หน้าหลัก > ภาคกลาง > จ.กรุงเทพมหานคร > อ.พระนคร > ต.พระบรมมหาราชวัง > อินทนิล วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
Rating: 2.3/5 (20 votes)
อินทนิล วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
อินทนิล ขนมไทยชาววัง ขนมโบราณ เป็นขนมชาววังที่ทำจากแป้งผสมกับความหอมที่ได้จากน้ำใบเตย และนำไปกวนจนเหนียว และปั้นเป็นก้อน พร้อมกับนำมาทานคู่กับน้ำกะทิที่เพิ่มความหอมจากการอบควันเทียน ก่อนจะตบท้ายด้วยน้ำแข็งที่ช่วยเพิ่มความอร่อยให้เย็นสดชื่น
อินทนิล ขนมชาววัง ขนมหวานไทย เมื่อทานจะให้รสชาติเหนียวนุ่ม หวานตัดเค็มแบบลงตัว และความหอมจากใบเตยกับกะทิอบควันเทียนในปัจจุบันอาจจะหาทานได้ยากสักหน่อย แต่รับรองว่าเป็นอีกหนึ่งขนมชาววังที่ห้ามพลาดเพราะมีรสชาติละมุนกลมกล่อมให้ความสดชื่นแน่นอน
สูตรลับในการทำขนมอินทนิลให้อร่อย กลิ่นหอมมะลิอบควันเทียน ช่วยเพิ่มความอร่อย และในขั้นตอนการทำน้ำกะทิ นอกจากน้ำลอยดอกมะลิ และใบเตยจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมแล้ว ให้นำกะทิมาอบควันเทียน โดยจะอบควันเทียนประมาณ 4 - 5 รอบ รอบละประมาณ 25 นาที หรือหากใครอยากให้กะทิหอมฟุ้งอบอวลมากยิ่งขึ้นก็สามารถอบเพิ่มได้อีก เพราะจะยิ่งช่วยทำให้ขนมของเราน่าทานมาก
อินทนิล เสน่ห์หนึ่งของขนมไทย คือแม้มีส่วนผสมหลักเพียงสามอย่าง แป้ง, กะทิ และน้ำตาล ก็สามารถเนรมิตขนมให้ออกมาแตกต่างหลากสัมผัสทั้งรูป กลิ่น รส ที่ล้วนเป็นหัวใจของขนมไทย ด้วยการเปลี่ยนกระบวนการทำ ปรับสัดส่วนหรือเพิ่มวัตถุดิบที่หาได้ตามท้องถิ่นนั้น เช่นขนมไทยหากินยากอย่าง อินทนิล มีชื่อที่ไพเราะ รูปงาม เลียนแบบทั้งชื่อ และสีขนมจากไม้ยืนต้นผลัดใบชื่อต้นอินทนิล ที่มีช่อดอกกลีบซ้อนสวยงามสีม่วงสด หรือม่วงอมชมพู ออกช่วงเดือนมีนาคม - มิถุนายน
อินทนิล ในปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนจากสีม่วงน้ำดอกอัญชันเป็นสีเขียวจากใบเตย อาจเพราะใบเตยนั้นหาได้ง่ายกว่า และเพิ่มความหอมให้กับเนื้อขนม ชื่อของอินทนิลในคราบขนมกวนสีเขียวราดกะทิในปัจจุบันจึงไม่ได้บอกเล่าที่มาหรือ มีความหมายกำกับตัวขนม เสน่ห์ที่เปลี่ยนไปพร้อมรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้ความสมบูรณ์ของอินทนิลอาจหล่นหายไปบ้าง
แต่การทำอินทนิลให้สมชื่อทั้งทีจึงควรเป็นสีม่วงจากอัญชันหากไม่เหนือบ่ากว่าแรงนัก และแม้จะใช้สีม่วงจากน้ำดอกอัญชันก็ไม่ทำให้กลิ่นหอมลดลง เพราะคนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับ กลิ่น มากใกล้ตัวตั้งแต่การอบร่ำหีบเสื้อผ้า ทำน้ำอบ น้ำปรุง ไปจนถึงกลิ่นในอาหาร และขนม ด้วยการอบร่ำควันเทียน อบร่ำดอกไม้ จึงไม่ละเลยขั้นตอนการอบร่ำควันเทียนเพื่อให้กลิ่นในขนมอินทนิลหอมจับใจ
อินทนิล ขนมไทยชาววัง ขนมโบราณ นั้นมีส่วนผสมหลักคือแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งแต่เดิมเป็นของมีราคาเพราะต้องนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ อินทนิลจึงเป็นขนมที่ทำเฉพาะในรั้วในวัง และแม้ตัวขนมที่นุ่มหนึบ ลื่นอร่อยกินกับน้ำกะทิสดอบร่ำหอมๆ แล้วจะเข้ากัน แต่หากปัจจุบันส่วนผสมที่หาได้ง่าย เนื่องจากไม่ได้ราคาสูงเหมือนในอดีต เพียงสละเวลามาลองทำขนมไทยอินทนิลกินในครอบครัว แจกเพื่อนฝูงก็คุ้มค่านอกจากส่งความอร่อย ยังสานต่อตำรับขนมไทยอย่างอินทนิลต่อไป
ขนมไทย ขนมโบราณ ขนมหวานไทย นั้นมีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทย คือ จะมีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ วิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน โดยมีสีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีที่ประณีตบรรจง ขนมไทยดั้งเดิม ขนมโบราณ นั้นจะมีส่วนผสมคือ แป้ง, กะทิ และน้ำตาล เท่านั้น
โดยในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่า งานทำบุญ งานแต่ง เทศกาลสำคัญ หรือต้อนรับแขกสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้กำลังคนอาศัยเวลาในการทำพอสมควร โดยส่วนใหญ่เป็น ขนบประเพณี เป็นต้นว่า ขนมงาน เนื่องในงานแต่งงาน ขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมครก ขนมถ้วย ฯลฯ ส่วนขนมในรั้วในวังจะมีหน้าตาสวยงาม และมีความประณีตวิจิตรบรรจงในการจัดวางรูปทรงขนมสวยงาม
สูตรอินทนิล สำหรับ 4 คน
- ดอกอัญชัน 26 ดอก
- แป้งมันสำปะหลัง 3/4 ถ้วย
- น้ำตาลทราย 1 1/2ช้อนโต๊ะ
- เนื้อมะพร้าวอ่อน 1/2 ถ้วย
- น้ำมะนาว 1 1/2ช้อนชา
- ดอกอัญชันสำหรับตกแต่ง
- น้ำอุ่น 2 ถ้วย
กะทิอบควันเทียน
- หัวกะทิ 1 ถ้วย
- น้ำ 1/2 ถ้วย
- เกลือสมุทร 1/4 ช้อนชา
- ใบเตยมัดปม 2 ใบ
- น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ
อุปกรณ์อื่น ผ้าขาวบาง กระทะทองเหลือง ไม้พาย เทียนอบ และถ้วยสำหรับตั้งเทียนอบ
วิธีทำขนมไทย (สูตรขนมไทย)
1. ขั้นตอนแรกเทน้ำอุ่นลงในอ่างใส่ดอกอัญชัน ทิ้งไว้ให้สีในกลีบดอกอัญชันละลายออกมา พอน้ำหายร้อน ใช้มือค่อย ๆ ขยำเบา ๆ เพื่อให้กลีบดอกอัญชันหมดสี กรองน้ำดอกอัญชันผ่านผ้าขาวบางลงในอ่างผสม เตรียมไว้
2. ค่อย ๆ ใส่น้ำมะนาวตามลงในน้ำอัญชันเล็กน้อยแค่พอให้เปลี่ยนเป็นสีม่วง โดยใส่แป้งมันสำปะหลังตามลงไป จากนั้นคนให้เข้ากัน กรองส่วนผสมผ่านตะแกรงลงในกระทะทองเหลือง แล้วใส่น้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน ยกกระทะขึ้นตั้งบนไฟอ่อน ใช้ไม้พายกวนแป้งไปเรื่อย ๆจนเเป้งสุกข้น ลักษณะแป้งจะใส และข้น จากนั้นเทใส่ชามพักไว้ให้เย็นสนิท
3. ขั้นตอนนี้ทำกะทิอบควันเทียนโดยใส่หัวกะทิ, น้ำ, น้ำตาล, เกลือสมุทร และใบเตย มัดปมลงในหม้อ แล้วยกขึ้นตั้งไฟกลาง จากนั้นคนจนน้ำตาลละลายดี รอให้กะทิเดือดอีกครั้ง ปิดไฟ พักไว้ให้หายร้อน เอาใบเตยออก
4. ขั้นตอนการอบควันเทียนกะทิโดยจุดเทียนอบที่อยู่ในถ้วย รอให้ไส้เทียนเดือดพล่าน รีบเป่าให้เทียนดับ แล้ววางถ้วยเทียนอบลงในหม้อ ปิดฝาหม้อทันที อบควันเทียนทิ้งไว้ประมาณ 35 นาที
5. จัดเสิร์ฟโดยตักกะทิใส่ถ้วย ใช้ช้อนเล็กจุ่มน้ำหมาด ๆ แล้วตักแป้งที่กวนไว้เป็นคำเล็กๆลงในน้ำกะทิ จากนั้นตักเนื้อมะพร้าวอ่อนใส่ตามชอบ ตกแต่งด้วยกลีบดอกอัญชัน พร้อมรับประทาน
หมวดหมู่: บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร
กลุ่ม: ขนมไทยชาววัง, ขนมโบราณ, สูตรขนมไทย
ปรับปรุงล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว