
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

Rating: 3.5/5 (4 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวบุรีรัมย์
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 06.00 - 18.00 น.
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก ตำบลตาเป็ก ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า "พนมรุ้ง" หรือ "วนํรุง" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "ภูเขาใหญ่")
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น
ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอดอันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ
ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน
ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤาษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17
ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16
นอกจากนี้ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า "โรงช้างเผือก"
กรมศิลปากร ได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (ANASTYLOSIS) คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ. 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. 0 4478 2715 โทรสาร 0 4478 2717
การเดินทาง ไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
รถส่วนบุคคล จากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเดินทางไป พนมรุ้งได้ 2 เส้นทาง คือ
1. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-นางรอง (ทางหลวง 218) ระยะทาง 50 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 24 ไป 14 กิโลเมตร ถึงบ้านตะโก เลี้ยวเข้าบ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ทางหลวงหมายเลข 2117 และ 2221)ไปพนมรุ้งเป็นระยะทางอีก 12 กิโลเมตร
2. ใช้เส้นทางสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ทางหลวงหมายเลข 219 เป็นระยะทาง 44 กิโลเมตร จากตัวอำเภอประโคนชัย มีทางแยกไปพนมรุ้ง ระยะทางอีก 21 กิโลเมตร (เส้นทางนี้ผ่านทางแยกเข้าปราสาทเมืองต่ำด้วย)
รถโดยสาร จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ ขึ้นรถสายบุรีรัมย์-จันทบุรี ลงรถที่บ้านตะโกแล้วต่อรถสองแถวหรือรถจักรยานยนต์รับจ้างไปพนมรุ้ง ควรตกลงราคาค่าโดยสารก่อนเดินทาง
รถประจำทาง ถ้าเดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารจากขนส่งบุรีรัมย์ ก็ให้ขึ้นรถโดยสารสายบุรีรัมย์-จันทบุรี พอถึงที่หมู่บ้านตะโก แล้วจึงลงจากรถ จากนั้นจะมีรถสองแถววิ่งไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือไม่ก็นั่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้
โดยทางอื่น ในการเดินทางไปที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งโดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถเลือกเดินทางได้ 2 เส้นทางออกจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ดังนี้
เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) เป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง





แสดงความเห็น

อัลบั้มรูป(6) 

![]() | ● ช่างภาพ: Nupino ● ลิงค์: fotobug.net/forum/thread-2342-1-1 ● ที่มา: fotobug.net |
● ลิขสิทธิ์ภาพเป็นของช่างภาพ (800*500)
● ดูภาพขนาดเต็มได้จากแฟนเพจของช่างภาพ
● ดูภาพขนาดเต็มได้จากแฟนเพจของช่างภาพ
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage