
ประเพณีเลี้ยงผีประจำปี





สถานที่ท่องเที่ยวสกลนคร
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ช่วงเวลา จัดขึ้นระหว่างเดือน 4 - 5 (เดือนมีนาคม - เดือนเมษายน) ของทุกปี
ความสำคัญ ประเพณีแซงสนัมประจำกะมอ เป็นประเพณีไทยพื้นบ้านในกลุ่มคนที่เชื่อว่าผีเป็นวิญญาณที่มีอำนาจลึกลับ สามารถทำให้คนเจ็บป่วยได้ การบำบัดรักษามิให้ร่างกายเจ็บป่วยคือ การป้องกันมิให้วิญญาณผีเข้าสิงในร่างได้อีกหลังจากที่ได้ทำพิธีปัดเป่าให้ผีออกไปจากร่างกาย โดยแม่ครูหรือแม่หมอ ทำพิธีเหยา (เยา) คุมผีให้ออกไปแล้ว
เพื่อเป็นการซ่อมเสริมสุขภาพของตน โดยในกลุ่มคนที่รักษาด้วยการเหยาในแต่ละหมู่บ้านจะรวบรวมผู้ที่มีศรัทธาต่อแม่ครู ซึ่งเคยให้การบำบัดรักษาคนมาแล้วให้มาทำพิธีร่วมกันเป็นประจำทุกปี โดยจะมีการจัดทำพิธีขึ้นในหมู่บ้านของตน และนิยมจัดกันระหว่างช่วงเดือน 4 ถึง เดือน 5 ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน โดยดอกไม้ป่าบานสะพรั่งสามารถเก็บมาบูชาแม่ครู และจัดผูกร้อยห้อยตามเสาไม้ โดยเฉพาะดอกจำปา
ซึ่งนิยมนำมาเป็นพวง ๆ ประดับเสากลางลานพิธีกรรม พิธีกรรมเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า "ลงสนาม" หรือในภาษาไทยโซ่ เรียกว่า "แซงสนัม" ซึ่งนอกจากจะเป็นการเลี้ยงผีเชิญผีออกจากร่างแล้ว ยังเป็นการบูชาแม่ครูหรือหมอเหยาไปพร้อมกันด้วย พิธีแซงสนัมประจำกะมอจึงมีความสำคัญทั้งในเชิงความเชื่อในด้านการตรวจสุขภาพมิให้เจ็บป่วยจากวิญญาณผีร้ายและเป็นการตอบแทนแม่ครูที่เคยรักษาตนให้พ้นจากความเจ็บป่วยที่ผู้เจ็บป่วยหรือ "ลูกแก้ว" จะพบปะแม่ครูทำพิธีตอบแทนบุญคุณแม่ครูปีละ 1 ครั้ง ตลอดไป
พิธีกรรม พิธีกรรมในงานลงสนามเลี้ยงผี โดยปกติจะจัดขึ้น 2 วัน โดยช่วงก่อนถึงวันงานจะมีผู้ที่ได้รับการอุปโลกให้เป็นหัวหน้า กลุ่มผู้ทำพิธีที่เรียก "ลูกแก้ว" จะปรึกษาหารือกำหนดวันลงสนาม ติดต่อนัดหมายกับแม่ครู รวมทั้งรวบรวมเงินทองที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายในวันทำพิธีกรรมและค่าตอบแทนแม่ครู (บ้านกกส้มโฮง ตำบลกุสุมาลย์ เก็บคนละ 2๐๐ บาท รวม 19 คน) ครั้นถึงวันงานในภาคเช้าจะช่วยกันทำตูบทำผาม (ปะรำพิธี)
ปะรำพิธีจัดขึ้นไม่ยากนัก โดยหาบริเวณที่เป็นลานกว้างด้านหนึ่งจะปลูกร้านปักเสาเป็นล็อคๆ ให้มีความกว้างยาวพอที่จำนวนลูกแก้ว และแม่ครูจะนั่งทำพิธีหรือนอนพักผ่อนในเวลากลางคืนได้ รวมทั้งมีพื้นที่จะวางเครื่องใช้สิ่งของที่จำเป็นปกคลุมหลังคาด้วยวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น หญ้าแฝก ผ้าใบ ผ้าร่ม ด้านหนึ่งของปะรำพิธีหาแผ่นไม้หรือแผ่นสังกะสีกั้นไว้มิให้โล่งแจ้งเพื่อวางเครื่องบูชาของลูกแก้วแต่ละคน
ปัจจุบันอาคารที่ใช้นั้นส่วนมากทำพิธีมักปลูกคล้ายปะรำยาว ๆ ทรงหมาแหงน โดยสำหรับหมู่บ้านที่มีเต้นท์ ผ้าใบชนิด 2 - 3 ห้อง จะสามารถนำมาใช้ได้อย่างสะดวกเพียงแต่หาสังกะสีมากั้นด้านหนึ่งก็เพื่อจะบดบังเครื่องบูชาไม่ให้โล่งแจ้งเกินไปนัก
การจัดเตรียมอีกส่วนหนึ่งคือ การทำเสากลางลานพิธีไว้รำ ตกแต่งด้วยดอกไม้ โดยเฉพาะดอกจำปา โดยจะนำมาร้อยเป็นพวง แขวนไว้ตามปลายร่มขนาดใหญ่ รอบ ๆ ทัเสากลางลานพิธี จะมีโอ่งน้ำ กาละมัง มักจะใส่น้ำไว้ใช้คล้ายเป็นอ่างน้ำมนต์ใช้ลูบหน้าเวลาร้อน ใช้ตักน้ำรดแม่ครูและลูกแก้วด้วยกันตลอดจนใช้ลอยเรือกาบกล้วยนั้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ ส่งเคราะห์ส่งผีคืนสู่ถิ่นเดิมของตน
การตกแต่งเสากลางลานพิธี เสาไม้ต่าง ๆ โดยมักนิยมนำดอกไม้มาประดับ เช่น ดอกรัง, ดอกจิก และดอกจำปา โดยในช่วงการจัดพิธีลงสนามเป็นช่วงฤดูดอกไม้บานดังคำกลอนที่กล่าวว่า "เดือนสามค่อย (คล้อย) ดอกไม้บานคี่ (คลี่) เดือนสี่ค่อยดอกไม้บานหลาย"
ในการตกแต่งปะรำพิธี หมอเยาบางคนจะใช้ไม้อัดแผ่นมาทำเป็นรูปตัวช้างม้า ทาด้วยสีเหลือง หมายถึงเป็นสัตว์พาหนะเชิญให้ผีมาประทับร่างตนและส่งผีกลับที่เดิม
ลูกแก้วทุกคนที่เข้าร่วมพิธีจะเตรียม หมอน 1 ใบ ขันธ์ 5 ซึ่งจะประกอบด้วยเทียน 5 เล่ม ดอกไม้ 5 มัด เงินค่าพิธี แล้วแต่ละแห่งกำหนด (เช่น 1 บาท 5 สลึง หรือ 6 สลึง) โดยอุปกรณ์ในการเสี่ยงทาย เช่น ดาบ (ง้าว) ข้าวสาร เป็นต้น โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีผู้จัดหาไว้ให้แม่ครูรวมทั้งเสื้อผ้าที่จะแต่งเมื่อทำพิธีและอุปกรณ์เสี่ยงทายบางอย่างเช่น ไข่ไก่ 1 ฟอง และเหรียญบาท 5 เหรียญ เป็นต้น ตลอดจนการเตรียมหมอแคน, ดนตรี และกลอง
ก่อนเวลาเที่ยงวันนั้นหมอเยาจะแต่งตัวเข้าสู่ปะรำพิธีพร้อมด้วยลูกแก้ว ทุกคนเข้าประจำที่ของตน โดยลูกแก้วนั่งประนมมือบูชาครู แม่ครูพนมเพื่อเชิญผีเข้าสู่ร่างตน (มีแม่ครูคำสี ศรกายสิทธิ์บ้านใต้ มีผี 2 ตัว ที่เชิญเข้าทรง คือ อ้ายคำแดง และนางสายทอง) โดยร่างกายจะสั่นไหว โดยเมื่อผีเข้าประทับร่างแล้วจะทำพิธีเสี่ยงทายว่าจะเริ่มพิธีกรรมเชิญผีอื่น ๆ ได้หรือไม่
การเสี่ยงจะใช้การจับเหรียญเงินวางไว้ที่นิ้วมือ และการตั้งไข่ไก่ที่ฝ่ามือ โดยถ้าหากวัสดุไม่ร่วงจากนิ้วมือจากฝ่ามือ แสดงว่า ได้ถึงเวลาทำพิธีได้แล้ว แต่ถ้าวัสดุร่วงหล่นแม่ครูจะยังไม่ทำพิธี จะรอเวลาแล้วทำการเสี่ยงทายใหม่ จนให้แน่ใจว่าควรเริ่มพิธีได้แล้วพิธีกรรมในขั้นต่อไปคือ การขับลำเชิญผีทั้งหลายให้ลงมารับรู้การเลี้ยงผีประจำปีครั้งนี้ โดยหลังจากนั้นบรรดาแม่ครูและลูกแก้วจะออกฟ้อนรำไปรอบ ๆ เสาลานพิธีท่ามกลางเสียงแคนที่บรรเลงเร้าใจ ก็เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารจะหยุดพักหลังจากนั้นก็ทำพิธีบอกกล่าวผี และออกฟ้อนรำเป็นที่สนุกสนานด้วยท่าทางต่าง ๆ ซึ่งในบรรดาผู้ทำพิธีเชื่อว่าเป็นความต้องการของผีให้ทำเช่นนั้น
การทำพิธีเลี้ยงผีจัดขึ้นในครึ่งวันแรก กลางคืนและวันรุ่งขึ้นในช่วงเช้าและบ่าย ผู้เข้าประกอบพิธีจะใช้เวลากับการฟ้อนรำและให้แม่ครูปัดเป่าให้ร่างกายตนแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ หลังจากนั้นจึงเสี่ยงทายมีการทำกระทงหน้าวัวเพื่อสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณผี บางแห่งทำเป็นเรือกาบกล้วยลอยน้ำไปเป็นเสร็จพิธีกรรม หลังจากนั้นแม่ครูหรือหมอเยาจะกลับบ้านช่องถิ่นฐานของตน
สาระของพิธีกรรมเลี้ยงผีลงสนามของชนกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กลุ่มผู้ไทยโซ่ ญ้อ โย้ย กะเลิง ลาว ที่เชื่อในเรื่องวิญญาณทำให้เกิดความเจ็บป่วย เชื่อว่าผีทุกชนิด เช่น ผีมูล (ผีบรรพบุรุษ) ผีน้ำ ผีป่า ผีนา ผีฟ้า ทำให้เจ็บป่วยได้ ทั้งนี้เพราะการทำนาหาของป่าต้องเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ การรักษาสุขภาพที่ดีคือการปัดเป่าขอร้องให้ผีออกจากร่างกายด้วยผู้ที่มีความรู้ มีอำนาจเหนือกว่าตน ด้วยการจัดทำพิธีเลี้ยงผีและเลี้ยงหมอเยาไปพร้อม ๆ กัน นับเป็นการรักษาสุขภาพ ตามระบบความเชื่อดั้งเดิมแบบพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งที่ยังมีอยู่ในชนบทภาคอีสาน



แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage