
พระบวรราชวังสีทา





สถานที่ท่องเที่ยวสระบุรี
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.30 - 16.30 น.
พระบวรราชวังสีทา ตั้งอยู่ที่ตำบลสองคอน ประวัติพระบวรราชวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างที่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งตะวันตก ณ ตำบลบ้านสีทา แขวงจังหวัดสระบุรี สร้างคราวเดียวกับเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่เมืองลพบุรี
เพราะมูลเหตุที่เกิดแต่คราวหาที่สร้างราชธานีสำหรับเวลาสงครามดังกล่าวมานั้น ได้โปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ (พระเชษฐา รัชกาลที่ 4) เสด็จขึ้นไปตรวจเมืองนครราชสีมา ทรงเห็นภูมิลำเนาไม่เหมาะ มาโปรดที่เขาคอก แขวงจังหวัดสระบุรี ว่าเหมือนเป็นป้อมอยู่โดยธรรมชาติจึงทรงสร้างที่ประทับขึ้น ณ ตำบลบ้านสีทา เห็นว่าไปมาถึงเขาคอกได้สะดวก แล้วเสด็จไปประทับ ณ ที่นั้น
เพื่อตกแต่งเขาคอกไว้เป็นป้อมปราการสำหรับต่อสู้ข้าศึกแห่งหนึ่ง ได้เสด็จไปประทับที่วังสีทาเนือง ๆ จนตลอดพระชนมายุ แต่วังนั้นล้วนสร้างเป็นเรือนเครื่องไม้ ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดให้รื้อตำหนักลงมาสร้างวัง พระราชทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ บ้าง ที่เหลืออยู่ก็พังสูญไปหมด
ปัจจุบันนี้ที่ซึ่งเคยเป็นพระบวรราชวังกลับเป็นที่บ้านราษฎรไปอย่างเดิม บริเวณสร้างวังกว้างขวางมาก ประมาณ 150 ไร่เศษ ซากเป็นพื้นก่อเรือนไม้ ก่อด้วยอิฐฉาบปูนเป็นบัวคว่ำหงาย มีรากฐานกว้างประมาณ 10 วา ยาวประมาณ 20 วา โดยคาดว่าสร้างขึ้นเป็น 2 หลัง อิฐสมัยโน้นแกร่งแข็งแรงมาก ขนาดหนา 4 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว
ปัจจุบันนี้ชาวบ้านเอาบริเวณที่สร้างวังเป็นไร่ปลูกข้าวโพด มีการไถทำลายซากเดิมแทบจะสังเกตไม่ออกแล้ว ยังพอมีบริเวณที่เหลือซึ่ง กำนันสุพัฒน์ ฤทธิจำปา กันเอาไว้เป็นที่สาธารณะอยู่อีกประมาณ 4 ไร่เศษ ตรงที่เหลือนี้ ปรากฏเป็นชานประตูก่ออิฐฉาบปูน มีรอยวางแผ่นกระดานทำสะพานยื่นไปยังบึงน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “บึงตลาดไชย” ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตัววังสีเทา ห่างกันประมาณ 100 เมตรเศษ
เล่ากันว่าทรงใช้เป็นที่ประทับสรงน้ำ และเป็นที่ชุมนุมเหล่าสนมกำนัลนางฝ่ายใน เมื่อคราวเสด็จมาพักแรมในฤดูร้อนทุก ๆ ปี เล่าสืบกันมาว่า สนมของพระองค์ทุกนางเก่งในทางแอ่วลาวมากที่สุด จนกระทั่งพระองค์เองสามารถเป่าแคนและแอ่วลาวได้ด้วย ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์กลอนลำแอ่วลาวไว้หลายเล่มสมุดไทย คงเหลือปรากฏอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage