
วัดโพธาราม





สถานที่ท่องเที่ยวมหาสารคาม
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดโพธาราม เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันท์ บ้านดงบัง ตั้งอยู่บนโพนสูงล้อมรอบด้วยป่าไม้หนาทึบจึงชื่อว่า “ดงบัง” ประชากรเป็นชาวไทยลาว ตั้งบ้านครั้งแรกที่บ้านเก่าน้อย โดยตั้งพร้อมกับบ้านตาบางเขต อ.ปทุมรัตต์
บริเวณที่ตั้งบ้านดงบัง สันนิษฐานว่า เห็นเมืองของเก่า เนื่องจากมีคูน้ำล้อมรอบ มีแท่งศิลาแลงและขุดวัตถุโบราณ กระปุกรูปช้าง และโครงกระดูกจำนวนมาก แต่เดิมมีหอไตรและโบสถ์เก่าสร้างอยู่กลางน้ำเป็นอุทกฺกขเขปสีมา (หรือที่เรียกกันโดยภาษาพื้นถิ่นว่า “สิมน้ำ”) อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์หลังปัจจุบัน ซึ่งเมื่อชำรุดแล้วจึงได้สร้างสิมบกขึ้น โดยพระครูจันดี เจ้าอาวาสองค์ที่ 4 เป็นผู้ออกแบบเดิมมีชื่อว่า “วัดโพธิ์ทอง” มาเปลี่ยนเป็น “วัดโพธาราม” เมื่อ พ.ศ. 2485
เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านอีสาน ฐานสิมยกสูงตั้งอยู่บนฐานประทักษิณซึ่งบกสูงอยู่โดยรอบมีเสานางเรียงรองรับชายคาปีกนกตลอด หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องไม้ (แด่เดิม) มีลำยอง หางหงส์เป็นหัวนาค มีโหง และช่อฟ้า อยู่กลางสันหลังคา เป็นไม้แกะสลักแบบศิลปกรรมอีสานพื้นบ้านที่สวยงามมาก ผนังก่อทึบตลอด เจาะช่องหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง เพื่อต้องการแสงสว่างโดยไม่ทำเป็น บานปิดเปิด พระประธานใช้ พระไม้ ที่แกะสลักอย่างสวยงามตามฝีมือช่างพื้นถิ่นซึ่งให้เอกลักษณ์ทางพุทธศิลป์อย่างเต็มเปี่ยม
ส่วนเพิงด้านหน้านั้นน่าจะทำขึ้นภายหลังเพื่อป้องกันฝนไม่ให้ทำลายตัวนาคที่เฝ้าบันไดทั้งคู่ ซึ่งนับเป็นงานประติมากรรมที่มีคุณค่าสูงเช่นเดียวกัน มีฮูปแต้มทั้งภายในและภายนอกช่างเขียนคือ อาจารย์ซาลาย และนายสิงห์ เป็นชาวบ้านดงบังทั้งคู่ เขียนสีฝุ่นผสมกาวไม่มีรองพื้น ใช้สีของพื้นผนังสิมเป็นสีพื้นของฮูปแต้ม สีที่ใช้มีสีฟ้า เขียว แดง ดำ ขาว วรรณะสีส่วนรวมเป็นสีอ่อนไม่ฉูดฉาด
ภาพที่ต้องการเน้นให้เป็นจุดเด่นสะดุดตา จะเขียนสีตรงข้ามตัดกัน เช่น สีครามตัดเส้นด้วยสีน้าตาล ส้มและดำ เป็นต้น เนื้อหาเป็นเรื่องพระเวสสันดร พระพุทธประวัต พระป่าเลไลยก์ รามสูร-เมขลา และเรื่องสังข์ศิลป์ชัย นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ในอดีต อาทิเช่น การแต่งกาย การไว้ผม สภาพสังคม การทำบุญ ความเป็นอยู่ประจำวัน การเลี้ยงดูบุตร การประกอบอาชีพการค้าขาย การล่าสัตว์ ขับร้องฟ้อนรำ เป็นต้น นับเป็นแหล่งที่ให้ทั้งความงามและความรู้สึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตผู้คนอีสานในอดีตอย่างดียิ่ง




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage