Rating: 4/5 (5 votes)
อุทยานแห่งชาติภูพาน
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 06.00 - 18.00 น.
อุทยานแห่งชาติภูพาน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอเมืองสกลนคร อำเภอพรรณานิคม อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และอำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอกุดบาก จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ประมาณ 655 ตารางกิโลเมตร หรือ 415,838 ไร่
ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2525 ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูน เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร และห้วยต่าง ๆ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ ค่าง ชะมด ลิงลม
ภายในอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่
ด้านประวัติศาสตร์
พระธาตุภูเพ็ก อยู่บนเทือกเขาภูพาน เป็นพระธาตุเก่าแก่สมัยขอมเรืองอำนาจ สร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลงในลักษณะของเทวาลัย
ถ้ำเสรีไทย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4.5 กิโลเมตร เป็นถ้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ฝ่ายเสรีไทยได้ใช้เป็นที่สะสมอาวุธ และเสบียง เพราะเป็นทำเลที่เหมาะสม ปกปิดด้วยป่าไม้ที่เขียวชอุ่ม และบริเวณเดียวกันมีร่องรอยการขุดแต่งเป็นสนามบินลับด้วย
ด้านธรรมชาติ
เทือกเขาภูพาน เป็นขุนเขาแห่งประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนรู้จักมากที่สุด แต่เป็นดินแดนที่น้อยคนนักที่ได้ไปสัมผัสความงามธรรมชาติ โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างจังหวัดสกลนคร-กาฬสินธุ์
น้ำตกคำหอม และโค้งปิ้งงู อยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 14 กิโลเมตร น้ำตกคำหอมอยู่ใกล้กับน้ำตกตาดโตน และเขตพระราชฐาน บริเวณใกล้เคียงกันจะเป็นที่ตั้งของน้ำตกต่าง ๆ อีกหลายแห่ง เช่น น้ำตกเหวสินธุ์ชัย น้ำตกสามหลั่น น้ำตกสาวไห้ ผาหินซ้อน อยู่ท่ามกลางป่าไม้ที่ร่มเย็น และหน้าทางเข้าน้ำตกคำหอม
บนถนนสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ เป็นช่วงที่คดเคี้ยวไปมาเหมือนกับงูเลื้อย หรืองูที่ถูกปิ้งที่มีไหล่ทางลดหลั่นลงมา มีหลักกิโลเมตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตั้งอยู่ริมทาง ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม การคมนาคมเข้าแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้สะดวก และปลอดภัย สามารถเดินทางเข้าถึงตลอดทั้งปี สำหรับน้ำตกต่าง ๆ จะมีน้ำเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น
ผานางเมิน และลานสาวเอ้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ตามเส้นทางเดินเท้าประมาณ 700 เมตร และ 2 กิโลเมตร ตามลำดับ สองข้างทางจะเป็นป่าพลวงไปตลอดถึงริมหน้าผา ผานางเมิน เป็นลานหินทอดยาวหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมองเห็นธรรมชาติเบื้องล่างได้อย่างชัดเจนสวยงาม เหมาะแก่การตั้งค่ายพักแรม และดูพระอาทิตย์ตก
ส่วนด้านล่างหน้าผามีทางเดินไป ลานสาวเอ้ (คำว่า เอ้ เป็นภาษาอีสาน หมายถึง การแต่งตัวมาอวดกัน) ซึ่งเป็นลานหินธรรมชาติที่สวยงาม อยู่ท่ามกลางป่าเขา และบริเวณหน้าผาสูงชัน ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะได้พบเห็นดอกไม้ เช่น ดุสิตา กระดุมเงิน สร้อยสุวรรณขึ้นสลับสี เป็นทุ่งกว้าง เหมาะสำหรับพักผ่อน ถ่ายภาพ และชมธรรมชาติ
ผาเสวย อยู่ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ ลักษณะเป็นหน้าผาที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ณ ที่แห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จและประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงได้ชื่อว่า ผาเสวย มาตั้งแต่บัดนั้น
น้ำตกห้วยใหญ่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12 กิโลเมตร ลักษณะเป็นลำน้ำที่ยุบตัวลง ลดหลั่นเป็นชั้น ๆ รายล้อมด้วยสภาพป่าเขาทึบที่ร่มเย็น
น้ำตกปรีชาสุขสันต์ ตั้งอยู่ในเทือกเขาภูพาน อำเภอเมืองสกลนคร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 24 กิโลเมตร และห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 50 กิโลเมตร ตามเส้นทางสกลนคร-อุดรธานี ลักษณะเป็นน้ำตกที่ไหลมาตามลานหินลาดเขาลดหลั่นเป็นชั้น บางช่วงคล้ายสไลเดอร์ มีความยาว 12 เมตร อยู่ท่ามกลางสภาพป่าไม้ที่สมบูรณ์ สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย น้ำจะมีมากในฤดูฝน การคมนาคมสะดวก สามารถเข้าถึงตัวน้ำตกได้ตลอดปี
สะพานหินธรรมชาติ (ทางผีผ่าน) มีลักษณะเป็นสะพานหินที่เชื่อมต่อระหว่างหินสองกลุ่มขนาด กว้างของสะพานประมาณ 1.5 เมตร ยาว 8 เมตร ด้านใต้เป็นเวิ้งถ้ำกว้างใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝนได้ นับเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระยะทาง 1 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บริเวณผานางเมิน ลานสาวเอ้ แก้งขี้ลิง เขตป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง แล้วกลับสู่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติอีกครั้ง และตลอดเส้นทางเดินป่ามีจุดสำหรับการศึกษาธรรมชาติในเรื่องของสภาพป่าไม้โดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานฯ เฟิร์น หินทราย มอส และไลเคนส์ ลานสาวเอ้ ต้นไม้เพื่อนรัก เป็นต้น ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง
อุทยานฯ มีบริการบ้านพัก สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูพาน ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 47000 โทร. 0 4270 3044 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขตบางเขน กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760
การเดินทาง ตามเส้นทางสกลนคร-กาฬสินธุ์ ทางหลวงหมายเลข 213 กิโลเมตรที่ 10-11 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 25 กิโลเมตร
เว็ปไซต์ : www.dnp.go.th
หมวดหมู่: ธรรมชาติ และสัตว์ป่า
กลุ่ม: อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์ทางทะเล
ปรับปรุงล่าสุด : 11 ปีที่แล้ว