คั่วกลิ้งหมูสับ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหาร
Rating: 5/5 (1 votes)
คั่วกลิ้งหมูสับ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหาร ที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น "คั่วกลิ้ง" แน่นอน ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน หอมกลิ่นน้ำพริกคั่วกลิ้ง พริกแกงใต้รสชาติจัดจ้าน ผัดรวมกับเนื้อหมูสับ ติดมัน ยิ่งกินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ บอกเลยว่าอร่อย คั่วกลิ้ง เป็นอาหารใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ดร้อน และหอมกรุ่นด้วยเครื่องแกงที่ทำจากสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นพริก ขมิ้น, ข่า, ตะไคร้, กระเทียม, พริกไทย และผิวมะกรูด ซึ่งเราไม่ต้องทำเองมีเครื่องแกงใต้ขายตามตลาด แถมวิธีการทำก็ไม่ยาก
คั่วกลิ้ง เป็นอาหารพื้นบ้านภาคใต้ เป็นการนำเนื้อสัตว์ เช่น หมู, ไก่ และเนื้อวัว มาคั่วกับเครื่องแกงจนแห้ง จนเข้าเนื้อ รสจัด และเข้มข้น นิยมรับประทานคู่กับผักสด เช่นเดียวกับ ลาบของภาคอื่น ๆ ที่เรียกว่า คั่วกลิ้ง มาจากวิธีทำที่ต้องคั่วส่วนผสมกลิ้งไปกลิ้งมาบนกระทะจนแห้งได้ที่
คั่วกลิ้งหมู มีคุณค่าทางโภชนาการ คือ ได้รับโปรตีนจากเนื้อหมู และคุณค่าจากสมุนไพรในเครื่องแกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนผสมหลักจากตะไคร้ และขมิ้น ซึ่งตะไคร้ นั้นเป็นทั้งยารักษาโรค และยังมีทั้งวิตามิน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ, ธาตุแคลเซียม, ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก ส่วนขมิ้น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดมะเร็งในตับ ช่วยบำรุงตับ นอกจากนี้ยังมีสารอาหารหลายชนิด ทั้งวิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินอี และเกลือแร่
ส่วนผสมพริกแกงใต้
- พริกแห้งเม็ดเล็ก 30 เม็ด
- พริกแดงสด 8 เม็ด
- ตะไคร้ 20 กรัม
- ข่าแก่ 10 กรัม
- ผิวมะกรูด 5 กรัม
- กระเทียม 10 กรัม
- ขมิ้น 10 กรัม
- พริกไทยเม็ด 10 กรัม
- กะปิแท้ 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำพริกแกงใต้
1. ตั้งครกใส่พริกแห้งลงไป ตำให้ละเอียดจากนั้นใส่พริกแดงสดลงไป ตำให้ละเอียดอีกครั้ง จากนั้นใส่ตะไคร้ ข่าแก่ ผิวมะกรูด กระเทียม และขมิ้น จากนั้นตำให้เข้ากันอีกครั้ง
2. เมื่อเข้ากันแล้วใส่พริกไทยเม็ดลงไป จากนั้นโขลกให้เข้ากันอีกครั้งจนเนื้อละเอียด
3. ใส่กะปิลงไป จากนั้นตำให้เข้ากันอีกครั้ง
ส่วนผสมคั่วกลิ้งหมู
- หมูสับ 1,000 กรัม
- พริกแกงใต้ 100 กรัม
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
- ผงนัว 1/2 ช้อนชา
- ตะไคร้
- พริกไทยอ่อน
- ใบมะกรูด
- น้ำ
1. เปิดเตาตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำเปล่าเล็กน้อยให้พอผัดพริกแกงใต้ได้ จากนั้นใส่พริกแกงใต้ลงไปจากนั้นค่อย ๆ ผัดให้เข้ากัน ทยอยค่อย ๆ หยอดน้ำไม่ให้ข้นจนเกินไป ผัดจนเกิดกลิ่นหอม จากนั้นปรุงรสชาติ ด้วยน้ำปลา เกลือ น้ำตาลทราย และผงนัว จากนั้นผัดให้เข้ากันดี (จะทำคั่วกลิ้ง อย่าใส่น้ำมันเยอะ เพราะเดี๋ยวคั่วจะไม่กลิ้ง กลายเป็นผัดพริกแกงไป สูตรนี้ใช้น้ำแทนน้ำมัน)
