลับประเทศ ประวัติศาสตร์แห่งเหมืองทองโต๊ะโมะจึงเปิดบันทึกหน้าใหม่ โดยการดำเนินการของรัฐบาลไทย แต่ทำได้ไม่นาน ก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
เพราะอยู่ในช่วงสงครามจึงต้องสั่งปิดเหมือง เหมืองทองที่เคยคึกคักกลายเป็นเหมืองร้าง พร้อมกับมีข่าวว่าโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) เข้ามาซุ่มอาศัยยังดินแดนแถบนี้ และใช้เป็นขุมกำลังในการเข้าไปโจมตีและรังควานอังกฤษที่ยังครอบครองมลายูอยู่ ต่อมารัฐบาลให้สัมปทานบริษัทเอกชน ดำเนินกิจการอยู่พักหนึ่งก่อนเลิกไป
ปัจจุบันชุมชนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เหมืองโต๊ะโมะให้ผู้สนใจเข้าชมบริเวณที่เคยเป็นเรือนพัก จุดล่องแพและอุปกรณ์ร่อนแร่ทองคำ



แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
ภูมิภาค
|