
ศาลเจ้าพ่อวิทยาโยธิน

Rating: 3.3/5 (10 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวน่าน
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ศาลเจ้าพ่อวิทยาโยธิน หากนับเวลาย้อนหลังไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งอยู่ในยุคของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน(ระหว่าง พ.ศ.2436-2461)ชาวเงี๊ยว ชาวม่าน ชาวยอง ได้มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอยู่ริมแม่น้ำน่าน ฝั่งทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านท่าวังผาในปัจจุบัน และประมาณปี พ.ศ.2440 ได้มีกลุ่มพ่อค้าจากอำเภอเมืองน่าน มีทั้งคนจีน คนพม่าและคนเมือง
จากบ้านหัวเวียงเหนือและบ้านหัวเวียงใต้ บ้านสวนตาล บ้านดอนต้นแหลง(ดอนศรีเสริม)นำสินค้าบรรทุกเรือมาขายที่บ้านท่าวังผาและนำสินค้าทางเหนือไปขายในเมือง กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้จะพักแรมอยู่ที่บ้านท่าวังผาหลายวัน เพื่อขายสินค้าและซื้อสินค้าไปขายในเมือง และมีพ่อค้าบางกลุ่มเล็งเห็นว่า บริเวณบ้านท่าวังผาเป็นทำเลที่ตั้งเหมาะสมกับการค้าขาย
จึงพากันตั้งรกรากอยู่ตรงบริเวณดังกล่าว รวมกับกลุ่มคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เดิม รวมแล้วประมาณ 30 หลังคาเรือน อยู่เรียงรายตามริมแม่น้ำน่านสมัยนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นผืนป่ากว้างใหญ่โดยเฉพาะทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นดงดิบมีสัตว์ป่าใหญ่น้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมาย และอีกสิ่งหนึ่งคือ”ศาลเจ้าพ่อ”สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่กับบ้านท่าวังผาและดำรงความศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่เสื่อมคลาย
“ดงเจ้าพ่อ” คนสมัยก่อนให้ความเคารพนับถือกันมาก เพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิและมีอภินิหาร หากใครไปบนบานศาลกล่าวหรืออธิษฐานสิ่งใดมักจะได้ดังใจเสมอจึงได้ร่วมใจกันตั้งศาลขึ้นมาเรียกว่า”ศาลเจ้าพ่อ”
อภินิหารของเจ้าพ่อวิทยาโยธินสร้างความประหลาดใจแก่ชาวบ้านท่าวังผาหรือบ้านใกล้เคียงคือเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2484-พ.ศ.2488 บ้านท่าวังผาอยู่ในแนวที่เครื่องบินของข้าศึกบินผ่านและอยู่ในเขตสงครามทางราชการได้สั่งให้ชาวบ้านท่าวังผาจัดทำป้อมยาม และปืนใหญ่จำลองลวงข้าศึกคือบ้านใครมีเกวียนก็ให้เอาฟางข้าวมัดรวมกันแล้วตั้งเอาด้านหน้าขึ้นบนฟ้าเพื่อให้ดูคล้ายปืนต่อสู้อากาศยานเมื่อมองมาจากด้านบน ป้อมยามเตือนภัยดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บริเวณหลังค่ายต.ช.ด.ในสมัยนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างอยู่ด้านทิศตะวันออกค่อนไปทางเหนือ ของรร.บ้านท่าวังผาประชารัฐวิทยาคาร)
อภินิหารของเจ้าพ่อปรากฏชัด เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่2 คืนหนึ่งเครื่องบินข้าศึกได้ทิ้งระเบิดลงมาเป้าหมายคือต้องการทำลายตลาดบ้านท่าวังผาซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจที่สำคัญแต่ระเบิดกับตกลงมายังบริเวณศาลเจ้าพ่อวิทยาโยธิน หัวลูกระเบิดทิ่มฝังลงดินเกือบครึ่งแต่ระเบิดไม่แตก ขณะเดียวกันข้าศึกได้ระดมยิงลงมาอย่างหนัก หมายจะเอาชีวิตคนในหมู่บ้านท่าวังผาทั้งหมด (อ.สนิท ไชยช่อฟ้าตอนเด็กๆยังเก็บปลอกกระสุนปืนมาเล่น)
