หน้าหลัก > ภาคกลาง > จ.กรุงเทพมหานคร > รวมเมนูอาหารไทย และขนมไทยยอดนิยมถูกใจชาวต่างชาติ


กรุงเทพมหานคร

รวมเมนูอาหารไทย และขนมไทยยอดนิยมถูกใจชาวต่างชาติ

รวมเมนูอาหารไทย และขนมไทยยอดนิยมถูกใจชาวต่างชาติ

Share Facebook

Rating: 5/5 (3 votes)

รวมเมนูอาหารไทย และขนมไทยยอดนิยมถูกใจชาวต่างชาติ นั้นมีจุดกำเนิดพร้อมกับการตั้งชนชาติไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ถือได้ว่าอาหารไทยเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่สำคัญของประเทศไทย อาหารไทยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ อาหารคาว และอาหารหวาน นอกจากนี้ยังมีอาหารว่าง ซึ่งเป็นอาหารคาวก็ได้ หรืออาหารหวานก็ได้ ไว้รับประทานระหว่างแต่ละมื้อ
 
อาหารคาว ของไทยประกอบด้วยรสทุกรส ทั้งเค็ม, หวาน, เปรี้ยว และมีรสเผ็ดอีกรสหนึ่ง ตามปกติ อาหารคาวที่รับประทานตามบ้านทั่วๆ ไป จะประกอบด้วย แกง, ผัด, ยำ, ทอด, เผา, ย่าง , เครื่องจิ้ม และเครื่องเคียง
 
อาหารหวาน ของไทยมีทั้งชนิดน้ำ และแห้ง ส่วนมากปรุงด้วยกะทิ, น้ำตาล และแป้งเป็นหลัก เช่น กล้วยบวชชี, ขนมเปียกปูน, ขนมใส่ไส้ (สอดไส้) และขนมเหนียว เป็นต้น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวยุโรปได้ถ่ายทอดการทำขนมด้วยไข่ให้แก่คนไทยหลายอย่าง เช่น ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, สังขยา และขนมหม้อแกง
 
อาหารพื้นบ้านของประเทศไทย อาหารพื้นบ้านไทยมีรสชาติกลมกล่อมอร่อย หลายหลายรสชาติ และยังคงเอกลักษณ์ของภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของคนไทยในแต่ละท้องถิ่นที่คิดค้นปรุงแต่งอย่างสร้างสรรค์ให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ นับเป็นอาหารที่ได้สมดุลทางโภชนาการ ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างชนิดของอาหาร และปริมาณของอาหาร ซึ่งอาหารไทยส่วนใหญ่จะมีข้าวเป็นส่วนประกอบหลัก อาจะเป็นข้าวเหนียว หรือข้าวเจ้าแล้วแต่ท้องถิ่นนั้น ๆ โดยข้าวที่มีสารอาหาร และวิตามินมากที่สุด คือข้าวซ้อมมือ 
 
อาหารพื้นบ้านไทย ส่วนใหญ่การปรุงจะเป็นการต้น, แกง, ตำ และยำ ซึ่งมีวิธีการปรุงอันเรียบง่าย ใช้เวลาไม่มาก แต่มีความพิถีพิถัน ใช้น้ำมันในการปรุงอาหารค่อนข้างน้อย มีการใช้เนื้อสัตว์ไม่มาก โดยแหล่งโปรตีนได้จากปลา, ไข่, หมู และสัตว์อื่นๆ บางชนิดในท้องถิ่น เครื่องปรุงต่าง ๆ จะใช้สมุนไพรที่ได้จากธรรมชาติ โดยที่สำคัญอาหารพื้นบ้านนานาชนิดที่หาได้ จะนำมาปรุงเป็นอาหาร หรือนำมาทำเป็นเครื่องจิ้มกับอาหารประเภทน้ำพริก หรือประเภทหลนต่าง ๆ อาหารพื้นบ้านของไทยเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำแต่มีเส้นใยอาหารสูง มีคุณค่าทางโภชนา เช่น วิตามิน, เกลือแร่, เอนไซม์กรดไขมัน โดยมีความปลอดภัยจากสารเคมี และยังให้คุณค่าทางสมุนไพร 
 
อาหารภาคเหนือ
 
อาหารภาคเหนือ (อาหารเหนือ) มีวิถีชีวิตผูกพันมากับวัฒนธรรมการปลูกข้าว นิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก อาหารภาคเหนือนั้นจะมีความงดงาม เพราะด้วยนิสัยคนเหนือที่มีกริยาสุภาพเรียบร้อย จึงส่งผลต่ออาหาร เช่น ข้าวซอย จะเป็นอาหารพื้นเมืองภาคเหนือ เดิมเรียกว่า ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ มีลักษณะคล้ายกับเส้นบะหมี่ น้ำซุปจะเป็นเครื่องแกงที่มีรสชาติจัดจ้าน ในแบบตำรับดั้งเดิม ข้าวซอยนั้นจะมีส่วนประกอบของเนื้อหมู หรือเนื้อไก่ นิยมรับประทานกับเครื่องเคียงได้แก่ ผักกาดดอง, หอมหัวแดง โดยมีเครื่องปรุงรส เช่น พริกผัดน้ำมัน, น้ำมะนาว, น้ำปลา และน้ำตาล โดยในปัจจุบันจะพิ่มอาหารทะเล หรือเต้าหู้เป็นส่วนประกอบ อาหารจานนี้ไม่มีจำหน่ายในต่างประเทศ แต่จะมีแค่ภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น
 
อาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

อาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อาหารอีสาน) ความแตกต่างกันทางทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้รูปแบบอาหาร และการจัดการอาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือของชุมชนแตกต่างกันออกไป ชาวบ้านมักจะหาอาหารจากแหล่งอาหารทางธรรมชาติเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อใช้ในการบริโภคแต่ละวัน เช่น การหาปลาจากแม่น้ำ โดยนำมาแปรรูปเป็นปลาร้า หรือปลาแห้งเพื่อให้บริโภคได้นาน ส่งผลให้ชาวบ้านส่วนใหญ่พึ่งพาอาหารจากตลาดน้อยมาก โดยอาหารอีสานจะเน้นรสชาติไปทางเผ็ดร้อน
 
 อาหารภาคกลาง
 
อาหารภาคกลาง ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ เช่น เครื่องแกง, แกงกระทิ รวมทั้งยังมีอาหารชั้นสูงของชาววังที่ได้เผยแพร่ออกมาด้วย เช่น ข้าวแช่, ช่อม่วง, กระเช้าสีดา ฯลฯ เป็นภาคที่มีอาหารว่าง และขนมหวานมากมาย เช่น กระทงทอง, ข้าวเกรียบปากหม้อ และข้าวตัวหน้าตั้ง ฯลฯ 
 
 อาหารภาคใต้
 
อาหารพื้นบ้านภาคใต้ (อาหารใต้) เป็นที่รู้กันดีว่าคนภาคใต้เป็นคนพูดเร็ว เดินเร็ว อาหารภาคใต้จึงได้สะท้องลัษณะออกมาโดยมีรสชาติที่เผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด อาหารปักษ์ใต้ที่ขึ้นชื่อมาก ๆ เช่น แกงไตปลา, แกงเหลือง, น้ำพริกกุ้งเสียบ, น้ำยาปักษ์ใต้ ฯลฯ อาหารภาคใต้นั้นได้รับอิทธิพลมาจากพวกมาลายู และอินเดีย นิยมรับประทานคู่กับผักสด
 
เมืองไทยมีผลไม้มากมายหลายชนิด จึงต้องหาวิธีเก็บรักษาผลไม้เหล่านั้น ไว้รับประทานนานๆ คนไทยมีวิธีถนอมอาหารหลายวิธี ได้แก่ วิธีดอง เช่น มะม่วงดอง และมะยมดอง วิธีกวน เช่น กล้วยกวน, ทุเรียนกวน และสับปะรดกวน วิธีตาก เช่น กล้วยตาก วิธีเชื่อม เช่น กล้วยเชื่อม, สาเก เชื่อม วิธีแช่อิ่ม เช่น มะดันแช่อิ่ม และฟักแช่อิ่ม เป็นต้น
 
ขนมหวานชนิดแห้ง รับประทานได้ทุกเวลา ส่วนมากจะเป็นขนมอบ เพื่อเก็บใส่ขวดโหลไว้ได้นาน เช่น ขนมกลีบลำดวน, ขนมโสมนัส, ขนมหน้านวล, ขนมทองม้วน และขนมผิง เป็นต้น
 
ขนมไทยในสมัยโบราณ จะแสดงฝีมือในการสลัก แกะหรือปั้นเป็นรูปต่าง ๆ และจะอบให้หอมด้วยกลิ่นกุหลาบ มะลิ กระดังงา หรือควันเทียน
 
รวมเมนูอาหารไทยยอดนิยมถูกใจชาวต่างชาติ ได้แก่
 
ข้าวซอยน้ำหน้า อาหารภาคเหนือ
 
1. ข้าวซอยน้ำหน้า อาหารภาคเหนือ เป็นอาหารประจำถิ่นของชาวเชียงของ ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ราดซุปกระดูกหมู จากนั้นปรุงด้วยพริกแห้ง, เกลือ, กระเทียม, หอมแดง, ถัวเน่าแผ่น โรยด้วยหมูบด และผักชี อาหารเหนือของประเทศไทย เดิมจะเรียกว่า "ก๋วยเตี๋ยวฮ่อ" มีลักษณะคล้ายเส้นบะหมี่, เส้นใหญ่ ในน้ำซุป มีเครื่องเคียง เป็นอาหารไทยภาคเหนือที่เป็นเมนูอาหารเหนือยอดนิยม
 
น้ำพริกหนุ่ม
 
2. น้ำพริกหนุ่ม อาหารเหนือเมนูนี้เป็นอาหารไทยภาคเหนือที่เรียกว่า น้ำพริก (Dip) ที่ทำจากพริก หอมแดง กระเทียม นำทั้งหมดย่างไฟจนสุกหอม ก่อนตำเป็นน้ำพริกท้องถิ่น มักกินคู่กับผักต้มและข้าวเหนียวนึ่ง ซึ่งก็นับเป็นอาหารสุขภาพอย่างดีเลย แต่ถ้าจะให้อร่อยขึ้นไปอีก ต้องกินกับข้อไก่ทอด บอกเลยว่าอร่อยเพลินไม่สนใจแคลอรีกันเลยทีเดียว
 
น้ำพริกกุ้งเสียบ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้
 
3. น้ำพริกกุ้งเสียบ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้ เดิมทีเป็นอาหารที่ชาวภูเก็ตนิยมรับประทานเป็นอาหารกลางวันซึ่งต้องปรุงและรับประทานไม่สามารถเก็บไว้ได้ ต่อมาจึงได้มีการวิธีการในการถนอมอาหารทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้นจนปัจจุบันเป็นที่รู้จักทั่วไป
 
กุ้งเสียบ นั้นเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของคนใต้ที่มีพื้นที่ติดทะเลและมีกุ้งมาก โดยนำกุ้งนางไม่แกะเปลือกมาเสียบไม้ ปิ้งไฟอ่อน ๆ รมควันจนน้ำในตัวกุ้งแห้ง ทำให้เก็บได้นาน และมีกลิ่นหอมรมควัน โดยนำมาทำอาหารได้หลากหลาย แต่ที่นิยมมากที่สุด คือ น้ำพริก ซึ่งรสชาติและส่วนผสมไม่ต่างจากน้ำพริกของภาคกลาง ที่มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน แต่ทางใต้จะนิยมกินรสเผ็ดจัดมากกว่า
 
ขนมจีนน้ำยาปู สไตล์ปักษ์ใต้ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้
 
4. ขนมจีนน้ำยาปู สไตล์ปักษ์ใต้ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้ น้ำยาปู หรือ แกงปู นิยมทานเป็นกับข้าว มีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรมอาหารของชาวเปอรานากันดั้งเดิม นิยมทานกับหมี่ขาวลวก(หมี่หุ้น) เป็นอาหารที่หาทานได้ตามร้านอาหารเปอรานากันในภูเก็ต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอาหารลูกผสมระหว่างจีนฮกเกี้ยนกับมลายู มีการประยุกต์ทานกับขนมจีนจึงเป็นขนมจีนน้ำยาปูในปัจจุบัน ขนมจีนน้ำยาปู สไตล์ปักษ์ใต้ ถือเป็นเมนูอาหารยอดฮิตเมนูหนึ่งของคนไทย ด้วยความที่เป็นอาหารทานง่าย วิธีการทำไม่ยุ่งยาก และหาร้านทานง่าย ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตามงานเลี้ยงที่มีคนจำนวนมาก ๆ
 
ข้าวยำบูดู เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้
 
5. ข้าวยำบูดูเมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้ เป็นอาหารไทยภาคใต้ โดยถือกันว่าเป็นอาหารที่ครบโภชนาการมากที่สุด โดยมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างโดยเป็นอาหารจานเดียวที่มีน้ำปรุงราด ส่วนผักที่นิยมนำมาทำยำ ได้แก่ ถั่วฝักยาว, ถั่วงอก, ตะไคร้, กระถิน, ยอดมะม่วงหิมพานต์, ผักบุ้ง, ใบยอ, ถั่วพู และพาโหม เป็นต้น โดยชาวไทยมุสลิมนิยมนำสีจากพืชมาหุงกับข้าวให้ได้ข้าวสีต่าง ๆ เรียกว่าข้าวยำห้าสี ส่วนข้าวยำทางจังหวัดสตูลจะมีเอกลักษณ์เฉพาะคือไม่ใส่น้ำบูดู แต่จะนำข้าวมาคลุกกับเครื่องแกงและผัก โดยเครื่องปรุงหลักคือข่า เรียกว่าข้าวยำหัวข่า
 
ไก่ทอดหาดใหญ่ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้
 
6. ไก่ทอดหาดใหญ่ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหารภาคใต้ เกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 40-50 ปีที่แล้ว ที่อำเภอหาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคใต้ของบ้านเรา ซึ่งในตอนนั้นมีเพียงไม่กี่ร้านที่เริ่มขายไก่ทอดสูตรนี้ โดยเน้นใช้สมุนไพรหลายชนิด เช่น กระเทียม, ยี่หร่า พริกไทย, รากผักชี และปรุงรสเล็กน้อย หมักจนเข้าที่แล้วนำไปทอด ส่วนการโรยหอมเจียวเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน ด้วยกลิ่นหอมของเครื่องเทศที่ใช้ในการหมัก โดยจะมีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ กินคู่หอมเจียวที่อร่อยโดนใจใครหลายคน จนกระทั่งเป็นเครื่องเคียงที่ขาดไม่ได้และกลายเป็นเมนูเลื่องชื่อจวบจนถึงปัจจุบัน
 
คั่วกลิ้งหมูสับ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหาร
 
7. คั่วกลิ้งหมูสับ เมนูอาหารใต้ สูตรอาหาร ที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น "คั่วกลิ้ง" แน่นอน ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน หอมกลิ่นน้ำพริกคั่วกลิ้ง พริกแกงใต้รสชาติจัดจ้าน ผัดรวมกับเนื้อหมูสับ ติดมัน ยิ่งกินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ บอกเลยว่าอร่อย คั่วกลิ้ง เป็นอาหารใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ดร้อน และหอมกรุ่นด้วยเครื่องแกงที่ทำจากสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นพริก ขมิ้น, ข่า, ตะไคร้, กระเทียม, พริกไทย และผิวมะกรูด ซึ่งเราไม่ต้องทำเองมีเครื่องแกงใต้ขายตามตลาด แถมวิธีการทำก็ไม่ยาก
 
ขนมปังหน้าหมู วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
8. ขนมปังหน้าหมู วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ อาหารชาววังที่ประยุกต์มาจากฝรั่ง อาหารว่างอีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาดัดแปลงโดยใช้แผ่นขนมปังของฝรั่งมาผสมผสานให้เกิดการลงตัว และรับประทานพร้อมกับอาจาด เครื่องจิ้มรูปแบบอินเดีย ด้วยเนื้อหมูสับปรุงรส ต้องได้รสเค็มนิดๆ เพื่อให้เข้ากันกับอาจาดที่มีรสหวานอมเปรี้ยว หรือบางครั้งอาจเปลี่ยนเนื้อสัตว์ด้านหน้าให้เป็น ไก่, เนื้อ หรือกุ้งก็ได้เช่นกัน โดยขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน
 
หมูโสร่ง วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
9. หมูโสร่ง วิธีทำขนมชาววัง สูตรขนมโบราณ เป็นจานที่ต้องใช้ความใจเย็น และพิถีพิถันค่อนข้างมาก ขนมชาววังจานนี้ใช้เนื้อหมูสับบดละเอียด ปรุงรสด้วยเครื่องเทศเพิ่มความหอมได้ตามใจชอบ นำมาปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณหัวนิ้วโป้ง พันด้วยเส้นหมี่ซั่วแล้วจึงทอดจนเส้นกรอบน่ารับประทาน
 
ส้มตำไทย
 
10. ส้มตำไทย เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวจะเรียกว่าตำหมากหุ่ง ปรุงโดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ คือ มะเขือเทศลูกเล็ก, มะเขือสีดา, มะเขือเปราะ, พริกสดหรือพริกแห้ง, ถั่วฝักยาว, กระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ, น้ำปลา และมะนาว เป็นอาหารไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
 
ผัดไทย
 
11. ผัดไทย เมนูเส้นที่เป็นอาหารประจำชาติไทย เป็นเมนูที่คนไทยทานเป็นกิจวัตร และเป็นเมนูที่ต่างชาติยกนิ้วให้ในความอร่อย รสชาติที่ทานง่ายทำให้ถูกปากผู้คนจากทั่วโลกได้ไม่ยาก ความอร่อยสไตล์ไทยที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มลองต่างหลงรัก และยกให้เป็นเมนูโปรดที่ต้องหาทาน
 
ต้มยำกุ้ง
 
12. ต้มยำกุ้ง เป็นอาหารไทยภาคกลางประเภทต้มยำ ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานไปทุกภาคในประเทศไทย ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นอาหารที่รับประทานกับข้าว และมีรสเปรี้ยวและเผ็ดเป็นหลักผสมเค็มและหวานเล็กน้อย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ต้มยำน้ำใส และต้มยำน้ำข้น
 
แกงเขียวหวาน
 
13. แกงเขียวหวาน เป็นอาหารไทยประเภทแกง ประกอบด้วยเนื้อ, ปลา, ไก่ หรือหมู และผัก ปรุงรสด้วยกะทิ, มะเขือ, น้ำตาล, น้ำปลา, ใบมะกรูด และใบโหระพา มักนิยมรับประทานกับข้าวสวยหรือขนมจีนน้ำพริกแกงมีสีเขียวเพราะใช้พริกขี้หนูสดสีเขียว บางท้องที่ใส่ใบพริกลงไปตำด้วย ในประเทศกัมพูชามีการรับแกงเขียวหวานไป เรียกว่า ซ็อมลอกะติ โดยมีลักษณะเป็นน้ำกะทิใส ๆ โดยทั่วไปมักกินแกงเขียวหวานเป็นกับข้าวร่วมกับอาหารชนิดอื่น ๆ ในมื้อหนึ่ง ๆ หรือกินกับขนมจีนเป็นอาหารจานเดียว
 
แกงมัสมั่น
 
14. แกงมัสมั่น เป็นอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู ชาวไทยมุสลิมเรียกแกงชนิดนี้ว่า ซาละหมั่น แกงมัสมั่นแบบมุสลิมไทยออกรสหวานในขณะที่ตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิมออกรสเค็มมัน แกงเข้มข้นที่ทำจากเนื้อวัว มันฝรั่ง, ถั่วลิสง และเครื่องเทศที่ผสมผสานกัน ต้องลองสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารคาว และครีม
 
ข้าวมันไก่
 
15. ข้าวมันไก่ อาหารคาวดั้งเดิมของชาวจีน อาหารชนิดนี้ได้รับการเผยแพร่มาจากชาวจีนไหหลำหรือไห่หนาน ที่มาอยู่ประเทศไทย มีให้รับประทานกันทั่วทุกภาคในประเทศไทย นอกจากนี้ยังนิยมรับประทานกันมากในมาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย และยังติดอันดับเป็นหนึ่งใน 15 เมนูอาหารต่างชาติที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบอีกด้วย
 
หมูสะเต๊ะ
 
16. หมูสะเต๊ะ เป็นอาหารอย่างหนึ่งซึ่งทำจากหมูที่หั่นบาง ๆ หรือหั่นเป็นก้อน อาจจะเป็นเนื้อหมู, เนื้อไก่, เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ และเนื้อปลา ฯลฯ เสียบด้วยไม้เสียบที่ทำจากไม้ไผ่ แล้วนำไปย่างบนเตาฟืนหรือเตาถ่าน เสิร์ฟพร้อมเครื่องปรุงรสที่มีรสจัด (ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละตำรับ) เชื่อกันว่าสะเต๊กรูปแบบแรกมีที่มาจากอาหารชวา แล้วเผยแพร่ไปทั่วอินโดนีเซีย จนกลายเป็นอาหารประจำชาติ
 
ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์
 
17. ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นอาหารรสจัด ที่ปรุงด้วยการนำเนื้อไก่สดไปผัดกับพริก และมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งจะต่างจากสูตรของเสฉวนที่จะทอดเนื้อไก่ก่อนนำไปผัด มักจะเอาเนื้อส่วนที่เป็นอกไก่มาผัดน้ำมันหอยให้เข้ากับเครื่องเทศต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นเมนูที่อร่อย เด็ดแน่นอนหากได้ลองทาน
 
กะเพราไก่ไข่ดาว
 
18. กะเพราไก่ไข่ดาว เป็นอาหารจานเดียวของไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจานหนึ่ง เป็นอาหารไทยริมทาง อาหารตามสั่งที่มีทั่วไปในประเทศไทย บางครั้งเรียกว่า เมนูสิ้นคิด เนื่องจากเมื่อจะสั่งอาหารแล้วไม่รู้ว่าจะรับประทานอะไรก็มักจะสั่งผัดกะเพรา ผัดกะเพราน่าจะเกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 7 เพราะคนจีนนำเอามาขายในร้านอาหารตามสั่ง เริ่มกลายเป็นเมนูอาหารในบ้านของชาวญี่ปุ่น และชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยมีอาหารไทยติดอยู่หนึ่งใน 15 อันดับ คือ ข้าวผัดกะเพรา
 
ต้มข่าไก่
 
19. ต้มข่าไก่ อีก 1 เมนูอาหารไทยน้ำกะทิที่มีลักษณะคล้ายกับต้มยำแต่เสริมเพิ่มเติมด้วยน้ำกะทิลงไปเพิ่มความกลมกล่อม เพิ่มกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยข่าอ่อน และข่าแก่ มีรสชาติหอมหวาน, มัน และไม่มีรสจัดจ้านมากเกินไปจึงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติ
 
ข้าวผัดสัปปะรด
 
20. ข้าวผัดสัปปะรด เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ฝรั่งร้องว้าวบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสุดแสนอะเมซิ่ง เพราะเนื่องจากไม่คิดว่าผลไม้จะสามารถนำมาทำเป็นอาหารคาวได้อร่อยอย่างลงตัวขนาดนี้ โดยอีกทั้งเมนูนี้ก็ดังไกลจนได้ไปโผล่ในการ์ตูนชื่อดังอย่าง “Mickey Mous ตอน Our Floating Dreams” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตลาดลอยน้ำของไทย และบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นแบบสนุก ๆ ของข้าวผัดสัปปะรดในแบบฉบับของดิสนีย์ ซึ่งข้าวผัดสัปปะรดก็มีรสชาติเปรี้ยวหวานกำลังดี ยิ่งเสิร์ฟมาในถ้วยที่เป็นลูกสัปปะรดยิ่งชวนให้ตื่นตาตื่นใจ และดูสวยงามมาก ๆ
 
