
ชุมชนกุฎีจีน (กะดีจีน)




สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 24 ชั่วโมง
กุฎีจีน หรือกะดีจีน ที่เที่ยวกรุงเทพ นั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตั้งอยู่ริมคลองวัดกัลยาณ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และกลุ่มคนหลายเชื้อชาติทั้งชาวไทย, ญวน, มอญ, จีน และฝรั่ง ฯลฯ ที่อพยพจากกรุงเก่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณด้านทิศใต้ของคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ตามบันทึกประวัติศาลเจ้าเกียนอันเกง บันทึกว่ากุฎีจีนสร้างในสมัยกรุงธนบุรีโดยชาวจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสิน เดิมมี 2 ศาล คือ ศาลเจ้าโจวซือกง และศาลเจ้ากวนอู ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ย้ายพระนครไปกรุงเทพ คนจีนเหล่านี้จึงอพยพไปรวมกับพวกที่ย่านตลาดน้อยและสำเพ็ง ศาลเจ้าจึงถูกทิ้งร้าง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้บูรณะรวมกันเป็นศาลเดียวกันแล้วอัญเชิญเจ้าแม่กวนกิมมาประดิษฐานให้ชื่อว่า ศาลเจ้าเกียนอันเกง ศาลเจ้านี้จึงเป็นร่องรอยของชุมชนในย่านกุฎีจีน
เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ในครั้งนั้น ชาวคริสตังในกรุงศรีอยุธยาต่างหนีกระจัดกระจายไปในที่ต่าง ๆ จนกระทั่งพระยาตากสินกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2311 และได้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี (โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ซึ่งรวมทั้งได้ทำการก่อร่างสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่กรุงธนบุรี หรือ บางกอก โดยเป็นชื่อเรียกของชาวต่างชาติในสมัยนั้น
จนในปี พ.ศ. 2312 คุณพ่อกอรร์ (Corre) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสซึ่งพาพวกเข้ารีตลี้ภัยไปที่เขมรได้เดินทางมายังบางกอกพร้อมชาวคริสตัง และชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่ง เพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระองค์ ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่อคุณพ่อกอร์และชาวบ้านทั้งปวง พระองค์ได้พระราชทานเงิน 20 เหรียญ (กษาปณ์) และเรือลำหนึ่ง รวมทั้งสัญญาว่าจะพระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดคาทอลิกให้
ในปีเดียวกัน คุณพ่อกอรร์และชาวบ้านที่มีทั้งคนญวน และคนไทยที่ได้อพยพมาด้วยกันจึงได้ชักชวนคริสตังที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในบางกอกได้จำนวนราว 400 คน และได้เข้าเฝ้าขอพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสินตามสัญญา ซึ่งพระองค์นั้นได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งให้บริเวณริมน้ำเจ้าพระยา โดยตั้งชื่อที่ดินนี้ว่า "ค่ายซางตาครู้ส" โดยหลังจากนั้นคุณพ่อกอรร์และคริสตังได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้น และเรียกว่า วัดซางตาครู้ส ซึ่งโบสถ์แห่งนี้นับเป็นโบสถ์คาทอลิก แห่งที่ 2 ในประเทศไทย
จากวันเวลาที่ผันผ่านทำให้วัดชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงต้องมีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่อีกถึง 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2456 บาทหลวงกูเลียล โมกิ๊น ดาครูส ได้สร้างโบสถ์ขึ้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนสมัยเรเนสซองส์ ที่เรียกว่า แบบนีโอคลาสสิก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ส่วนมุสลิมเป็นกลุ่มชนที่มาตั้งรกรากในธนบุรีจำนวนมากรองจากชาวจีน ส่วนใหญ่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสิน สถาปนากรุงธนบุรีแล้ว มุสลิมบางส่วนอยู่ในธนบุรีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพราะธนบุรีเป็นเมืองท่าจึงมีพ่อค้ามุสลิมจากหัวเมืองมลายูโดยเฉพาะหลังจากประเทศไทยเปิดการค้าเสรีภายใต้สนธิสัญญาเบาริ่ง ศูนย์กลางของมุสลิมในธนบุรีอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ โดยมีสุเหร่าต้นสน หรือกุฎีใหญ่เป็นศูนย์รวมจิตใจ
