แกงคั่วหอยขมใบชะพลู เมนูอาหารใต้ สูตรอาหาร
Rating: 5/5 (1 votes)
แกงคั่วหอยขมใบชะพลู เมนูอาหารใต้ สูตรอาหาร แกงพื้นบ้านที่นำหอยขม หรือหอยจุ๊บที่อยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติมาแกงกับใบชะพลูที่หาได้ง่ายเช่นกัน แกงใส่กะทิที่ได้รสชาติหวานมัน รสเผ็ดร้อนเข้มข้นและกลิ่นหอมจากสมุนไพรสดในเครื่องพริกแกงคั่ว ทำให้เกิดความลงตัวในแกงพื้นบ้านจานนี้อย่างน่าประหลาดใจ
คุณค่าทางโภชนาการ หอยขมในตำราแพทย์แผนไทยระบุไว้ว่าทั้งเปลือก และเนื้อหอยมีสรรพคุณช่วยแก้กระษัยต่าง ๆ เช่น แก้ปวดเมื่อย, บำรุงกำลัง, บำรุงถุงน้ำดี และโรคทางเดินปัสสาวะอย่างโรคนิ่ว และเมื่อนำไปแกงกับใบชะพลูซึ่งมีสารออกซาเลตที่สามารถทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอย่างโรคนิ่วได้ถ้ารับประทานมาก นับเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่นำส่วนผสมทั้ง 2 อย่างนี้มาปรุงเพื่อแก้กันจึงทำให้จานนี้สมดุลกินได้อย่างไม่มีปัญหา
ส่วนผสมพริกแกงใต้
- พริกแห้งเม็ดเล็ก 30 เม็ด
- พริกแดงสด 8 เม็ด
- ตะไคร้ 20 กรัม
- ข่าแก่ 10 กรัม
- ผิวมะกรูด 5 กรัม
- กระเทียม 10 กรัม
- ขมิ้น 10 กรัม
- พริกไทยเม็ด 10 กรัม
- กะปิแท้ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำพริกแกงใต้
1. ตั้งครกใส่พริกแห้งลงไป ตำให้ละเอียดจากนั้นใส่พริกแดงสดลงไป ตำให้ละเอียดอีกครั้ง จากนั้นใส่ตะไคร้ ข่าแก่ ผิวมะกรูด กระเทียม และขมิ้น จากนั้นตำให้เข้ากันอีกครั้ง
2. เมื่อเข้ากันแล้วใส่พริกไทยเม็ดลงไป จากนั้นโขลกให้เข้ากันอีกครั้งจนเนื้อละเอียด
3. ใส่กะปิลงไป จากนั้นตำให้เข้ากันอีกครั้ง
ส่วนผสม (สูตรอาหาร)
- หอยขม 500 กรัม
- ใบชะพลู 100 กรัม
- หัวกะทิ 400 ml.
- หางกะทิ 300 ml.
- พริกแกงใต้ 30 กรัม
- น้ำตาลปี๊บ 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 3 1/2 ช้อนโต๊ะ
1. เลือกใบชะพลูที่อ่อน และเคี้ยวได้ จากนั้นนำมาหั่นซอย
2. ตั้งกระทะ ใส่หัวกระทิลงไป ผัดให้หัวกะทิแตกมัน ใช้ไฟกลาง ๆ ผัดจนมีกลิ่นหอม จากนั้นใส่พริกแกงใต้ลงไป จากนั้นผัดพริกแกงให้สุกส่งกลิ่นหอม จากนั้นเติมหัวกะทิลงไปพอประมาณ จากนั้นเร่งไฟผัดให้หัวกะทิกับพริกแกงเดือดอีกครั้ง
3. จากนั้นใส่หอยขมลงไปแล้วผัดให้เข้ากัน จากนั้นเติมหัวกะทิ และหางกะทิเข้าไปเล็กน้อย เร่งไฟให้เดือด จากนั้นใส่ใบชะพลูตามลงไป ผัดให้เข้ากัน ใช้ไฟแรง และหมั่นเติมกะทิ จากนั้นเติมน้ำตาลปิ๊บ และน้ำปลา ลงไป (สามารถใส่เกลือแทนน้ำปลาได้) รอให้ไฟเดือด แล้วใช้ไฟกลางผัดให้เข้ากันอีกครั้ง เป็นอันเสร็จ
อาหารภาคใต้ อาหารพื้นบ้านภาคใต้นั้นจะมีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เนื่องจากดินแดนของภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวา จึงทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก
อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป นั้นจะมีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดทะเลทั้งสองด้านจึงมีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย
อาหารใต้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมไทยในสำรับอาหารปักษ์ใต้นั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ ทำให้เกิดตำรับอาหารใหม่มากมาย ล้วนผ่านวิธีการดัดแปลง ปรับปรุงเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน จึงทำให้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภาคอื่นอย่างชัดเจนคือ รสชาติจัด เน้นเครื่องเทศ และมีผักสารพัดชนิดที่เรียกว่า ผักเหนาะ นับเป็นพืชพื้นบ้านหาได้ในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น ลูกเหนียง, สะตอ และยอดกระถิน มากินร่วมด้วยซึ่งจะช่วยบรรเทารสเผ็ดของอาหาร ทั้งมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารส่วนมากนิยมสัตว์ทะเล เช่น ปลาทู, ปูทะเล, กุ้ง, หอย และปลากระบอก ซึ่งจะหาได้ในท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น แกงไตปลา แกงเหลือง มักจะนิยมใส่ขมิ้นปรุงอาหารเพื่อแก้รสคาว เครื่องจิ้มคือน้ำบูดูอาหารพื้นบ้านภาคใต้ที่มีชื่อเสียง
อาหารไทย เป็นอาหารประจำของประเทศไทย ที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าอาหารไทยเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญของประเทศไทย ต้ม, ยำ, ตำ และแกง ส่วนการทำอาหารแบบทอด ผัด และนึ่ง มีที่มาจากการทำอาหารแบบจีน
หมวดหมู่: บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร
กลุ่ม: เมนูอาหารใต้, สูตรอาหารใต้
ปรับปรุงล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม
ไปยังส่วนบน