ก๋วยเตี๋ยวเรือ
 
21. ก๋วยเตี๋ยวเรือ คือก๋วยเตี๋ยวแบบไทยชนิดหนึ่ง มีรสชาติจัดจ้าน น้ำก๋วยเตี๋ยวสีข้นคล้ายก๋วยเตี๋ยวเนื้อหรือก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เพราะใส่เครื่องปรุงที่ต่างจากก๋วยเตี๋ยวชนิดอื่น คือ ซีอิ๊วดำ, เต้าหู้ยี้ และเครื่องเทศต่าง ๆ เป็นต้น อีกทั้งยังมี น้ำตก คือ เลือดวัวหรือหมูผสมกับเกลือ สำหรับปรุงใส่ในน้ำก๋วยเตี๋ยว เป็นก๋วยเตี๋ยวที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมานาน ในสมัยก่อนมักจะขายในเรือพายตามคลอง จึงเป็นที่มาของชื่อ ชามที่ใส่จะมีลักษณะเล็ก ปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ก๋วยเตี๋ยวหันมาเปิดร้านบนบกในอาคารพาณิชย์แทน แต่ก็ยังไม่ละทิ้งสัญลักษณ์ของความเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือ โดยจะใช้เรือตั้งอยู่หน้าร้าน และชามก็ยังใช้เป็นชามขนาดเล็กอยู่ การรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือ นิยมรับประทานกับกากหมูหรือแคบหมู และใบกะเพรา หรือโหระพาเพื่อดับกลิ่นคาว ป็นเมนูที่อร่อยถูกปากฝรั่งขนาดนี้ ถือว่าอีกหนึ่งเมนูที่เป็นที่ชื่นชอบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตัวก๋วยตี๋ยวเรือที่เสิร์ฟพร้อมน้ำซุปเข้มข้นร้อน ๆ หอมกลิ่นสมุนไพร
 
พล่ากุ้ง
 
22. พล่ากุ้ง เมนูอาหารไทยชาววัง พล่า หมายถึง อาหารเมนูยำที่ใช้เนื้อสด ๆ ในการทำ ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว, น้ำปลา, พริก, ตะไคร้ฝอย และใบสะระแหน่ เป็นต้น เป็นหนึ่งในอาหารไทยโบราณที่ที่เป็นที่นิยมแต่ในปัจจุบัน การนิยมทานอาหารดิบนั้นลดลง เพราะผู้คนคำนึงถึงสุขอนามัยมากขึ้น พล่าจึงประยุกต์มาใช้เนื้อสัตว์แบบสุกแล้วมากขึ้น เช่น จานนี้ “พล่ากุ้ง” กุ้งสดเนื้อแน่น คลุกด้วยน้ำยำรสจัดจ้าน ถ้าได้ลองทานสักครั้งจะต้องติดใจแน่นอน
 
แกงพะแนง
 
23. แกงพะแนง ติดอันดับ 1 อาหารประเภทสตูว์ รสชาติดีที่สุดในโลกจาก Taste Atlas เป็นอาหารไทยประเภทแกงข้นที่เน้นรสชาติเค็ม และหวาน โดยมีส่วนผสมหลักของเครื่องแกง คือ พริก, ข่า, ตะไคร้, รากผักชี, เมล็ดผักชี เมล็ดยี่หร่า, กระเทียม, อบเชย และเกลือ ใส่เนื้อสัตว์ได้ทั้งเนื้อวัว, เนื้อหมู, เนื้อไก่ และอื่น ๆ
 
ข้าวเหนียวมะม่วง
 
24. ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นขนมพื้นถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ นิยมรับประทานในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวมะม่วง ข้าวเหนียวมะม่วงโดยทั่วไปประกอบด้วยข้าวเหนียวมูนที่แต่งรสหวานโดยใช้น้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าว มูนเข้ากับกะทิ และเกลือ รูปแบบที่รับประทานในประเทศไทยนิยมใช้มะม่วงสุกซึ่งมีรสชาติหวาน
 
ลาบหมู
 
25. ลาบหมู อาหารอีสาน ลาบ มีต้นกำเนิดมาจากมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีนและได้รับความนิยมในประเทศลาวและทางตอนเหนือ (ล้านนา) และตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของไทย ทั้งนี้ ในแต่ละภูมิภาคและจังหวัดต่าง ๆ มีการใช้เครื่องปรุง เครื่องเทศ สมุนไพรและวิธีการทำลาบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การปรุงลาบยังมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับเนื้อสัตว์ที่ใช้ ลาบอีสานผ่านการปรุงรสโดยใช้เครื่องปรุงไม่กี่อย่าง อาทิ พริกป่น น้ำมะนาว น้ำปลาและข้าวคั่วที่หลอมรวมรสชาติเข้าด้วยกัน จากนั้นตบท้ายสมุนไพรสด อาทิ ต้นหอม ผักชีและใบสะระแหน่ และ​ เนื่องจากดินแดนอีสานอยู่ห่างไกลจากเส้นทางการค้า อาหารอีสานจึงไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องเทศอบแห้ง
 
แกงส้มผักรวมกุ้งสด
 
26. แกงส้มผักรวมกุ้งสด เป็นอาหารไทยภาคกลางที่มีรสเปรี้ยวนำ จึงเรียกว่าแกงส้ม ซึ่งแปลว่าเปรี้ยว โดยใช้มะขามเปียกเป็นส่วนผสมให้มีรสเปรี้ยว เนื้อสัตว์ที่นิยมใส่ในแกงส้ม คือ เนื้อปลา และกุ้งเป็นหลักและเราสามารถเติมผักนานาชนิดลงไปในแกงส้ม เช่น ผักบุ้ง, ดอกแค, มะละกอดิบ, น้ำเต้าอ่อน, แตงโมอ่อน, ผักกาดขาว, ถั่วฝักยาว, กวางตุ้ง และผักกะเฉด นิยมเรียกแกงส้มที่มีผักหลายอย่างว่า แกงส้มกุ้งผักรวม
 
น้ำตกหมู
 
27. น้ำตกหมู อาหารอีสาน อาหารไทยสไตล์อีสานรสเด็ดเผ็ดแซ่บ จะมาแรงขึ้นแท่นเป็นเมนูเด็ดโดนใจชาวต่างชาติได้ด้วย ก็คงเพราะเสน่ห์ของความอร่อยครบรส ทั้งเปรี้ยว, เค็ม และเผ็ด แถมยังหอมกลิ่นข้าวคั่ว
 
ข้าวหมกไก่
 
28. ข้าวหมกไก่ เป็นอาหารใต้ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในตะวันออกกลางรวมทั้งชาวมุสลิมในประเทศต่าง ๆ ต้นกำเนิดของข้าวหมกมาจากอินเดียซึ่งรับวัฒนธรรมการปรุงข้าวหมกจากเปอร์เซีย และได้พัฒนามาเป็นบิรยานี ในปัจจุบัน ข้าวหมกที่คนไทยรู้จักกันดีที่สุดคือข้าวหมกไก่ ซึ่งตรงกับข้าวหมกประเภทบิรยานีของอินเดีย
 
ปลากะพงนึ่งมะนาว
 
29. ปลากระพงนึ่งมะนาว เป็นเมนูปลาสุดแซบ อาหารไทยรสชาติเข้มข้นจัดจ้าน หอมอร่อยมาก เนื้อปลากระพงนึ่งนุ่ม ๆ ราดด้วยน้ำราดมะนาวรสเด็ด หอมผักสมุนไพรต่าง ๆ นิยมรับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ หรือรับประทานเป็นกับแกล้ม
 
จิ้มจุ่ม
 
30. จิ้มจุ่ม บ้างก็เรียก หมูจุ่ม เป็นอาหารประเภทเดียวกันกับ แจ่วฮ้อน เป็นอาหารไทยภาคอีสาน โดยคำว่าจิ้มจุ่ม หมายถึงการนำน้ำซุปมาผสมกับแจ่ว ใส่ผัก และเนื้อสัตว์ลงไป ซึ่งจะมีน้ำซุปต้มลงในหม้อดิน ส่วนผสมของน้ำซุปประกอบด้วยสมุนไพรไทย, ข่า, ตะไคร้, พริก, โหระพา และผักต่าง ๆ เนื้อสัตว์ที่นิยมใส่ลงไปคือ เนื้อหมู เนื้อไก่และอาหารทะเลต่าง ๆ ผักที่นิยมคือ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้งและโหระพา ส่วนน้ำจิ้มจะเป็นน้ำจิ้มแจ่ว, น้ำจิ้มสุกี้ ส่วนแจ่วฮ้อนน้ำซุปจะออกสีที่เข้มข้นคล้าย ๆ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก มีส่วนผสมจากสมุนไพรไทย เครื่องต้มยำ เลือดวัว เลือดหมู และขี้เพี้ย ผักที่นิยมคือ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้งและโหระพา ส่วนน้ำจิ้มจะเป็นน้ำจิ้มแจ่วผสมกับขี้เพี้ยเล็กน้อย แต่เดิมจิ้มจุ่มมีขายตามร้านอาหารข้างถนน และร้านอาหารอีสาน ในปัจจุบันร้านชาบูชาบูและร้านสุกี้ยากี้จำนวนมากในไทยได้ปรับปรุงสูตรจิ้มจุ่ม และวิธีการกินให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ
 
ซุปเปอร์ตีนไก่
 
31. ซุปเปอร์ตีนไก่ เป็นอาหารไทยที่มีรูปแบบ และรสชาติแตกต่างกันไปตามสูตร ทั้งแบบที่คล้ายต้มยำน้ำใส คล้ายต้มยำน้ำข้น หรือแบบอาหารตุ๋นยาจีน แบบที่คล้ายต้มยำจะใช้น้ำซุปใส่พวกข่า, ตะไคร้ และใบมะกรูด วัตถุดิบที่สำคัญคือ ขาไก่ (ตีนไก่) ที่นำมาเคี่ยวจนเปื่อยนุ่ม ปรุงน้ำซุปให้มีรสเปรี้ยวนำด้วยน้ำมะนาว ตามด้วยรสเผ็ดและเค็มจากพริกขี้หนูและน้ำปลา ส่วนแบบอาหารตุ๋นยาจีนจะใส่ชุดตุ๋นสมุนไพรจีนแบบน้ำใส โดยอาจผสมเครื่องพะโล้บางอย่าง เป็นกับข้าวยอดนิยมในร้านข้าวต้มรอบดึกในเมืองใหญ่ ๆ
 
ผัดผักบุ้งไฟแดง
 
32. ผัดผักบุ้งไฟแดง เป็นเมนูอาหารไทยเพื่อสุขภาพยอดนิยม ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารมากมาย ทั้งแคลเซียม วิตามิน A และไฟเบอร์จากผักบุ้ง ซึ่งช่วยในการบำรุงสายตา อาศัยความรวดเร็ว และความร้อนแรงของไฟในการผัด ทำให้บางครั้งไฟลุกท่วม จนเรียกกันติดปากว่าผักบุ้งไฟแดง
 
ปอเปี๊ยะทอด
 
33. ปอเปี๊ยะทอด เป็นอาหารเวียดนามที่คนไทยนิยมกินกัน ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารไทย ต่อมาได้ถูกผสมผสานให้ออกมาในรูปแบบอาหารไทยเวียดนาม แผ่นแป้งปอเปี๊ยะทำจากแป้งข้าวเจ้าซึ่งเป็นแผ่นแป้งที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม ปอเปี๊ยะมีทั้งชนิดสดและทอด จัดเป็นของกินเล่นหรือของว่างที่กินได้เกือบตลอดวัน เป็นที่นิยมในชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
 
ข้าวผัดกุ้ง
 
34. ข้าวผัดกุ้ง เป็นอาหารไทยยอดนิยมประเภทข้าวผัด เป็นการนำข้าวสวยลงไปผัดคลุกกับซอส น้ำพริก หรือเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เพื่อให้ได้รสชาติ เช่น ซอสมะเขือเทศ, ซอสพริก, ซีอิ๊วดำ, ซอสถั่วเหลือง หรือน้ำพริกชนิดต่าง ๆ และมีการใส่เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ลงไป เช่น หมู, ไก่, ปลาหมึก, ปู, กุ้ง หรือมันกุ้ง แหนม เป็นต้น โดยเรียกชื่อข้าวผัดชนิดนั้น ๆ ตามชื่อเนื้อสัตว์ที่ใส่ลงไป เช่น ข้าวผัดหมู, ข้าวผัดกุ้ง และข้าวผัดปู เป็นต้น
 
ห่อหมก
 
35. ห่อหมก เป็นอาหารพื้นเมืองดั้งเดิมไทย สมัยก่อนจะใช้วิธีการห่อใบตองแล้วนำมาใส่ใต้เตาที่มีขี้เถ้าใส่ลงไปให้มีขี้เถ้าอยู่รอบ ๆ ห่อ อาศัยความร้อนจากถ่านด้านบน โดยด้านบนยังสามารถปรุงอาหารได้ตามปกติ ซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนานสำหรับการหมก เนื่องจากไม่ได้สัมผัสกับไฟโดยตรง ต่อมาได้พัฒนามาเป็นการย่างบนเตา จนกระทั่งชาวจีนได้นำกรรมวิธีการนึ่งเข้ามา จึงได้เปลี่ยนจากการย่างบนเตามาเป็นการนึ่งแบบจีนแทน เพราะสะดวกและทำให้ห่อหมกสุกได้ทั่วถึงและรวดเร็วกว่านั่นเอง จะนิยมรับประทานกันในทุกภาคส่วนของประเทศ แต่ละพื้นที่จะมีสูตรการทำที่แตกต่างกันออกไป มีกลิ่นหอมของเครื่องแกง มีรสหวานของกะทิ และมีความเผ็ดนิด ๆ เป็นรสชาติที่ถูกปากทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ
 
แกงจืดวุ้นเส้น
 
36. แกงจืด หรือต้มจืด หนึ่งในเมนูอาหารไทยที่ทำกินกันแทบทุกบ้าน เพราะอร่อยแถมยังเหมาะกับคนที่ชอบซดน้ำซุปร้อน ๆ คล่องคอ มีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อมมาก เมื่อเข้าสู่ประเทศไทย จึงมีการปรับปรุงสูตร เพื่อให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น แต่ก็ยังคงเน้นเป็นอาหารสายสุขภาพ เพราะจะมีการใส่ทั้งผัก และเนื้อสัตว์ผสมผสานกันอย่างลงตัวในทุกเมนูแกงจืด ชาวต่างชาติรับประทานได้อย่างแน่นอน เนื่องจากรสชาติกลาง ๆ และเผ็ดเล็กน้อย จากเครื่องสมุนไพรไทย
 
ขนมไทยโบราณ นั้นมีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทย คือ จะมีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ วิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน โดยมีสีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีที่ประณีตบรรจง
 
โดยในสมัยโบราณคนไทยจะทำขนมเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น เป็นต้นว่า งานทำบุญ งานแต่ง เทศกาลสำคัญ หรือต้อนรับแขกสำคัญ เพราะขนมบางชนิดจำเป็นต้องใช้กำลังคนอาศัยเวลาในการทำพอสมควร โดยส่วนใหญ่เป็น ขนบประเพณีไทย เป็นต้นว่า ขนมงาน เนื่องในงานแต่งงาน ขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมครก ขนมถ้วย ฯลฯ ส่วนขนมในรั้วในวังจะมีหน้าตาสวยงาม และมีความประณีตวิจิตรบรรจงในการจัดวางรูปทรงขนมสวยงาม โดยสามารถแบ่งขนมไทย ขนมโบราณ ขนมหวานไทย ได้ตามภาคของประเทศไทยดังนี้
 