แต่ก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียวทั้งยังไม่มีใครได้ยินหรือรู้เรื่องอะไรเลย แต่ชาวบ้านแถว ต.แงง อ.ปัว กลับได้ยินเสียงปืนและคิดว่าคนท่าวังผาเสียชีวิตหมดแล้วจึงได้พากันมาดูในเวลาต่อมา จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าทำไมข้าศึกถึงได้ทิ้งระเบิดลงตรงนั้นทั้งที่ไม่มีบ้านเรือนสักหลังเดียว หรือว่าข้าศึกได้ทิ้งระเบิดและระดมยิงปืนลงตรงกลางหมู่บ้านพอดี แต่เจ้าพ่อปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินลูกหลานชาวบ้านท่าวังผาให้รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงโดยได้แสดงอภินิหารปัดลูกระเบิด
และกระสุนปืนให้ไปตกที่บริเวณดงเจ้าพ่อซึ่งไม่มีบ้านคนก็เป็นได้ จากเหตุการณ์เหลือเชื่อในครั้งนั้น เป็นที่กล่าวขานว่าเจ้าพ่อได้แสดงอภินิหารปกป้องชาวบ้านท่าวังผาทุกๆคน จึงเป็นที่เคารพเลื่อมใสเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกหลานบ้านท่าวังผาและหมู่บ้านใกล้เคียงและยังแสดงความเคารพนับถือโดยจัดขบวนแห่เข้าสู่ดงเพื่อบวงสรวงและขอขมาเจ้าพ่อ ในวันที่ 17 เมษายน ของทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนชื่อ”วิทยาโยธิน”นั้นมารู้เมื่อสมัยกำนันภราดร ศรีวรรณนุสรณ์ กำนันตำบลท่าวังผาในสมัยนั้น มีคำเล่าลือกันว่ามีชาวบ้านไปถามท่านพระครูเนกขัมมาภินันท์หรือหลวงพ่อวัดดอนตัน ซึ่งในนิมิต(ฝัน)ของหลวงพ่อดอนตัน เจ้าพ่อบอกว่าท่านชื่อ”วิทยาโยธิน”และเล่าขานกันต่อไปว่าท่านเป็นทหารมาจากเมืองอยุทธยา ขึ้นมาร่วมรบในสงครามขยายดินแดนทางภาคเหนือ เมื่อท่านเสียชีวิตลงวิญญาณของท่านจึงสิงสถิตอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า”ดงเจ้าพ่อ”ที่มาชาวบ้านก็เรียกกันว่า “ดงเจ้าพ่อวิทยาโยธิน”มาจนถึงปัจจุบัน
เดิมทีนั้นศาลเจ้าพ่อมีรูปทรงคล้ายศาลเพียงตา แต่ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าของชาวบ้าน กำนันภราดร ศรีวรรณนุสรณ์ จึงได้นำชาวบ้านทำการบูรณะและจัดทำป้ายชื่อ “ศาลเจ้าพ่อวิทยาโยธิน”เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2518
และยังมีผู้ที่ประสพความสำเร็จด้านโชคลาภอีกท่านคือกำนัน นิกุล ผิวอ่อนท่านได้ทำการบูรณะเมื่อ กรกฎาคม 2524นอกจากนั้นยังมีเทศบาลตำบลท่าวังผาโดยนายกสุเชษฐ์ พันธ์แก้ว ได้ทำการบูรณะอีกครั้งเมื่อ ปี พ.ศ.2551
อนึ่งตำนานนั้นเป็นคำบอกเล่าต่อๆกันมาจากรุ่นปู่สู่รุ่นหลานเหตุการณ์ช่วงเวลาบางอย่างอาจคลาดเคลื่อนขาดตก ในบางประเด็นและการเรียบเรียงใจความอาจบกพร่องไม่ครบถ้วนเนื่องจากผู้เขียนได้เขียนมาจากคำบอกเล่าจากผู้รู้หลายยุคหลายท่าน ซึ่งบางท่านก็ประสพด้วยตนเองบางท่านได้ฟังมาจากคำบอกเล่าอีกต่อหนึ่ง และเพื่อความถูกต้องขอเชิญผู้รู้ได้ช่วยเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ เพื่อช่วยกันสืบทอดเจตนารมณ์ไว้ให้กับลูกหลานและบ้านท่าวังผาของเรา




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage