Rating: 4/5 (9 votes)
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 06:00 - 18:00 น.
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง "สัมผัสลมหนาว เฝ้าชมทะเลหมอก ไม้ดอกตระการตา" คราวสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมถวิลจินตมัย ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2539 ในโอกาสนั้น นายจงนึ่ง ศักดิ์สิทธานุภาพผู้ใหญ่บ้านห้วยแล้งหมู่2ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากโครงการหลวงเพื่อสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับราษฎรในพื้นที่เป็นการเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง จึงถือกำเนิดขึ้นใน พ.ศ.2542 โดยประธานมูลนิธิโครงการหลวงมอบหมายให้ ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี เป็นผู้อำนวยการจัดตั้งพื้นที่โครงการหลวงตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่อิงและป่างาว
ความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 400-1,360 เมตร พื้นที่รับผิดชอบ 76.97 ตารางกิโลเมตร หรือ 48,310 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงขนาบข้างในแนวเหนือ-ใต้ มีที่ราบลุ่มกว้าง ความลาดชันของพื้นที่ปานกลาง
มีลำน้ำสำคัญ อาทิ ห้วยกุ๊ก ห้วยล้าน ห้วยนาน้อย ห้วยหัด ฯลฯ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 16,077.7 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ย 24.7 องศาเซลเซียส/ปี
กิจกรรมท่องเที่ยว
- ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมแปลงพืชผัก ไม้ผล และไม้ดอก โดยเฉพาะไม้ผลท้องถิ่นและเมืองหนาว เช่น สาลี่ ท้อ พลับ อโวกาโด เกาลัด โทมาเมโล มะม่วง ส้มโอ และมะนาว เป็นต้น นอกนั้นยังมีพืชไร่ คือ ถั่วชนิดต่าง ๆ ซึ่งได้ผลค่อนข้างดีท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ
- วนอุทยานภูชี้ฟ้า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดเชียงราย จุดเด่นคือหินขนาดใหญ่ที่ตั้งชูสู่ฟ้า ในฤดูหนาวจะได้ชมทะเลหมอกและอาทิตย์ยามเชา และเมื่อหมอกจากลงจะเห็นภูมิประเทศของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอยู่เบื้องหน้า นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ในบริเวณรอบ ๆ สวยงามน่าชม
- จุดชมวิวผาตั้งและประตูสยาม จุดเด่นคือมีหินงอกและโขดหินขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ตามสันเขาระหว่างไทย-ลาว ในฤดูหนาวจะได้สัมผัสกับอาทิตย์อุทัยท่ามกลางทะเลหมอกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนสี
- น้ำตกห้วยติ้ว เป็นน้ำตกในลำน้ำติ้ว ไหลจากหน้าผาหลายชั้น บริเวณนี้ยังรักษาสภาพป่าไว้อย่างสมบูรณ์และเป็นธรรมชาติมาก เหมาะแก่การเดินป่าอย่างยิ่ง
- น้ำตกห้วยขวาก เป็นน้ำตกจากผาสูงลงสู่ลำห้วยขวาก ซึ่งเป็นลำห้วยขนาดใหญ่พอสมควร จุดเด่นคือป่ายังสมบูรณ์และบรรยากาศเป็นธรรมชาติมาก
- น้ำตกทรายทอง น้ำตกในหุบเขาลึก กระแสน้ำหลั่งจากผาด้านบนมีความสูงขนาดตึก 2 ชั้นครึ่ง
- น้ำตกตาดหมอก น้ำตก 7 ชั้น มีแอ่งน้ำ สามารถท่องตามกระแสน้ำขึ้นไปชมน้ำตก หรือเดินเลาะไปตามทางในสวนของหมู่บ้านได้
- ถ้ำผาแล มีลักษณะเด่นที่ประกอบด้วยถ้ำใหญ่น้อยลดหลั่นกันมากมาย ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปให้นมัสการด้วย
- ถ้ำเพชร ถ้าที่ภายในมีหินงอกหินย้อมงดงาม มีน้ำไหลผ่านตลอดถ้า การเดินชมค่อนข้างลำบากแต่ท้าทายผู้ที่รักการผจญภัยยิ่งนัก
ท่องเที่ยวชมวัฒนธรรมและประเพณี
- ปีใหม่ม้ง เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบมาช้านาน เป็นวะระที่จะพบปะญาติพี่น้องนานถึง 10 วัน จัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ของทุกปี
- กินข้าวใหม่ พิธีกรรมที่จัดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวไร่มีการฆ่าไก่ หมู เซ่นไหว้และกินเลี้ยงฉลอง
- พิธีกรรม พิธีกรรมที่แปลกแต่อาจพบได้เฉพาะกาล ได้แก่ การตายซึ่งมีการเก็บศพไว้ที่บ้านไม่เกิน 7 วัน และฆ่าวัวควายใหวิญญาณติดตามผู้ตายไป และพิธีแต่งงานของชาวม้งที่จะจัดกันเฉพาะข้างขึ้นเท่านั้นเพื่อมิให้เกิดอุปสรรคต่อชีวิตการครองเรือน
ของฝาก
- หัตถกรรมประจำถิ่น สิ่งที่ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านคือการตีมีด และเครื่องใช้ในการเกษตร งานจักสาน การทำอานม้า เป็นต้น ที่พัก
- ผ้าทอมือไทยลื้อ
- เครื่องจักสานของชนเผ่าขมุ การประยุกต์วัสดุธรรมชาติเพื่อการดำรงชีพ
- ผักและผลไม้ปลอดสารพิษ
ที่พัก + ร้านอาหาร
- บ้านพักรับรองภายในศูนย์ฯ จำนวน 1 หลัง ( 2 ห้องนอน ) รับรองได้ 6 คน
- เต็นท์บริการ ขนาด 2 คน
- ไม่มีร้านอาหารบริการภายในศูนย์
การเดินทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 118 สายเชียงใหม่-เชียงราย ผ่านแยกศรีทรายมูล-อำเภอเวียงชัย-พญาเม็งราย-ขุนตาล-เชียงของ (บ้านท่าเจริญ) ถึงอำเภอเวียงแก่น
ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1155 ถึง กม.58 บ้านโล๊ะ หมู่ 3 ให้เลี้ยวขวาแยกเข้าหมู่บ้านห้วยแล้ง หมู่ 2 ตรงไปประมาณ 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์ฯ ประมาณ 5-6 ชั่วโมง
หมายเหตุ ใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท ยกเว้นฤดูฝนต้องใช้รถโฟร์วีลไดร์ฟ หรือใช้บริการรถยนต์รับจ้างสายเชียงราย-เวียงแก่น จุดจอด ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร จังหวัดเชียงราย ราคาค่าโดยสารคนละประมาณ 55 บาท
สถานที่ติดต่อ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง บ้านห้วยแล้ง ตำบลท่าข้าม อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
โทร : 053918441
หมวดหมู่: โครงการในพระราชดำริ
กลุ่ม: โครงการหลวง
ปรับปรุงล่าสุด : 2 ปีที่แล้ว