
การแต่งงานชาวเขมรสุรินทร์

Rating: 3.6/5 (5 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวสุรินทร์
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ช่วงเวลา ได้ตลอดปียกเว้นช่วงเข้าพรรษา และเดือนห้า (หรือในเดือนเมษายน) โดยแต่ละคู่ที่จะจัดพิธีแซนการ์ (หรือแต่งงาน) จะกำหนดงาน 2-3 วัน ซึ่งจะแบ่งเป็นวันรวมญาติพี่น้องหรือวันสุขดิบ วันแต่ง และวันส่งตัว
ความสำคัญ เป็นประเพณีไทยที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนทุกคนเพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูล
พิธีกรรม หนุ่มสาวไทยเขมรในปัจจุบันมีอิสระในการเลือกคู่ เมื่อรักใคร่กันแน่นอนแล้ว พ่อแม่ฝ่ายชายก็จะมาเยี่ยมเยียน ทำความคุ้นเคยจากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มต้นด้วยการทาบทามด้วย เหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดตามแต่จะพอใจ ถ้าตกลงก็จะนัดวันแต่งงาน
การเตรียมตัวเจ้าสาว โดยฝ่ายเจ้าสาวเตรียมทำฟูก(ที่นอน) หมอน ผ้าสมมา(ผ้าไหว้) ญาติผู้ใหญ่ให้ครบ จะเตรียมเจียนหมากตากแห้งไว้เป็นของชำร่วยแจก โดยตัวเจ้าสาวเองต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ก่อนถึง "ไงแซนการ์" หรือวันแต่ง
การเตรียมตัวเจ้าบ่าว ต้องเตรียมหมากแห้งไว้แจกแขกเช่นกัน โดยทำบายศรีสู่ขวัญเจ้าสาว เตรียม "จำแน็ย" คือ อาหารสด ผัก ฯลฯ ตามแต่ฝั่งเจ้าสาวจะเรียกร้องไปใช้ในวันงาน รวมทั้งสินสอดด้วย
จูนจำแน็ย (วันสุกดิบ) ก่อนวันแต่ง 1 วัน เจ้าบ่าวต้องส่งขบวนสัมภาระเหล่านี้ไปบ้านเจ้าสาว ถ้าเกิดมีลางร้ายก็อาจเลิกหรือเลื่อนวันแต่งไปก่อนก็ได้ ไงแซน (วันพิธีแต่งงาน) ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "อาจารย์" เจ้าพิธี เตรียมการดังนี้
1. บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้, เทียน, ข้าวต้มมัด, กล้วย และขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ (เมาะจองได)
2. ปะรำพิธี จะมีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและดอกไม้ ซึ่งสำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา
3. บอนเจาะกราบ (เป็นฟูกนั่งสำหรับบ่าวสาว) อยู่บนฟูกวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" โดยจะวางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พาน, หมากพลู, กรวย, ดอกไม้, ผ้าไหม, เงิน, ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น), ไข่ต้ม ซึ่งจะมีกรวยใบตองคว่ำไว้ และขันน้ำมนตร์ เป็นต้น
4. การแห่ขันหมาก จะมีมโหรีนำหน้าขบวน ซึ่งจะแห่พานบายศรี โดยมีเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษพร้อมบริวาร ถาดขนม, สินสอด และขันหมาก
5. การเข้าสู่ปะรำพิธี ฝ่ายหญิงจะมารับ นำเข้าสู่ปะรำพิธี
6. เบิกตัวเจ้าสาว เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะออกมามอบหมากพลูให้เจ้าบ่าว
7. ซึ่งจากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายนั้นจะมอบ "เฮ็บ" และ"ท็อง" คือ พานสำหรับหมากพลู ซึ่งพ่อแม่เจ้าสาวก็จะแก้ห่อผ้าออกหยิบกิน เป็นการยอมรับ
8. เจาะกราบ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางทับบนหลังมือเจ้าสาว
9. การเซ่นผี อาจารย์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะ มารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่นแล้วยกออกไป
1๐. การเรียกขวัญ อาจารย์จะสวดให้พร แล้วหยิบด้ายมงคลมาปั่นบนหลังมือแล้วปัดรังควานออกจากตัว โยนด้ายทิ้ง หลังจากนั้นอาจารย์จะบอกให้บ่าวสาวหงายมือขึ้น ครั้งนี้มือเจ้าบ่าวจะอยู่ล่าง ญาติพี่น้องจะเข้ามาใช้มือรองรับศอกเจ้าบ่าวไว้ อาจารย์จะใช้ด้ายมงคลปั่นข้อมือบ่าวสาว โดยหันเข้าหาตัว 19 ครั้ง ผู้ร่วมงานจะร้องแซ่ซ้องพร้อมกันว่า "โม…เยอ…" พอเสร็จอาจารย์จะยืนขึ้นเซ่นสรวงเทวดาบนปะต็วล ทุกคนจะร้องรับ "เจ…ยอง…เจ เป็ง…ยอง…เป็ง" อาจารย์จะหยิบอาหาร เครื่องเซ่นมาป้อนบ่าวสาวคนละคำ จากนั้นแขกเหรื่อก็เข้ามาผูกข้อมือ อวยชัยให้พร ให้เงินของขวัญ แล้วจึงกินเลี้ยงกัน
11. การส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน โดยหางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอนและผ้าไหว้ โดยพาแห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำและฟืนไป โดยเจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน
12. การขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาวก่อน แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองเป็นสุข พอขึ้นเรือนแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นและหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความยินยอมพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว
13. การอาบน้ำให้พ่อแม่ฝ่ายชาย ต้องจุดเทียนกราบพ่อแม่ก่อน แล้วนำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่
14. ไหว้และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้มราคา
15. ไหว้เจ้าบ่าว (พละกันเลาะ) โดยเจ้าสาวไหว้ด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม พร้อมสไบสองผืน ส่วนเจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้, น้ำ และเหล้าให้กิน
การเสี่ยงทาย มีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก
จะเห็นว่าการแต่งงานของชาวสุรินทร์นั้นเน้นการขอบคุณและระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษและยังไม่ละทิ้งตำนานและความเชื่อเรื่องความรักของเจและยอง จะพบว่าปะต็วล เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี (โรงเรือน) และในขบวนแห่นั้นเต่าเป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของการแห่ และที่สำคัญคือตัญญูปะกำเป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์ เพราะเน้นการระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว



แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
ภูมิภาค
|