
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร (วัดทองบางพรม)





สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร (วัดทองบางพรม) ที่เที่ยวกรุงเทพ วัดใหญ่สมัยโบราณตั้งคู่กันอยู่สองฝั่งปากคลองแยกบางพรหม มีชื่อเรียกคล้องจองกันว่า วัดเงิน หรือวัดรัชฎาธิฐาน กับวัดทอง หรือวัดกาญจนสิงหาสน์
ตามประวัติว่า เมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา มีเศรษฐีชาวจีนแซ่ตันสองพี่น้อง เรียกกันว่า เจ้าขรัวเงินและเจ้าขรัวทอง มาตั้งรกรากทำมาหากินร่ำรวยจึงสร้างวัดขึ้นที่บริเวณสองฝั่งปากคลองนี้
วัดทอง หรือวัดกาญจนสิงหาสน์ มีพระอุโบสถลักษณะแบบศิลปะอยุธยา คือก่อผนังปูนสูงขึ้นไปถึงอกไก่ แต่เครื่องบนน่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ หน้าบันไม่มีช่อฟ้าใบระกา ประดับด้วยลายปูนปั้นเป็นลายต้นไม้เครือ บานประตูเขียนลายรดน้ำเป็นภาพต้นไม้และสัตว์ต่างๆ
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ล้อมรอบด้วยรูปพระพุทธรูป เบื้องหน้าและซ้ายขวาอีก 6 องค์
ส่วนใบเสมารอบพระอุโบสถ เป็นแบบที่เรียกว่า ใบเสมานั่งแท่น ไม่มีกนกตรงข้างเอว นับว่ามีความงดงามแปลกตาเป็นที่น่าสนใจยิ่ง
วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เดิมชื่อวัดทองเป็นวัดโบราณ พ.ศ. 2397 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า "วัดกาญจนสิงหาสน์" พ.ศ. 2406 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระประธานและฐานชุกชี
"หลวงพ่อทอง" วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ปางมารวิชัย เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านมาตั้งแต่คราวเสียกรุงศรีอยุธยา โดยมีความเชื่อว่าหากได้มาขอพร เรื่องการค้าขายและโชคลาภจะได้สมปรารถนา เนื่องจากผู้สร้างวัดคือขรัวทองหรือเจ้าสัวทองเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่ง
วัดนี้เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อวัดทองคู่กับวัดเงิน ที่อยู่ริมคลองบางพรมฝั่งตรงข้าม กล่าวกันว่า ผู้สร้างชื่อทองเป็นน้องชายของผู้สร้างวัดเงินต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1
สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีนั้นได้ทรงสถาปนาวัดนี้ใหม่ โดยถวายเป็นพระอารามหลวง เมื่อครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม โดยในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นได้เปลี่ยนนามวัดใหม่ว่า วัดกาญจนสิงหาสน์ ซึ่งมีลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ปัจจุบันพระอุโบสถหลังเดิมได้ทำพิธิถอนสีมาแล้วใช้เป็นวิหารแทน ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เนื่องจากพระอุโบสถหลังเก่าได้ชำรุดทรุดโทรม ยังไม่ได้อนุญาตให้บูรณะปฏิสังขรณ์จากกรมศิลปากร จึงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่เพื่อใช้ในการทำสังฆกรรมของพระสงฆ์




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage