
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร





สถานที่ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 8.00 - 17.00 น.
วัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร ที่เที่ยวกรุงเทพ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด "ราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ปากคลองมหาสวัสดิ์ เลขที่ 2 หมู่ 4 ถนนชัยพฤกษ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 1๐17๐ เดิมขึ้นกับตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันขึ้นกับเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
อาณาเขตของวัด ทิศเหนือ จดคลองมหาสวัสดิ์ กว้าง 8 เส้น 17 วา ทิศใต้ จดถนนชัยพฤกษ์ ทิศตะวันออก จดคลองบางกอกน้อย กว้าง 2 เส้น 11 วา ทิศตะวันตก จดคลองขุด กว้าง 2 เส้น 18 วา
พื้นที่ของวัดทั้งหมด ประมาณ 53 ไร่ 78 ตารางวาเป็๋นพื้นที่ธรณีสงฆ์และพื้นที่ผลประโยชน์ของวัดประมาณ 2๐ ไร่ เป็นพื้นที่โรงเรียนวัดชัยพฤกษมาลา ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร มีอาคารเรียน 2๐ หลัง 14 ไร่ พื้นที่ตั้งของวัด 12 ไร่ 1 งาน 97.8 ตารางวา
วัดชัยพฤกษมาลา เป็นวัดโบราณ มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกกันว่า "วัดชัยพฤกษ์" เป็นวัดร้างก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อสร้างกรุงเทพมหานครในปี 2326 นั้นต่อมาได้สร้างกำแพงป้องกันพระนครอย่างเร่งรีบ โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ในขณะพระองค์ทรงเป็นนายด่านทำกำแพงพระนครด้านหนึ่งได้ขอพระบรมราชานุญาตไปรื้อเอาอิฐจากวัดชัยพฤกษ์ร้างมาก่อสร้างทำกำแพงพระนคร
ครั้นถึง ปี พ.ศ. 2328 เมื่อการก่อสร้างกำแพงพระนครและราชมณเฑียรเสร็จลงแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร บูรณะสถาปนาวัดขึ้นใหม่ในที่เดิม ทำนองเป็นผาติกรรมตามประเพณีและเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อทรงรับพระบรมราชโองการแล้ว
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าไม้ อิฐ ปูน ให้ข้าในกรมไปสร้างพระอุโบสถ ภายในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระประทาน กับพระรูปอัครสาวก 2 องค์ กับพระวิหารอีกหลังหนึ่ง ซึ่งภายในมีพระพุทธรูป 4 องค์
นอกจากนั้น ให้สร้างอาคารสถานที่ซึ่งเป็นส่วนประกอบจำเป็นสำหรับวัด มีศาลาการเปรียญและหอระฆังอย่างละ 1 หลัง ปลูกกุฏิสำหรับพระสงฆ์จำพรรษาพอเพียงกับจำนวนพระสงฆ์ใช้อยู่จำพรรษาในระยะแรกเพียงไม่กี่รูป แต่การก่อสร้างในครั้งนั้นยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เนื่องจากสภาวะบ้านเมืองยังไม่ปกติ ยังมีการศึกสงครามมาโดยตลอด
แม้กระนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ก็ทรงถือว่าพระอารามนี้ยังอยู่ในพระอุปถัมภ์ เมื่อถึงฤดูกฐิน ได้เสด็จฯ ไปทรงถวายผ้าพระกฐินบ้าง พระราชทานผ้าไตรจีวรบริขารให้พระโอรสพระธิดาทรงนำไปถวายแทนบ้าง เป็นเช่นนี้ทุกปีมิได้ขาด
ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2352 แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วัดชัยพฤกษ์มาอยู่ในบัญชีพระอารามหลวง และทรงมอบให้เป็นพระธุระของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนพรรษาและถวายผ้าพระกฐินทุกปี นับแต่ พ.ศ. 2352 จนสิ้นรัชกาล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2367 แล้ว ได้มีพระราชดำรัสสั่งให้ตัดวัดชัยพฤกษ์ออกเสียจากบัญชีรายชื่อพระอารามหลวง โดยทรงถือว่าวัดชัยพฤกษ์นี้อยู่ในบัญชีวัดที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงอุปถัมภ์แล้วตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระราชบิดา
วัดชัยพฤกษ์จึงมิได้รับการบูรณะเป็นทางราชการตลอดรัชกาลที่ 3 โดยมีกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์พระราชชนนี ในสมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฝ้ามงกุฏ ซึ่งในขณะนั้นทรงผนวชอยู่ ทรงทำนุบำรุงแทนตามกำลังเรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่ 3
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สเด็จเถลิงถวัลราชสมบัติใน พ.ศ. 2394 ก็ทรงรำลึกถึงวัดชัยพฤกษ์และวัดเขมาที่ทรงรับวาจาไว้กับสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์มาหลายร้อยชั่งให้ปฏิสังขรณ์วัดทั้ง 2 พร้อมกันนั้นได้โดยพระราชทานนามเพิ่มทั้ง 2 วัด ว่า "วัดชัยพฤกษมาลา" และ "วัดเขมาภิรตาราม" และทรงตั้งเจ้าอธิการวัดนั้นให้เป็นที่ "พระครูไชยพฤกษธิกามหามุนี"
เฉพาะวัดชัยพฤกษมาลานั้น จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์ แต่เนื่องจากพื้นที่ดั้งเดิมของวัดชัยพฤกษมาลาค่อนข้างแคบ จึงได้พระราชทานทรัพย์ให้ซื้อที่สวน ที่ติดกับวัด เพิ่มเติมขึ้นอีก แล้วให้ขุดคูรอบวัด สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารของเดิมที่ยังค้างไม่แล้วเสร็จ
มาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 และขณะนั้นได้ชำรุดปรักหักพังจนเกือบหมดแล้ว ต่อจากนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่กุฏิ หอสวดมนต์ หอระฆัง สะพานท่าน้ำ ศาลา และสะพานข้ามคลองหน้าวัดจนแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2398
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายกุฏิหมู่แก่พระสงฆ์ และทรงก่อพระเจดีย์หลังพระอุโบสถและพระวิหารเป็นพระฤกษ์ โดยในวันพฤหัสบดี ขึ้น 1๐ ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ สัปตศก ตรงกับวันที่ 21 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2398
การบูรณะวัดชัยพฤกษมาลานั้นต้องใช้เวลาต่อมาอีก 3 ปี การก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด จึงจะสำเร็จเรียบร้อย แต่ก็ยังไม่ได้เขียนภาพและปิดทองบานประตูหน้าต่าง ซึ่งเป็นงานตกแต่งขั้นสุดท้าย
การเขียนภาพปิดทองบานประตูหน้าต่างดังกล่าว จะใช้เวลานานเพียงใด ไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเสร็จก่อนที่จะมีพระราชพิธีฉลองวัดนี้ใน พ.ศ. 24๐6 ซึ่งนับว่าได้ใช้เวลาเขียนประมาณ 4 ปี
ใน พ.ศ. 24๐6 พระอารามต่าง ๆ ที่ได้ทรงสร้าง และบูรณปฏิสังขรณ์มาแต่รัชกาลก่อน ๆ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ โดยให้เสริมสร้างและบูรณะขึ้นมาตั้งแต่เมื่อเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติในระยะแรก ๆ นั้นได้ และเสร็จลงในระยะเวลาใกล้เคียงกัน รวม 4 วัด คือ
1. วัดชัยพฤกษมาลา เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถทรงสถาปนาใหม่ พระองค์ทรงสร้างเสริมต่อ
2. วัดเขมาภิรตาราม เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนีทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อไม่นานนัก
3. วัดรัชฎาธิฐาน เป็นพระอารามที่กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชเปตามหัยยิกา ทรงสถาปนาไว้แต่ก่อน
4. วัดราชสิทธาราม เป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ไว้หน้าพระอุโบสถ และพระองค์เองได้สร้างเพิ่มขึ้นอีกหมู่หนึ่ง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดงานมหกรรมฉลองในคราวเดียวพร้อมกัน โดยงานดังกล่าวจัดที่ท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันอังคาร เดือน 3 ขึ้น 2 ค่ำ เป็นต้นไป ต่อวันจันทร์ เดือน 3 ขึ้น 8 ค่ำ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานไทยธรรมแก่พระสงฆ์ในพระอารามทั้ง 4 นั้น
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดชัยพฤกษมาลาเสมอมามิได้ขาด และยังได้กำหนดให้วันนี้ส่งพระธรรมกถึกไปเทศนาธรรมถวาย ทุกวันพระเป็นประจำทุกเดือน
อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานในหนังสือ "สถานที่ต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง" กล่าวว่า การก่อสร้างวัดชัยพฤกษมาลาของพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ตามพระบรมราชโองการนั้น เพิ่งมาสำเร็จบริบูรณ์เมื่อในรัชกาลที่ 5






แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage