Rating: 4.2/5 (5 votes)
พระราชวังสนามจันทร์
วันเปิดทำการ: วันจันทร์ - วันอาทิตย์
เวลาเปิดทำการ: 09.00 - 15.00 น.
พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางตะวันตก ประมาณ 1 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณซึ่งเดิมเรียกว่า "เนินปราสา" สันนิษฐานว่า เดิมคงเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์ในสมัยโบราณ ใกล้กับเนินปราสาทมีสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกขานกันมาแต่เดิมว่า "สระน้ำจันทร์" (ปัจจุบันชาวบ้าน เรียกว่า สระบัว) อยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์
ครั้นต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯ มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระราชวังที่ประทับขึ้น ณ เมืองนครปฐม สำหรับเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานในโอกาสเสด็จฯ มาสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ และเพื่อประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ทรงเลือกจังหวัดนครปฐม
ด้วยเหตุที่ทรงคุ้นเคยกับภูมิประเทศของเมืองนี้ ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นทำเลที่เหมาะ จึงทรงขอซื้อที่ดินจากราษฎรที่อยู่รอบ ๆ เนินปราสาท เพื่อจัดสร้างพระราชวังขึ้น รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงพิทักษ์มานพ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็น พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลป์) เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2450 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การก่อสร้างพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ ได้ดำเนินการติดต่อกันนานถึง 4 ปี จึงแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า " พระราชวังสนามจันทร์ "
พระราชวังสนามจันทร์ นอกจากเป็นที่แปรพระราชฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชดำริในการสร้างพระราชวังสนามจันทร์ไว้เป็นที่มั่น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับวิกฤตการณ์ของประเทศอันเกิดขึ้นได้ เพราะพระราชวังสนามจันทร์ตั้งอยู่ในชัยภูมิทีเหมาะสม และทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับซ้อมรบเสือป่า
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย นายนาวิน ขันธหิรัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ลิขิต กาญจนาภรณ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายคืนพระราชวังสนามจันทร์
โดยส่งมอบพระที่นั่ง พระตำหนักต่างๆ และเรือนข้าราชบริพาร คืนให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลตามพระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปัจจุบันสำนักพระราชวังได้เปิดให้เข้าชม พระที่นั่งพิมานปฐมและห้องพระเจ้าภายในพระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ เทวาลัยคเณศร์ พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักทับขวัญและอนุสาวรีย์ย่าเหล
ข้อมูลสถานที่สำคัญในเขตพระราชวังสนามจันทร์
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี หนึ่งใน 2 พระที่นั่งที่สร้างขึ้นเมื่อแรกสร้างพระราชวัง ลักษณะเป็นตึก 2 ชั้น เช่นเดียวกับพระที่นั่งพิมานปฐม โดยตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งพิมานปฐมด้านทิศใต้
พระที่นั่งวัชรีรมยา ลักษณะเป็นตึก 2 ชั้น สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามมาก คือ ลักษณะหลังคาเป็นแบบซ้อนลดหลั่นกันลงมาคล้ายยอดปราสาท มุงด้วยกระเบื้องเครือบสี มีคันทวย ช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงษ์ครบถ้วน
บริเวณชั้น 2 มีชานชลาเชื่อมต่อไปยังพรัที่นั่งอภิรมย์ฤดี และพระที่นั่งปฐม พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประทับหลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ลักษณะเป็นท้องพระโรงทรงไทยใหญ่กว้างขวางมีชั้นเดียวยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีอัฒจันทร์ลง 2 ข้าง อยู่ติดกับพระที่นั่งวัชรีรมยาทางทิศเหนือ เดิมใช้เป็นท้องพระโรงเวลาเสด็จออกขุนนางรวมทั้งเป็นที่ประชุมข้าราชการและทหารเสือป่า ตลอดเป็นโรงละครสำหรับแสดงโขน
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระที่นั่งวัชรีรมยา ลักษณเป็นตึก 2 ชั้น สถาปัตยกรรมตะวันตก ผนังด้านนอกฉาบด้วยสีเหลืองนวลหรือสีเปลือกไข่ไก่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดงใช้สำหรับงานเกี่ยวกับเสือป่า หรือเวลาที่เสือป่าเข้าประจำกอง
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นเรือนไม้สีแดง 2 ชั้น อยู่ด้านหลังพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ บริเวณชั้น 2 มีสะพานเชื่อมต่อถึงบ้าน ด้านใต้สะพานระหว่างสองพระที่นั่งเป็นคลอง ตลอดสะพานมีหลังคาและฝากั้น พระที่นั่งองค์นี้ใช้สำหรับเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระตำหนักทับแก้ว ลักษณะเป็นตึกเล็ก หรือบ้านแบบตะวันตกภายในมีเตา หลังคาบริเวณเตาผิงมีปล่องไฟใช้เป็นที่ประทับในฤดูหนาวและใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า กองเสนาน้อยราบเบารักษาพระองค์เดิมเรียกว่า เรือนทับแก้ว ปัจจุบันใช้เป็นบ้านพักปลัดจังหวัดนครปฐม
พระตำหนักทับขวัญ เรียกกันทั่วไปว่าเรือนทับขวัญ ลักษณะเป็นเรือนไทยหมู่ที่สมบูรณ์มาก ฝีมือการสร้างเรียกได้ว่าชั้นครู ปัจจุบันใช้ประกอบการศึกษาเรื่องเรือนไทยได้เป็นอย่างดี
พระตำหนักทับขวัญ ประกอบด้วยเรือนไทยไม้สักทั้งหมด 8 หลัง แบ่งเป็นเรือนไทยขนาดใหญ่ 4 หลัง หันหน้สเข้ากันตามทิศต่างๆ บริเวณมุมทั้ง 4 มีเรือนไทยเล็กเชื่อมอยู่ทั้ง 4 มุม ตรงกลางใช้เป็นระเบียงทรงใช้เป็นที่ประทับบำเพ็ญพระราชกุศล บางครั้งใช้เป็นที่แสดงละครไทยแบบโบราณรวมถึงการใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการเสือป่า กองเสนาน้อยราบหนักรักษาพระองค์ปัจจุบันเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้าศิลปวัฒนธรรมไทย
เทวาลัยคเณศ หรือศาลพระพิฆเนศวร สร้างเป็นที่สถิตของพระพิฆเนศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ ตั้งอยู่กลางสนามหน้าพระที่นั่งต่างๆถือเป็นศูนย์กลางของพระราชวังสนามจันทร์ ปัจจุบันเป็นที่เคารพของประชาชนในละแวกนั้น ส่วนบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นสนามหญ้า ประชาชนได้เข้ามาใช้เป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกายทุกวัน
อนุสาวรีย์ย่าเหล ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยโลหะขนาดเท่าสุนัขจริง ถือเป็นอนุสาวรีย์สนุขแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนี้ ย่าเหลเป็นสุนัขพันทางขนยาวปุกปุย สีขาวสลับน้ำตาลเกิดในเรือนจำนครปฐม พระบาทสมเด็พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบเข้าเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปตรวจเรือนจำ พระองค์ทรงพอพระหฤทัยในความเฉลียวฉลาดขนาดมีรับสั่งขอจากรองอำมาตย์เอกพุทธเกษตรานุรักษ์ (โพธิ์ เคหะนันท์) ครั้งดำรงตำแหน่งพะทำมะรงเรือนจำ มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงชัยอาญา แล้วทรงนำไปเลี้ยงในพระราชสำนัก พระราชทานชื่อให้ว่า ย่าเหล
ย่าเหล เป็นสุนัขเป็นสุนัขที่เฉลียวฉลาด และจงรักภักดีติ่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงโปรดปรานย่าเหลมากเช่นกัน เป็นเหตุให้มีผู้ริษยา และถูกยิงด้วยปืนจนตาย โดยมีผู้พบศพย่าเหล อยู่ข้างกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสอาลัยอาวรณ์ต่อการจากไปของย่าเหลเป็นอย่างมาก หลังจากจัดพิธีศพขึ้นที่วัดพระนครปฐมเจดีย์อย่างยิ่งใหญ่แล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหล ขึ้นที่บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งชาลีมงคลอาสน์ ภายในพระราชชวังสนามจันทร์เพื่อเป็นอนุสรย์ความรักที่พระองค์มีต่อสุนัขคู่ใจ นอกจากนั้น ยังทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนไว้อาลัยจารึกไว้บนแผ่นทองแดงใต้แท่นฐานอนุสาวรีย์ด้วย
เปิดให้บริการในเวลาราชการ วันจันทร์-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00น. ถึง 15.00 น. และบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังสนามจันทร์ ยังมีสวนสัตว์สำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณสวนสัตว์
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ขับมุ่งตรงสู่ จ.นครปฐม โดยท่านจะผ่านแยกนครชัยศรี (ท่านา) และผ่านแยกบ้านแพ้ว และจะรอดใต้สะพานเข้าตัวเมืองนครปฐม (ไม่ต้องขึ้นสะพานนะครับ) จากนั้นขับตรงไปจะพบกับไฟแดงแรก จะมีป้ายบอกเลี้ยวขวาไปองพระปฐมเจดีย์ท่านสามารถไปทางนี้ก็ได้นะครับ (หลักกม.ที่56.3)
ซึ่งท่านจะต้องวิ่งผ่านองค์ปฐมเจดีย์ และขับไปทะลุอีกฝั่งหนึ่งครับ เพื่อไปยังถนนต้นสน และขับตรงไปประมาณ 0.5 กม. ก็จะพบวงเวียน ต่อจากนั้นท่านก็อ้อมวงเวียนเพื่อเลี้ยวเข้าสู่เขตพระราชสนามจันทร์ และถ้าท่านเลยไฟแดงนี้ไปก็จะพบกับไฟแดงถัดมาซึ่งทางนี้ท่านจะเห็นป้ายบอกไปพระราชวังสนามจันทร์ได้เช่นเดียวกันโดยเลี้ยวขวาที่ไฟแดงนี้ ที่หลัก กม.58 สังเกตดูหลัก กม. ข้างทาง พอเลี้ยวตามไฟแดงมาแล้วท่านก็จะพบอีกไฟแดงหนึ่ง ซึ่งทางนี้เป็นทางเข้าพระราชวังสนามจันทร์ และซึ่งติดกับ ม.ศิลปากรวิทยาเขตสนามจันทร์
หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
กลุ่ม: พระราชวัง
ปรับปรุงล่าสุด : 7 ปีที่แล้ว