หน้าหลัก > ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ > จ.บุรีรัมย์ > อ.เมืองบุรีรัมย์ > ต.ในเมือง > มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
Rating: 4.6/5 (5 votes)
มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์
มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ตั้งอยู่เลขที่ 439 ถนนจิระ อ.เมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เยื้องศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์บนเนื้อที่ 297 ไร่ 1งาน 27 ตารางวา เดิมที่ดินแปลงนี้กองทัพอากาศใช้เป็นสนามบิน เมื่อเลิกใช้แล้วกองทัพอากาศก็ยกที่ดินส่วนทางด้านทิศตะวันตกให้หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทบุรีรัมย์ ส่วนด้านทิศตะวันออกได้มอบให้จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นสถานที่ตั้งของวิทยาลัยครูบุรีรัมย์
มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ได้เริ่มก่อตั้งเป็น “วิทยาลัยครูบุรีรัมย์” ด้วยความต้องการของทางราชการและประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (นายสุรวุฒิ บุญญานุสาสน์) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของประเทศที่กำลังขาดแคลนวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2514 โดยได้รับงบประมาณ (ปีงบประมาณ 2515) จำนวน 9 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน ไฟฟ้า และประปา เป็นต้น
การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2514 คณะผู้ร่วมดำเนินการระยะแรกคือ อาจารย์วิชชา อัตศาสตร์ (ต่อมาได้เป็นอาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการและอธิการ คนแรกของวิทยาลัยครูบุรีรัมย์) อาจารย์ ดร.พล คำปังค์ , อาจารย์ณรงค์ วิชาเทพ และ อาจารย์เจนวิทย์ ผาสุก วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปีการศึกษา 2515 โดยเปิดสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) มีนักศึกษาภาคปกติ 455 คน ภาคค่ำ 1,358 คน มีอาจารย์ประจำรุ่นแรก 44 คน ในปีการศึกษา 2516 วิทยาลัยได้เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง(ป.กศ.ชั้นสูง) ทั้งภาคปกติและภาคค่ำ
ในปี พ.ศ.2519 วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้รับการยกฐานะให้เป็นวิทยาลัยครูตามพระราชบัญญัติ วิทยาลัยครู พ.ศ.2518 ซึ่งเป็นผลให้วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดจากผู้อำนวยการเป็น “อธิการ” เปลี่ยนรูปแบบองค์กรทางวิชาการจากหมวดวิชาเป็นคณะวิชา และภาควิชา มีสำนักงานอธิการมีการเปิดสอนตามหลักสูตรใหม่ของสภาการฝึกหัดครู ซึ่งเปลี่ยนระบบ 3 ภาคเรียน มาเป็น 2 ภาคเรียน
ในปีการศึกษา 2521 วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 2 ปีหลัง (ค.บ.) เป็นรุ่นแรก โดยเปิดสอนภาคปกติ 6 วิชาเอก คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย พลศึกษา สังคมศึกษา ศิลปศึกษาและวิทยาศาสตร์ทั่วไป และได้เปิดระดับปริญญาตรี 2 ปีหลัง ให้กับครูประจำการในวันเสาร์และวันอาทิตย์(ในภาคเรียนที่ 2) ปีการศึกษา 2521 ด้วยโดยเรียกว่า “โครงการอบรมครูประจำการ” (อคป.) ในปีการศึกษาต่อมาได้เปิดศูนย์ให้การศึกษาสำหรับครูประจำการที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จังหวัดร้อยเอ็ด
วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ได้เปิดหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต (ค.บ.) 4 ปี ครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2524 วิชาเอกที่เปิดคือ ภาษาไทยและวิทยาศาสตร์ทั่วไปเปิดสอนหลักสูตรใหม่ในระดับ ป.กศ. ชั้นสูงอีก 3 วิชาเอก เช่นบรรณารักษศาสตร์ พัฒนาชุมชน และสหกรณ์ พร้อมกับงดรับนักศึกษา ในระดับ ป.กศ.
ปีการศึกษา 2527 มีการขยายฐานการศึกษาไปเป็น “เทคนิคการอาชีพ” ได้เปิดสอนเทคนิคการอาชีพระดับ ป.กศ.ชั้นสูง หลายสาขาคือ การอาหาร ก่อสร้าง กสิกรรม ศิลปกรรม เป็นต้น
ปี พ.ศ.2527 ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 ซึ่ง พ.ร.บ.ใหม่นี้ให้อำนาจวิทยาลัยครูเปิดสอนวิชาอื่นนอกจากสายครุศาสตร์ ดังนั้นวิทยาลัยครูบุรีรัมย์จึงเปิดสอนวิชาการอื่นเพิ่มเติมทั้งในระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีในหลายสาขาวิชา เช่น สัตวบาล เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ พัฒนาชุมชน เป็นต้น และปริญญาที่ผู้เรียนได้รับก็จะมี 3 หลักสูตร คือ ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ศิลปศาสตรบัณฑิต(ศศ.บ.) และวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)
ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏขึ้นมาใช้แทนพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู จึงได้เปลี่ยนชื่อวิทยาลัยครูบุรีรัมย์เป็นสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ตำแหน่งอธิการเปลี่ยนเป็นอธิการบดี คณะวิชาเป็น คณะหัวหน้าคณะวิชาเป็นคณบดีและสามารถเปิดสอนได้ถึงระดับปริญญาเอกโดยยึดหลักปรัชญาว่า เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยพระราชบัญญัตินี้ สถาบันราชภัฎบุรีรัมย์ได้ขยายฐานการศึกษาโดยเปิดโปรแกรมต่างๆซึ่งเป็นที่ต้องการและจำเป็นต่อการพัฒนาท้องถิ่น และได้เปิดสอนในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาบริหารการศึกษาในปีการศึกษา 2541 ในปีการศึกษา 2542 ได้เปิดสอนเพิ่มอีกหนึ่งสาขา คือสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา ปีการศึกษาต่อมาได้เปิดอีกหลายสาขาได้แก่ สาขาหลักสูตรและการสอน สาขาบริหารธุรกิจ สาขาวิจัยและการพัฒนาท้องถิ่นและสาขารัฐประศาสนศาสตร์
ในปี พ.ศ.2547 มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏขึ้นมาใช้แทนพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฎ มหาวิทยาลัยบุรีรัมย์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลทำให้การดำเนินการตามภารกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น มีสภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการ สภาส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยและสภาคณาจารย์และข้าราชการพลเรือน เกิดขึ้น การแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยประกอบด้วยสำนักงานอธิการบดีคณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ สถาบันวิจัย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน
มีโครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานภายใน มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุบริเวณตำบลปะคำและตำบลหูทำนบซึ่งเดิมอยู่ในความดูแลของสถานีวิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์บุรีรัมย์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 1,834 ไร่ 1งาน 32 ตารางวา และกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเมื่อเดือน กรกฎาคม 2548 ซึ่งมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดสร้างเป็นวิทยาเขต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย
เว็ปไซต์ : www.bru.ac.th
โทร : 044611221, 044617589
แฟกซ์ : 044612858
หมวดหมู่: มหาวิทยาลัย
กลุ่ม: มหาวิทยาลัยราชภัฏ
ปรับปรุงล่าสุด : 10 ปีที่แล้ว