ขนมไทยภาคเหนือ 

1. ขนมไทยภาคเหนือ
 อาหารว่างภาคเหนือ ส่วนใหญ่นั้นจะทำจากข้าวเหนียว และส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้ม เช่น ขนมวง, ขนมเทียน และข้าวต้มหัวหงอก เป็นต้น โดยมักทำกันในเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์ หรือวันเข้าพรรษา เป็นต้น
 
ขนมที่นิยมทำในงานบุญเกือบทุกเทศกาลคือขนมจ๊อก หรือขนมเทียน ขนมที่หาซื้อได้ทั่วไปคือ ขนมปาดซึ่งคล้ายขนมศิลาอ่อน ข้าวอีตู หรือข้าวเหนียวแดง, ขนมเกลือ, ข้าวแตน หรือข้าวแต๋น เป็นต้น ขนมที่นิยมรับประทานเฉพาะฤดูหนาว ได้แก่ ข้าวหนุกงา ซึ่งเป็นงาคั่วตำกับข้าวเหนียว ถ้าใส่น้ำอ้อยด้วยเรียกงาตำอ้อย ข้าวแคบ หรือข้าวเกรียบว่าว, ลูกลานต้ม, ลูกก่อ, ถั่วแปะยี และถั่วแระ เป็นต้น
 
ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนมพื้นบ้านได้แก่ ขนมอาละหว่า ซึ่งคล้ายขนมหม้อแกง ขนมเปงม้ง ซึ่งคล้ายขนมอาละหว่าแต่มีการหมักแป้งให้ฟูก่อน ขนมส่วยทะมินทำจากข้าวเหนียวนึ่ง น้ำตาลอ้อยและกะทิ ในช่วงที่มีน้ำตาลอ้อยมากจะนิยมทำขนมอีก 2 ชนิดคือ งาโบ๋ ทำจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยวให้เหนียวคล้ายตังเมแล้วคลุกงา กับ แปโหย่ ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วแปยี มีลักษณะคล้ายถั่วตัด นับเป็นอาหารเหนือที่ได้รับความนิยม
 
ขนมไทยภาคกลาง 

2. ขนมไทยภาคกลาง ขนมไทยทำง่าย ขนมโดยส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวเจ้า เช่น ข้าวตัง, ข้าวเหนียวมูน, นางเล็ด และมีขนมโบราณที่หลุดลอดมาจากรั้ววัง จนแพร่หลายสู่สามัญชนทั่วไป เช่น ลูกชุบ, ขนมกลีบลำดวน, หม้อข้าวหม้อแกง, ทองหยิบ, ฝอยทอง, ขนมตาล, ขนมเผือก และขนมกล้วย เป็นต้น
 
ขนมไทยภาคอีสาน
 
3. ขนมไทยภาคอีสาน ทำขนมไทยที่ทำกันง่าย ๆ โดยอาจไม่ต้องพิถีพิถันมากเหมือนขนมภาคอื่น ขนมพื้นบ้านอีสานได้แก่ บายมะขาม หรือมะขามบ่ายข้าว, ข้าวจี่ และข้าวโป่ง เป็นต้น นอกจากนั้นมักเป็นขนมในงานบุญพิธี ที่เรียกว่า ข้าวประดับดิน โดยชาวบ้านนำข้าวที่ห่อใบตอง มัดด้วยตอกแบบข้าวต้มมัด ข้าวทิพย์ กระยาสารท ข้าวยาคู ขนมพื้นบ้านของจังหวัดเลยมักเป็นขนมง่าย ๆ เช่น ข้าวบ่ายเกลือ, ข้าวเหนียวนึ่งจิ้มน้ำผึ้ง คือข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนจิ้มเกลือให้พอมีรสเค็ม ถ้ามีมะขามจะเอามาใส่เป็นไส้เรียกมะขามบ่ายข้าว น้ำอ้อยกะทิ ทำด้วยน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียว ใส่ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวซอย ข้าวพองทำมาจากข้าวตากคั่วใส่มะพร้าวหั่นเป็นชิ้นๆ และถั่วลิสงคั่ว กวนกับน้ำอ้อยจนเหนียวเทใส่ถาด ในงานบุญต่างๆจะนิยมเป็นทำขนมปาด (คล้ายขนมเปียกปูนของภาคกลาง) ลอดช่อง และขนมหมก (แป้งข้าวเหนียวโม่ ปั้นเป็นก้อนกลมใส่ไส้กระฉีก ห่อเป็นสามเหลี่ยมคล้ายขนมเทียน ก่อนที่จะนำไปนึ่ง)
 
ขนมไทยภาคใต้ 

4. ขนมไทยภาคใต้ ขนมไทยง่าย ชาวใต้มีความเชื่อในเทศกาลวันสารท เดือนสิบ จะทำบุญด้วยขนมที่มีเฉพาะในท้องถิ่นภาคใต้เท่านั้น เช่น ขนมพอง, ขนมลา, ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ, ขนมดีซำหรือเมซำ, ขนมเจาะหู หรือเจาะรู, ขนมไข่ปลา, ขนมบ้า หรือขนมลูกสะบ้า และขนมแดง เป็นต้น 
 
ขนมไทย อีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่บ่งบอกสะท้อนถึงความความตัวตนของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากความพิถีพิถันในการปรุงแต่งและจัดสรรหน้าตา ได้อย่างหน้าตา อีกทั้งรสชาติหอมหวาน ใครได้ลิ้มลองทานก็ต้องติดอกติดใจกันแทบทุกคน เพราะขนมไทยที่จัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยพอดีคำจนกลายเป็นหนึ่งในสิ่งดึงดูดให้นักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก ได้แก่
 
ขนมชั้น ขนมไทยชาววัง ขนมโบราณ
 
37. ขนมชั้น ขนมไทยชาววัง ขนมโบราณ มีรสชาติหวานละมุนลิ้น และมีกลิ่นหอมใบเตย เป็นขนมชาววังจัดเป็นขนมมงคลที่นิยมใช้ตามงานมงคลต่าง ๆ คนโบราณมีความเชื่อว่า หากสามารถทำได้ถึง 9 ชั้น ก็จะทำให้มีสิริมงคลก้าวหน้า และเจริญรุ่งเรืองในตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าภาพผู้จัดงาน หรืองานมงคลสมรสบ่าวสาว ปัจจุบันมีการนำมาดัดแปลงประดิษฐ์เป็นช่อดอกกุหลาบ หรือช่อดอกไม้ต่าง ๆ ตามสมัยนิยมและมีความสวยงามไม่แพ้ขนมชนิดอื่นเลย
 
ขนมลูกชุบ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
38. ขนมลูกชุบ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ ขนมชาววังขนานแท้อย่าง ที่ในปัจจุบันยังเป็นขนมที่ยังได้รับความนิยม หาทานง่าย มีรสชาติอร่อยถูกปาก และมีหน้าตาที่น่ารับประทาน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนรูปทรงของขนมบ้างตามความสร้างสรรค์ของคนทำเพื่อให้ดูตามยุคสมัย และช่วยดึงดูดให้คนอยากรับประทานมากขึ้น แต่เชื่อว่าขนมลูกชุบก็ยังมีรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์อยู่ทุกสมัยแน่นอน ขนมลูกชุบ เป็นขนมชาววังสมัยก่อน ขนมไทยโบราณสัญชาติโปตุเกส เข้ามาเผยแพร่ในไทยสมัยพระนารายณ์ มีส่วนผสมหลัก คือ อัลมอนด์ แต่ในยุคนั้น แต่เพื่อให้เข้ากับประเทศไทยให้หาวัตถุดิบได้ง่ายขึ้นจึงปรับมาเป็นถั่วเขียวแทน
 
