
วัดปรินายกวรวิหาร

Rating: 2.5/5 (21 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดปรินายกวรวิหาร ที่เที่ยวกรุงเทพ ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนน ปรินายกเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินนอก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร วัดในกรุงเทพฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
วัดนี้ตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นที่ติดชายคลองบางลำภู จึงมีที่ดินเป็นรูปแคบยาวอย่างที่เรียกว่าที่ดินรูปชายธง ต้นธงอยู่ด้านทิศตะวันตกติดคลองบางลำภู ปลายธงอยู่ทางทิศตะวันออกที่ติดที่ดินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาณาเขตเดิมของวัดค่อนข้างกว้างขวาง ตั้งแต่ถนนหลานหลวงตรงข้ามป้อมมหากาฬเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงที่ตั้งวัดในปัจจุบัน
ใน พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตัดถนนราชดำเนินนอกกินพื้นที่ของวัดไป และแต่เดิมที่พระอุโบสถจะตั้งอยู่ใกล้คลองบางลำภู เมื่อตัดถนนขึ้นทำให้พระอุโบสถเดิมตั้งอยู่ใกล้กับถนนที่ตัดขึ้นใหม่คือถนนราชดำเนินนอก จึงไม่เป็นที่สมควรที่จะรักษาสังฆกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถใหม่ในบริเวณที่ห่างถนนเข้ามาดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีขนาดเล็กกว่าเดิม สำหรับพระประธานในพระอุโบสถเก่านั้น กล่าวกันว่าได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิหารแห่งหนึ่งของวัดสระเกศ เมื่อย้ายพระอุโบสถให้มาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสุรภีพุทธพิมพ์ ไปเป็นพระประธานในพระอุโบสถใหม่
เดิมวัดปรินายกมีชื่อเรียกว่า “วัดพรหมสุรินทร์” ซึ่งตามชื่อของผู้สร้างวัด และผู้สร้างวัดนั้นก็คือเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โดยในวัยหนุ่มเมื่อต้นรัชกาลที่สอง ท่านนั้นได้ดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมสุรินทร์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2352 – พ.ศ. 2354 วัดพรหมสุรินทร์
จึงคงสร้างในระยะเวลาระหว่าง 3 ปีนี้ โดยท่านเจ้าพระยาผู้สร้างวัดนี้เป็นผู้เจริญในราชการมาก ซึ่งต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักด์ิจากพระพรหมสุรินทร์ เป็นพระยาราชโยธา และเป็นพระยาเกษตรรักษา จากนั้นได้เป็นเจ้าพระยาบดินทร์เดชา โดยท่านเป็นแม่ทัพสำคัญที่รับศึกทางด้านทิศตะวันออก
ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้มีศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นระยะๆ และมีโครงการจะขยายให้กว้างขวางออกไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชศรัทธาพระราชทานบรมราชานุเคราะห์วัดของแม่ทัพคนโปรดของพระองค์ท่านหลายอย่าง และพระราชทานนามวัดว่า “วัดปรินายก” ต่อมาท่านเจ้าพระยาฯ ถึงแก่อสัญกรรม ในพ.ศ. 2392 วัดปรินายกขาดผู้อุปถัมภ์บำรุงจึงทรุดโทรมลงเป็นเวลาประมาณ 5๐ ปี
ใน พ.ศ. 2442 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงย้ายที่พระอุโบสถใหม่ จึงได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์จนพระอารามนี้สำเร็จบริบูรณ์ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสุรภีเป็นพระประธานในพระอุโบสถ พร้อมทั้งถวายพระนามว่า “พระสุรภีพุทธพิมพ์” ซึ่งเป็นนามที่เป็นที่รู้จักของพระประธานในพระอุโบสถวัดปรินายกมาจนทุกวันนี้
นอกจากพระราชทานพระราชูปถัมภ์ในทางด้านกายภาพแก่วัดแล้ว ยังได้ให้อาราธนาเจ้าอาวาสที่มีความเข้มแข็งเชี่ยวชาญงานปกครองมาจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์คือ พระวิสุทธินายก ให้มาเป็นเจ้าอาวาส โดยพำนักที่กุฏิที่เป็นตึกหลังคาแบบจีนที่โปรดเกล้าฯ
ให้สร้างขึ้นด้วยให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปรินายกแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2443 และเมื่อพระอารามงดงามและเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น สาธุชนจึงเข้ามาสักการบูชาเพิ่มขึ้น ตระกูลสิงหเสนีและเครือญาติก็ยังถวายอุปการะวัดนี้อยู่จนบัดนี้ ด้วยถือเป็นวัดต้นตระกูล




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
ภูมิภาค
|