Rating: 1.9/5 (74 votes)
เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน
เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน ภาคอีสานเป็นแหล่งรวมกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง 3 กลุ่ม จึงมีเพลงพื้นบ้านแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว กลุ่มชนกลุ่มนี้ ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และบางส่วนของจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มชนนี้ใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาอีสาน เพลงพื้นบ้านของกลุ่มวัฒนธรรมไทย- ลาว มี 2 ประเภท คือ หมอลำ และเซิ้ง
1.1 หมอลำเป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมมากในภาคอีสาน ได้มีพัฒนาการแสดงเป็นคณะ โดยมีการฝึกหัดเป็นอาชีพ ซึ่งจะรับจ้างไปแสดงในงานต่างๆ มีทำนองลำ เรียกตามภาษาถิ่นว่า "ลาย" ที่นิยมมีด้วยกัน 4 ลาย คือ 1. ลายทางเส้น 2. ลายทางยาว 3. ลายลำเพลิน 4. ลายลำเต้ย โดยเนื้อเพลงพื้นบ้านภาคอีสาน ได้แก่ ลายลำเต้ย
1.2 เซิ้ง หรือลำเซิ้ง คำว่า "เซิ้ง" หมายถึง การฟ้อนรำ เช่น เซิ้งกระติบ หรือทำนองเพลงชนิดหนึ่ง เรียก ลำเซิ้ง เซิ้งทั่วไปมี 3 แบบ คือ เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งเต้านางแมว และเซิ้งเต้านางด้ง การเซิ้งนี้มักจะเป็นกลุ่มย่อยๆ ตั้งกระบวนแห่ไปขอปัจจัย เพื่อร่วมทำบุญงานวัด
2. เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย (กูย) เป็นกลุ่มประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ มีภาษาของตนเอง คือ ภาษาเขมร และภาษาส่วย(กูย) ซึ่งต่างไปจากภาษาถิ่นอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านที่เรียกว่า "เจรียง" ซึ่งแปลว่า ร้อง หรือขับลำ
การเล่นเจรียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีทั้งที่จัดเป็นคณะ และเล่นกันเองตามเทศกาล เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
2.1 เจรียงในวงกันตรึมวง ซึ่งเป็นวงดนตรีประกอบด้วย ปี่ออ ปี่ชลัย กลอง กันตรึม ฉิ่ง ฉาบ กรับ ปัจจุบันมีซออู้ และซอด้วงด้วย เมื่อเจ้าภาพจัดหาวงกันตรึมมาเล่น ก็จะมีการร้องเพลง คือ เจรียงประกอบวงกันตรึม เนื้อร้องจะเลือกให้เข้ากับงานบุญกุศลนั้นๆ หรือตามที่ผู้ฟังขอมา
2.2 เจรียงเป็นตัวหลัก ในวันเทศกาล ชาวบ้านที่มีอารมณ์ศิลปินจะจับกลุ่มร้องเจรียงที่จำสืบทอดกันมา ผลัดกันร้อง และรำฟ้อนด้วย เช่น เจรียงตรุษ เจรียงนอรแกว (เพลงร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง)
3. เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช กลุ่มชนวัฒนธรรมไทยโคราช ได้แก่ ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา และบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ เพลงพื้นบ้านของชนกลุ่มนี้ คือ เพลงโคราช ปัจจุบันพัฒนาจากเพลงพื้นบ้านมาเป็นคณะหรือเป็นวง มีการฝึกหัดเป็นอาชีพ รับจ้างแสดงในงานบุญ งานมงคล งานแก้บนท้าวสุรนารี เนื้อร้องโต้ตอบระหว่างชาย-หญิง กลอนเพลงมีหลายแบบ เช่น เพลงคู่สอง เพลงคู่สี่ ใช้ปรบมือตอนจะลงเพลงแล้วร้อง "ไช ยะ"
เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง และเป็นที่รู้จักกันดีเฉพาะถิ่นนั้นๆ ลีลาการขับร้องหรือการฟ้อนรำจึงมีอิสระทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา จึงเป็นที่นิยมของชาวบ้าน ด้วยสาเหตุที่เพลงพื้นบ้านใช้ภาษาถิ่น ใช้ทำนองสนุก จังหวะเร้าใจ เนื้อหาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด อุดมการณ์ ความเป็นอยู่และภูมิปัญญาชาวบ้าน
เพลงพื้นบ้าน นั้นถือว่าเป็นวรรณกรรมชาวบ้านประเภทหนึ่งที่ใช้ร้องเล่นในสังคมท้องถิ่น โดยจะถ่ายทอด สืบทอดกันมาโดยใช้ความจำ ไม่มีการบันทึกให้ทราบถึงผู้แต่ง แต่ส่วนที่มาของเพลงหรือแม้กระทั่งระเบียบวิธีการเล่นก็ใช้จดจำสืบต่อกันมา จึงเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมปากเปล่าหรือวรรณกรรมมุขปาฐะ นับเป็นวัฒนธรรมทางด้านความบันเทิงของชาวบ้านในท้องถิ่น แล้วแพร่กระจายจากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก
เพลงพื้นบ้าน เป็นวิวัฒนาการทางการใช้ภาษาในระดับสูงขึ้นมา เพราะเมื่อสังเกตดูเพลงพื้นบ้านจะเป็นสื่อถ่ายทอดเรื่องราวอันเกิดขึ้นในสังคมชาวบ้านทุกระดับจากระดับชาวบ้านในหมู่บ้าน ตำบล เมือง จนกระทั่งถึงระดับชาติ เมื่อถึงระยะหนึ่งจะมีผู้คิดประดิษฐ์คำให้เรื่องเหล่านั้นมีคำที่ไพเราะ ถ้อยคำคล้องจอง เมื่อถึงระยะหนึ่งก็จะมีผู้คิดใส่ทำนองร้องและใส่เครื่องดนตรีประกอบ ทำให้เพลงพื้นบ้านมีความไพเราะ มีคุณค่าทางด้านให้ความบันเทิงและสะท้อนสภาพสังคมทุกด้าน เราสามารถจะศึกษาชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆจากเพลงพื้นบ้านได้ทั้งสิ้น
หมวดหมู่: บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร
กลุ่ม: รีวิวท่องเที่ยว, รีวิวอาหาร
ปรับปรุงล่าสุด : 6 เดือนที่แล้ว