2. จากนั้นนำหมูสับที่ได้เตรียมมาลงมาผัดในกระทะที่พริกแกงคนได้ที่ จากนั้นผัดให้เข้ากัน ค่อย ๆ ผัด จนกว่าจะแห้ง ใช้ไฟกลาง ๆ คั่วไปเรื่อย ๆ
3. เมื่อคั่วกลิ้งแห้ง แล้วให้ใส่ตะไคร้ซอย พริกไทยอ่อน พริก และตามด้วยใบมะกรูดซอย จากนั้นคั่วให้ทุกอย่างเข้ากันดี สังเกตุหมูจะต้องแห้งร่วน กลิ้งไปกลิ้งมาในกระทะได้
4. เมื่อใกล้แห้งร่วนให้เร่งไฟแรง และคั่วอีกครั้งให้ส่งกลิ่นหอม เป็นอันเสร็จพร้อมรับประทาน
ประโยชน์ของสมุนไพรในคั่วกลิ้ง
- ขมิ้น มีฤทธิ์ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ข่า มีฤทธิ์ช่วยป้องกันอาการแพ้ ป้องกันการอักเสบ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส
- หอมแดง มีฤทธิ์ช่วยป้องกันอาการแพ้ ป้องกันการอักเสบ ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส
- ใบมะกรูด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
อาหารภาคใต้ อาหารพื้นบ้านภาคใต้นั้นจะมีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เนื่องจากดินแดนของภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวา จึงทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมาก
อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป นั้นจะมีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดทะเลทั้งสองด้านจึงมีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย
อาหารใต้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมไทยในสำรับอาหารปักษ์ใต้นั้นได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ ทำให้เกิดตำรับอาหารใหม่มากมาย ล้วนผ่านวิธีการดัดแปลง ปรับปรุงเป็นวัฒนธรรมอาหารการกินที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน จึงทำให้มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากภาคอื่นอย่างชัดเจนคือ รสชาติจัด เน้นเครื่องเทศ และมีผักสารพัดชนิดที่เรียกว่า ผักเหนาะ นับเป็นพืชพื้นบ้านหาได้ในท้องถิ่นภาคใต้ เช่น ลูกเหนียง, สะตอ และยอดกระถิน มากินร่วมด้วยซึ่งจะช่วยบรรเทารสเผ็ดของอาหาร ทั้งมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงเป็นอาหารส่วนมากนิยมสัตว์ทะเล เช่น ปลาทู, ปูทะเล, กุ้ง, หอย และปลากระบอก ซึ่งจะหาได้ในท้องถิ่น อาหารพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น แกงไตปลา แกงเหลือง มักจะนิยมใส่ขมิ้นปรุงอาหารเพื่อแก้รสคาว เครื่องจิ้มคือน้ำบูดูอาหารพื้นบ้านภาคใต้ที่มีชื่อเสียง
อาหารไทย เป็นอาหารประจำของประเทศไทย ที่มีการสั่งสมและถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าอาหารไทยเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญของประเทศไทย ต้ม, ยำ, ตำ และแกง ส่วนการทำอาหารแบบทอด ผัด และนึ่ง มีที่มาจากการทำอาหารแบบจีน
หมวดหมู่: บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร
กลุ่ม: เมนูอาหารใต้, สูตรอาหารใต้
ปรับปรุงล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว
สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม
ไปยังส่วนบน