Rating: 3.8/5 (5 votes)
ประเพณีตักบาตรดอกไม้
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
ช่วงเวลา วันเข้าพรรษา
ความสำคัญ เจตนาเดิมของชาวบ้านที่ทำประเพณีนี้เพราะต้องการให้พระที่กำลังเดินขึ้นไปที่พระอุโบสถ โดยเพื่ออธิษฐานเข้าพรรษาได้มีดอกไม้บูชาพระ ชาวบ้านเองก็พลอยเป็นผู้ได้บุญไปด้วย แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นพิธีการใหญ่ โดยมีประชาชนจากท้องถิ่นอื่นมาร่วมงาน ซึ่งขบวนรถแต่ละอำเภอตกแต่งสวยงาม บางครั้งก็มีการโฆษณากิจกรรมของท้องถิ่นตนไปด้วย ซึ่งเป็นงานที่รวมคน รวมความคิด รวมฝีมือ และรวมศรัทธา
พิธีกรรม ที่จริงการนำดอกไม้ถวายพระหรือบูชาพระจะทำเมื่อใดก็ได้ แต่ที่ชาวพระพุทธบาทปฏิบัติกันเป็นพิเศษในวันเข้าพรรษา คือ โดยเมื่อถึงฤดูฝนจะมีดอกไม้ชนิดหนึ่งขึ้นตามเชิงเขา ดอกชนิดนี้มีลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือต้นขมิ้น ซึ่งสูงประมาณ 1 คืบเศษ บางต้นก็มีดอกสีเหลือง บางต้นก็มีดอกสีขาว บางต้นก็มีดอกสีม่วง ซึ่งดอกชนิดนี้จะขึ้นเฉพาะหน้าฝนเข้าพรรษาเท่านั้น ชาวบ้านจะเก็บดอกชนิดนี้มาถวายพระ และเรียกดอกนี้ว่า ดอกเข้าพรรษา
ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์จะทำให้งานนี้เป็นประเพณีไทยที่มีเอกลักษณ์ของชาวสระบุรี เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย จึงให้แต่ละอำเภอจัดตกแต่งรถมาร่วมพิธีนี้ และมีประชาชนจากอำเภอต่างๆ มาร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงวันเข้าพรรษาเวลาบ่าย (เวลาแน่นอนตามแต่จะกำหนด) ขบวนรถต่างๆ
จะเริ่มจากหน้าที่ว่าการอำเภอพระพุทธบาท เคลื่อนขบวนเข้าสู่ถนนสายคู่เพื่อเดินทางมายังมณฑป สองฟากถนนจะมีประชาชนนำดอกไม้พรรษามาคอยใส่บาตรพระและชมขบวนรถด้วย หมดขบวนรถจะมีภิกษุ-สามเณรเดินรับดอกไม้ที่ประชาชนนำมาใส่บาตร เมื่อรับหมดภิกษุ-สามเณรก็เดินขึ้นสู่พระอุโบสถทำพิธีกรรมของสงฆ์อธิษฐานเข้าพรรษา ประชาชนก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
ประเพณีนี้ตามเจตนาเดิมของชาวบ้านก็คือ ได้บุญจากการได้ถวายดอกไม้แด่ภิกษุ-สามเณร และโยงเรื่องนี้ไปถึงแบบอย่างครั้งพุทธกาล ที่เล่าว่านายมาลาการมีหน้าที่เก็บดอกมะลิวันละ 8 กำมือไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์กรุงราชคฤห์ วันหนึ่งขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิอยู่นั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุจำนวนหนึ่ง
นายมาลาการเกิดความเลื่อมใสอย่างมากจึงนำดอกมะลิไปถวายพระพุทธเจ้า โดยมิได้เกรงพระราชอาญาจากพระเจ้าพิมพิสารที่ตนไม่มีดอกมะลิไปถวายวันนั้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็มิได้ลงพระอาญาแก่นายมาลาการแต่อย่างใด กลับทรงพอพระทัยในการกระทำของนายมาลาการ ได้พระราชทานรางวัลแก่นายมาลาการเป็นจำนวนมาก นายมาลาการก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เดิมประชาชนประกอบพิธีกรรมนี้ก็เพื่อรับบุญ หวังผลบุญที่ตนจะได้รับ
หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
กลุ่ม: ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
ปรับปรุงล่าสุด : 6 เดือนที่แล้ว