
สนามมวยลุมพินี




สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
สนามมวยในประวัติศาสตร์ กรุงรัตนโกสินทร์ มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เป็นมรกดทางวัฒนธรรมประจำชาติไทยมาช้านานนับร้อยปี แต่ยังไม่มีการจัดแข่งขันอย่างแพร่หลายเป็นระบบเช่นปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญเชิงมวยไทยสมัยก่อนจะมีโอกาสได้โชว์ฝีมือก็ต่อเมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ประจำปีเป็นครั้งคราว และไม่ได้ยึดเอาการชกมวยเป็นอาชีพแต่คนไทยส่วนใหญ่ที่นิยมฝึกฝนมวยไทยก็เพื่อใช้เป็นวิชาป้องกันตัวเท่านั้น
ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงฟื้นฟูมวยไทยให้เป็นกีฬาประจำชาติ โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างสนามมวยขึ้นภายในบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และจัดให้มีการแข่งขันชกมวยทุกวันเสาร์ ในปี พ.ศ.2464 นั่นคือยุคเริ่มแรกที่ถือว่ากีฬามวยเป็นอาชีพอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย
หลังจากนั้นได้มีการจัดสร้างสนามมวยถาวรขึ้นติดต่อกันมาหลายสนาม อาทิเช่น สนามสวนกุหลาบ ,สนามท่าช้าง,สนามหลักเมือง,สนามสวนเช้าเชตุ,สนามท่าพระจันทร์,เวทีพัฒนากร,เวทีศรีอยุธยา,เวทีธนบุรี ,สนามวยเวทีราชดำเนินและสนามมวยเวทีลุมพินี
สนามมวยในอันดับต้น ๆ เปิดดำเนินการอยู่ได้ไม่นานนัก ก็มีอันต้องยุบเลิกไปด้วยเหตุผลและความจำเป็นต่าง ๆ กัน ที่คงทนถาวรมาจนถึงปัจจุบัน คือสนามมวยเวทีราชดำเนิน ซึ่งเปิดแข่งขันครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488 และสนามมวยเวทีลุมพินี ที่เปิดแข่งขันครั้งแรก เมื่อ 8 ธันวาคม พ.ศ.2499 ตามหลักฐานที่เป็นทางการ
สนามมวยเวทีลุมพินี ได้สร้างชื่อเสียงทั้งในด้านการเสริมสร้างและผลิตนักมวยไทยชั้นนำของประเทศ ส่งเสริมศิลปะมวยไทยให้แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างนักมวยสากลจนสามารถเป็นแชมเปี้ยนโลกหลายคน และมีส่วนส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศด้วยการสร้างอาชีพให้แก่นักมวย,ค่ายมวย ผู้จัดรายการรวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวต่างประเทศเข้ามาชมศิลปะมวยไทย
วัตถุประสงค์
1. สนามมวยเวทีลุมพินี เป็นกิจการของกองทัพบก เพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการกองทัพบก และสนับสนุนหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพบก
2. ผดุงและส่งเสริมศิลปะมวยไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
3. สร้างอาชีพให้แก่นักมวยไทยและสากล ให้เป็นอาชีพที่มั่นคงประเภทหนึ่ง
4. สร้างนักมวยสากลแชมเปี้ยนโลก เพื่อส่งเสริมเกียรติภูมิของชาติไทย
5. ร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน
พื้นที่ เนื้อที่ 1,501.75 ตารางวา (ประมาณ 3 ไร่ 3 งานเศษ) โดยเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ผู้ก่อตั้ง พล.ต.ประภาส จารุเสถียร (ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในขณะนั้น)






แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
ภูมิภาค
|