ย่านกุฎีจีนช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 2 – รัชกาลที่ 4 จากบริเวณวัดประยุรวงศาวาส ไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม โดยจะเป็นที่เคยที่พำนักของราชทูตตะวันตก และมิชชันนารีโปรเตสแตนท์กลุ่มแรก ๆ โดยบุคคลเหล่านี้นอกจากจะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาแล้วยังมีคุณูปการต่อวงการแพทย์ การศึกษา และการพิมพ์ของไทย เช่น หมอบรัดเลย์ โดยที่นอกจากรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่แล้ว
ยังได้ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกขึ้นในประเทศไทย คณะมิชชันนารี และคณะเพรสไบทีเรียน ได้แก่ หมอแมททูนและภรรยา หมอบุชและภรรยา กับหมอเฮ้าส์ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นบริเวณบ้านพัก ต่อมาเมื่อมีนักเรียนมากขึ้นจึงย้ายไปตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตำบลสำเหร่ ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน
จากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีคนอยู่ร่วมกันถึงสามศาสนา คือ พุทธ คริสต์ และอิสลาม มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี ทำให้เกิดกิจกรรมสืบสานมรดกวัฒนธรรมย่านกุฎีจีน "สามศาสนา สี่ความเชื่อ สู่ความยั่งยืน เพื่อชุมชน โดยชุมชน"
อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างกรรมาธิการอนุรักษ์ฯ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งจะนำโดย อาจารย์ ดร.นิรมล กุลตังสมบัติ พร้อมด้วยทีมงานทำการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพในพื้นที่ ย่านกุฎีจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน สมาคมสถาปนิกสยามฯ จึงได้ทำการต่อยอด สืบสานมรดกวัฒนธรรมย่านกุฎีจีน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
โครงการแผนที่มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นริมน้ำ มีเป้าหมายในการใช้ "แผนที่มรดกทางวัฒนธรรม" เป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่ง "ย่านกุฎีจีน" ได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง ด้วยเหตุที่เป็นชุมชนเก่าแก่ โดยที่ยังมีสิ่งก่อสร้างสวยงามหลงเหลืออยู่ไม่น้อย โดยทีมงานซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์และนักศึกษา จึงพากันลงเก็บข้อมูลทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดไปจนถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุนทรียภาพของชุมชน ไม่ใช่แค่การมองจากสายตาคนนอก แต่ยังดึงคนในชุมชนให้มาร่วมค้นหา "ของดี" ของชุมชนอีกด้วย
กิจกรรมประกวดภาพถ่าย ภายใต้แนวคิด "มรดกวัฒนธรรม สามศาสนา ย่านกุฎีจีน" จึงเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริม และสร้างความตระหนักในคุณค่าและการอยู่ร่วมกันอย่างหลายชนชาติ ศาสนา ของผู้คนดั้งเดิม และที่เข้ามาอยู่ใหม่ในชุมชนเก่าแก่ริมน้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ให้ยั่งยืนสืบไป โดยสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ
ได้รับเกียรติให้ส่งวิทยากรเข้าไปอบรมให้กับเยาวชนในพื้นที่ และเชิญชวนสมาชิกของสมาคมฯ เข้าไปถ่ายภาพเพื่อนำไปจัดนิทรรศการร่วมกับภาพการประกวดของเยาวชนให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ยลโฉม ชุมชนย่านกุฎีจีน มรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของกรุงเทพมหานครที่ควรค่าแก่การหวงแหนอีกชุมชนหนึ่ง




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage