Rating: 3.5/5 (4 votes)
ฮีตสิบสองคองสิบสี่
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ชาวจังหวัดอำนาจเจริญ มีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ผีสางเทวดาและธรรมชาติอย่างผสมกลมกลืน ประเพณีและวัฒนธรรมที่ปรากฏทางด้านจิตใจ วัตถุและพิธีกรรมยังเป็นไปตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไป คือ "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" ซึ่งยึดถือปรากฏกันจนมาถึงปัจจุบัน
สาระสำคัญ ฮีตสิบสองเป็นประเพณีไทยที่ชาวอีสานประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล คำว่า "ฮีต" มีความหมายตรงกับคำว่า "รีต" อันหมายถึงจารีตประเพณี ดังนั้น "ฮีตสิบสอง" จึงหมายถึงประเพณีที่ชาวอีสานจะต้องประพฤติปฏิบัติในรอบปีทั้งสิบสองเดือน ถ้าใครฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิด เรียกว่า "ผิดฮีต" สังคมทั่วไปจะตั้งข้อรังเกียจ
ฮีตสิบสองจึงเป็นข้อบัญญัติที่นักปราชญ์ชาวอีสานโบราณ จึงได้บัญญัติขึ้นเพื่อให้คนในชุมชนได้ประกอบกิจกรรมร่วมกัน จึงทำให้คนในชุมชนได้มีโอกาสพบปะกันเดือนละ 1 ครั้ง โดยนอกจากนี้ยังเป็นประเพณีจรรยาทางสังคมอีสานทั่วไป จึงยึดมั่นในการปฏิบัติตามฮีตสิบสองอย่างเคร่งครัด ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยจะเริ่มงานบุญตั้งแต่เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม) ฮีตสิบสอง การทำบุญในรอบปีมี 12 เดือนคือ
1. เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม เป็นการทำบุญกับพระภิกษุที่ต้องอาบัติและเข้าปริวาสกรรม 2. เดือนยี่ บุญคูณลาน เป็นการทำบุญขวัญข้าวที่ลานนวดข้าว 3. เดือนสาม บุญข้าวจี่ คือการจี่ข้าวถวายแด่พระภิกษุ 4. เดือนสี่ บุญพระเวส คือการทำบุญเทศน์มหาชาติ 5. เดือนห้า บุญสงกรานต์ คืองานสงกรานต์ 6. เดือนหก บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีขอฝน
7. เดือนเจ็ด บุญชำฮะ เป็นการล้างสิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรต่าง ๆ 8. เดือนแปด บุญเข้าพรรษา คือการทำบุญเข้าพรรษา 9. เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต 10. เดือนสิบ บุญข้าวสาก เป็นการทำบุญถวายสลากภัต 11. เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา คืองานออกพรรษา 12. เดือนสิบสอง บุญกฐิน คือการทำบุญกฐิน
นอกจากนี้ ชาวจังหวัดอำนาจเจริญยังมีความคิดที่จะพื้นฟู ประเพณีลงข่วง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่า ให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด ประเพณีลงข่วง เป็นประเพณีที่ทำกันในบริเวณลานบ้าน ในช่วงจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยจะมีการชุมนุมระหว่างบ่าวสาว และฝ่ายหญิงจะมีกิจกรรม เช่น ดีดฝ้าย เข็นฝ้าย สาวไหม ขณะเดียวกันฝ่ายชายก็จะมีการร่วมวงโดยมีการ "เล่นสาว" หรือ "เว้าสาว" โดยดีดพิณและเป่าแคนเป็นทำนองพื้นเมืองของชาวอีสาน พร้อมทั้งสนทนาเกี้ยวพาราสีกันด้วยภาษาเฉพาะที่เรียกว่า "ผญาเครือ" หรือ "ผญาเกี้ยว"
คองสิบสี่ คือการครองธรรมสิบสี่อย่าง คือ
1. ฮีตเจ้าคองขุน คือการปฏิบัติระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับขุนนาง 2. ฮีตท้าวคองเพีย คือ การปฏิบัติระหว่างเจ้านายชั้นผู้ใหญ่กับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ 3. ฮีตไพร่คองนาย เป็นการปฏิบัติของราษฎรต่อนายของตน 4. ฮีตบ้านคองเมือง คือกฎระเบียบของบ้านเมือง 5. ฮีตปู่คองย่า 6. ฮีตพ่อคองแม่ 7. ฮีตสะใภ้คองเขย 8. ฮีตป้าคองลุง 9. ฮีตลูกคองหลาน
จาก 5-9 เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติระหว่างคนในครอบครัว 10. ฮีตเฒ่าคองแก่ เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะต้องวางตนให้เป็นที่เคารพของลูกหลาน 11. ฮีตปีคองฮีตเดือน หมายถึงการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีใน 12 เดือน 12. ฮีตไร่คองนา หมายถึงธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในการทำไร่ทำนา 13. ฮีตวัดคองสงฆ์ เป็นหลักสำหรับบุคคลที่ต้องปฏิบัติต่อพระศาสนา 14. ฮีตเจ้าคองเมือง เป็นแบบแผนสำหรับผู้ปกครอง
หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
กลุ่ม: ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
ปรับปรุงล่าสุด : 6 เดือนที่แล้ว