ส้มฉุนลอยแก้ว วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
39. ส้มฉุนลอยแก้ว วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ สัมผัสความเย็นจากน้ำแข็งที่นำเข้ามาจากสิงคโปร์ราวสมัยรัชกาลที่ 4 ของว่างชนิดลอยแก้วอย่าง ส้มฉุน ที่รวมความสดชื่นของผลไม้ฤดูร้อน และหอมเย็นจากผลส้มซ่า ซึ่งเป็นกลิ่นรสจากธรรมชาติที่ช่วยคลายร้อนได้ตามยุคสมัย ส้มฉุน คือของกินชนิดหนึ่ง ใช้มะม่วงดิบ มะยมดิบ ยำกับกุ้งแห้ง ใส่น้ำปลา น้ำตาล บางทีก็นำไปตากแดด จะเรียกว่า ส้มลิ้ม
 
ขนมกลีบลำดวน วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
40. ขนมกลีบลำดวน วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ เป็นขนมไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง คือรูปทรงที่คล้ายกับกลีบของดอกลำดวน และที่สำคัญรสชาติที่หวานหอมเทียนอบเป็นอย่างมาก จึงถูกปากคนทุกยุคสมัย  โดยคนโบราณมีความเชื่อว่าดอกลำดวนเป็นดอกไม้ที่มีเสน่ห์ยามค่ำคืน และจะส่งกลิ่นหอมรัญจวนใจเฉพาะตัวเปรียบกับความหมายของขนมกลีบลำดวน ที่ช่วยทำให้มีชื่อเสียงขจรขจายและยังมีสร้างความงดงามให้กับคู่ชีวิต จึงนิยมใช้ในงานมงคล
 
ขนมน้ำดอกไม้ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
41. ขนมน้ำดอกไม้ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ ขนมน้ำดอกไม้นั้นมีชื่อเรื่องอีกอย่างว่า ขนมชักหน้า โดยขนมชนิดนี้จะหวานหอมน้ำลอยดอกมะลิ บอกเลยว่าจะต้องหลงเสน่ห์ขนมไทยอย่างแน่นอน มีสีสันสดใสน่าตาน่าทานหวานฉ่ำรับทุกเทศกาล และเนื้อสัมผัสจะหนุบหนับ เหนียวนุ่ม รสชาติหวานกำลังดี
 
ขนมทองหยิบ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
42. ขนมทองหยิบ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ เป็นขนมโปรตุเกสที่เผยแพร่ในประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยท้าวทองกีบม้า จนเป็นที่แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ขนมชาววังทำจากไข่แดงตีให้จนฟู ก่อนนำไปหยอดลงในน้ำเชื่อมเดือดเพื่อทำให้สุก เมื่อสุกแล้วจึงนำมาจับจีบ ใส่ถ้วยตะไล ปัจจุบัน มักใช้เป็นของหวานในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส, งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ
 
ขนมทองหยอด วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
43. ขนมทองหยอด วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ ทองหยอดเป็นขนมโบราณชนิดหนึ่งซึ่งท่านผู้หญิง วิชเยนทร์ หรือนามเดิม มารี นินยา เดอ กีย์มาร์ เชื้อสายญี่ปุ่น โปรตุเกส ภรรยาเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (นามเดิมคอนสแตน ติน ฟอลคอลชาวกรีก) ท่านผู้หญิงวิชเยนทร์ นั้นมีตำแหน่งเป็นท้าวทองกีบม้า ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้ปรุงอาหารหลวงโดยท่านได้นำเอา ความรู้ที่มีมาแต่เดิมผสมผสานกับความรู้ท้องถิ่น โดยปรุงแต่งอาหารขึ้นใหม่ จนเป็นที่รู้จัก คือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนับเป็นขนมชั้นดี ใช้ในงาน มงคลต่าง ๆ ซึ่งคนไทยเรายังถือเคล็ดกันอยู่จึงใช้ ขนมที่ขึ้นต้นด้วยทอง เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลตามชื่อขนม
 
ขนมฝอยทอง วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
44. ขนมฝอยทอง วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ เป็นขนมโปรตุเกส โดยลักษณะเป็นเส้นฝอยสีทอง ทำจากไข่แดงของไข่เป็ด ซึ่งเคี่ยวในน้ำเดือดและน้ำตาลทราย ชาวโปรตุเกสใช้รับประทานกับขนมปัง กับอาหารมื้อหลักจำพวกเนื้อสัตว์ และใช้รับประทานกับขนมเค้ก โดยมีกำเนิดจากเมืองอาไวรู (Aveiro) เมืองชายฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโปรตุเกส เข้ามาในประเทศไทย พร้อมกับทองหยิบและทองหยอด ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีการประยุกต์มาจากพระราชวัง โดยมารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (ท้าวทองกีบม้า, พ.ศ. 2202 - 2265) ลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ท้าวทองกีบม้ามีหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้น เป็นผู้ทำอาหารเลี้ยงต้อนรับคณะราชทูตจากฝรั่งเศสที่มาเยือนกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น จึงถือได้ว่าเป็นขนมชาววัง
 
ขนมครกชาววัง วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
45. ขนมครกชาววัง วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ ในยุคปัจจุบันนี้เราจะรู้สึกว่าหาทานได้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ หลาย ๆ คนในยุคสมัยปัจจุบันคงจะมีความรู้สึกเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งว่า ขนมชาววัง ไทยโบราณหลาย ๆ อย่างของพวกเรา ที่เราเคยทานกันตอนเด็ก ๆ แต่ตอนนี้หาทานได้ยากมากขึ้น บางอย่างแทบจะหาทานไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
 
ขนมตาล วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
46. ขนมตาล วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ เป็นขนมชาววังไทยดั้งเดิม เนื้อขนมมีลักษณะเป็นแป้งสีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู มีกลิ่นตาลหอมหวาน ขนมตาลทำจากเนื้อตาลจากผลตาลที่สุกงอม โดยกรรมวิธีใช้แป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล ผสมกันตามกรรมวิธี จากนั้นใส่กระทงใบตอง โรยมะพร้าวขูด และนำไปนึ่งจนสุก จากนั้นเนื้อลูกตาลยีที่เป็นส่วนผสมในการทำขนมตาล ได้จากการนำผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ เนื้อข้างในมีสีเหลือง มีกลิ่นแรง ซึ่งส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง มาปอกเปลือกออก นำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้า ผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อลูกตาล โดยในปัจจุบัน หาทานขนมตาลรสชาติดีได้ยาก เนื่องจากปริมาณการปลูกต้นตาลที่ลดลง ขนมตาลที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการมักใส่เนื้อตาลน้อย เพิ่มแป้งและเจือสีเหลืองแทน ซึ่งทำให้ขนมตาลมีเนื้อกระด้าง ไม่หอมหวาน และไม่อร่อย
 
ขนมใส่ไส้ ขนมสอดไส้ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
47. ขนมใส่ไส้ ขนมสอดไส้ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ ขนมใส่ไส้ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขนมสอดไส้ เป็นขนมไทยที่ใช้ในพิธีขันหมากในสมัยโบราณ โดยขนมใส่ไส้นี้จะห่อด้วยใบตองแล้วมีเตี่ยวคาด (เตี่ยวก็คือทางมะพร้าว) ห่อเป็นทรงสูง ขนมใส่ไส้มีกลิ่นหอม และหวานจากตัวไส้ รสเค็มมันด้วยหน้ากะทิที่สดใหม่ หน้าข้นพอดี ไม่เละ
 
ปลาแห้งแตงโม วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
48. ปลาแห้งแตงโม เมนูของว่างที่คนโบราณนิยมทานในฤดูร้อน ที่ช่วยดับร้อน และทำให้สดชื่น ด้วยน้ำอันชุ่มฉ่ำจากแตงโม เข้ากันกับรสชาติเค็มนิด ๆ ของปลาแห้ง ซึ่งเป็นของว่างที่หาทานยากในยุคสมัยนี้
 
สาคูไส้ปลา สาคูไส้หมู วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
49. สาคูไส้ปลา สาคูไส้หมู วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหารชาววังที่หารับประทานได้ค่อนข้างยากแล้วในปัจจุบันอีกทั้งตัวแป้งสาคูที่ทำจากต้นสาคูค่อนข้างหายยากนั้นเองทำให้รสชาติที่เป็นต้นตำรับแท้ๆนั้นค่อนข้างทำได้ยาก แต่จะใช้แป้งสาคูสำเร็จรูปทั่วไปก็อร่อยไปอีกแบบ
 
ขนมถ้วยโบราณ วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
50. ขนมถ้วย หรือขนมถ้วยตะไล เป็นขนมไทยที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล นึ่งในถ้วยตะไลซึ่งเป็นถ้วยกระเบื้องเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง ใส่ใบเตย และราดด้วยน้ำกะทิอีกครั้ง โดยบางครั้งอาจผสมเกลือหรือไข่ ย่านที่ขายและพบเห็นขนมถ้วยที่ได้บ่อยที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
 
ขนมเบื้อง วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
51. ขนมเบื้อง วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ เป็นขนมชาววังที่ในสมัยนี้ยังได้รับความนิยม และหาทานได้ง่าย โดยในสมัยก่อนความท้าทายของขนมเบื้อง คือ การละเลงแป้ง เพราะถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ขนมเบื้องออกมาหน้าตาน่ารับประทาน และสวยงาม โดยขนมเบื้องมีทั้งไส้หวาน และไส้เค็ม โดยทั่วไปมี 2 หน้าคือ หน้ากุ้ง และหน้าหวาน ขนมเบื้องหน้าหน้ากุ้งใช้กุ้งแม่น้ำตัวโตสับละเอียดผสมกับพริกไทยและผักชีตำพร้อมมันกุ้ง นำไปผัดใส่น้ำตาล น้ำปลาหรือเกลือให้หอม โดยปัจจุบันมักเป็นหน้ามะพร้าวใส่สีแดง ส่วนหน้าหวานมีส่วนผสมของฟักเชื่อม ฝอยทองและพลับแห้งที่หั่นบาง ๆ ปัจจุบันมีแต่ฝอยทองกับครีม อย่างไรก็ตามในวังสวนสุนันทา มีหน้าหมูอีกอย่างหนึ่ง ใช้หมูสับคลุกคล้ากับกระเทียม พริกไทย รากผักชีโขลก ใส่พริกขี้หนู นำไปรวนพอสุก
 
ขนมกล้วยบวชชี วิธีทำขนมไทยชาววัง สูตรขนมโบราณ
 
52. ขนมกล้วยบวชชี เป็นขนมหวานไทยชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบหลักของกล้วยบวชชีประกอบด้วย กล้วยน้ำว้า มะพร้าวหรือน้ำกะทิ ในสมัยก่อนคนไทยนิยมใช้กะทิเป็นส่วนประกอบของอาหารจึงทำให้เกิดเมนูนี้ ปัจจุบันสามารถใช้กล้วยไข่แทนได้ โดยชาวอีสาน และชาวภาคกลาง สมัยก่อนนิยมทำกล้วยบวชชีเพื่อรับประทานกันภายในครอบครัวหลังจากทำงานการเกษตร ทำไร่อย่างเหน็ดเหนื่อยโดยใช้วัตถุดิบจากกล้วยภายในบ้านของตนเอง นอกจากนี้ยังนำกล้วยบวดชีไปทำบุญที่วัด ใช้รับแขกที่มาบ้าน งานขึ้นบ้านใหม่หรือตามประเพณีต่าง ๆ โดยสาเหตุที่ชื่อ กล้วยบวชชี เพราะสีจะค่อนข้างขาว จึงเปรียบได้กับเครื่องแต่งกายของชี

ขนมหม้อแกง หรือขนมกุมภมาศ ขนมไทยชาววัง

53. ขนมหม้อแกง หรือขนมกุมภมาศ ขนมไทยชาววัง คือขนมที่ใช้ไข่ แป้ง และกะทิเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยจะนำผสมกันในถาดตามสัดส่วน แล้วจึงนำไปอบจนหน้าของขนมหม้อแกงมีสีน้ำตาลทอง น่ารับประทาน โดยปัจจุบันมีการทำเผือก เม็ดบัว ถั่ว และหอมเจียว มาผสม และแต่งหน้าขนมหม้อแกง จึงทำให้ขนมหม้อแกงมีรสชาติที่กลมกล่อมมากขึ้น ขนมหม้อแกงได้รับความนิยมชมชอบจากชนชั้นสูงในวัง ต่อมาเมื่อลูกมือในบ้านของท้าวทองกีบม้าได้แต่งงาน ก็ได้นำสูตร และวิธีการทำขนมหม้อแกงออกมาถ่ายทอด ทำให้ชาวบ้าน คนธรรมดา ได้มีโอกาสรู้จักกับขนมหม้อแกง เมื่อปี พ.ศ. 2529 จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้มีการบูรณะพระนครคีรีให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นทำขนมหม้อแกงที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นออกมาจำหน่าย ทำให้ขนมหม้อแกงเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี

บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร หมวดหมู่: บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร

รีวิวท่องเที่ยว, รีวิวอาหาร กลุ่ม: รีวิวท่องเที่ยว, รีวิวอาหาร

ปรับปรุงล่าสุด : 3 เดือนที่แล้ว

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก

สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุสาวรีย์(3)

แลนด์มาร์ก และอนุสรณ์สถาน แลนด์มาร์ก และอนุสรณ์สถาน(23)

พระราชวัง พระราชวัง(13)

ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี(27/28)

พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์(59)

บ้านโบราณ และเมืองโบราณ บ้านโบราณ และเมืองโบราณ(3)

อาร์ตแกลเลอรี่ อาร์ตแกลเลอรี่(19)

สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการ

พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา(6)

ห้องสมุด ห้องสมุด(4)

มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

วัด วัด(72/430)

โบสถ์ โบสถ์(2)

มัสยิด มัสยิด(67)

สถานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ สถานที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ(8)

โครงการในพระราชดำริ โครงการในพระราชดำริ

โครงการหลวง โครงการหลวง(1)

วิถีชีวิต วิถีชีวิต

หมู่บ้าน ชุมชน หมู่บ้าน ชุมชน(5)

ตลาดท้องถิ่น ตลาดท้องถิ่น(9)

ตลาดน้ำ ตลาดน้ำ(2)

ธรรมชาติ และสัตว์ป่า ธรรมชาติ และสัตว์ป่า

แม่น้ำลำคลอง แม่น้ำลำคลอง(4)

อ่าว และชายหาด อ่าว และชายหาด(1)

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ(1)

บันเทิง และท่องเที่ยวเชิงเกษตร บันเทิง และท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนสัตว์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สวนสัตว์ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ(4)

แคมป์สัตว์ และการแสดงสัตว์ แคมป์สัตว์ และการแสดงสัตว์(6)

สนามกีฬา สนามกีฬา(9)

ฟาร์ม, ไร่, สวน, สวนสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฟาร์ม, ไร่, สวน, สวนสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ(20)

สวนสนุก สวนสนุก(4)

สวนน้ำ สวนน้ำ(1)

โรงละคร โรงละคร(8)

โรงภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์(1)

ช้อปปิ้ง ช้อปปิ้ง

ช้อปปิ้ง และตลาดกลางคืน ช้อปปิ้ง และตลาดกลางคืน(21)

ห้างสรรพสินค้า ห้างสรรพสินค้า(7)

สปาเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ

สปาเพื่อสุขภาพ สปาเพื่อสุขภาพ(2)

ร้านอาหาร ร้านอาหาร

มิชลินสตาร์ มิชลินสตาร์(5)

ที่พัก ที่พัก

โรงแรม โรงแรม(3)

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญในการท่องเที่ยว หมายเลขโทรศัพท์สำคัญในการท่องเที่ยว

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญในการท่องเที่ยว หมายเลขโทรศัพท์สำคัญในการท่องเที่ยว(1)

บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร

รีวิวท่องเที่ยว, รีวิวอาหาร รีวิวท่องเที่ยว, รีวิวอาหาร(19)

ขนมไทยชาววัง, ขนมโบราณ, สูตรขนมไทย ขนมไทยชาววัง, ขนมโบราณ, สูตรขนมไทย(55)