Rating: 5/5 (1 votes)
ประเพณี และวัฒนธรรม
ประเพณี เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม เช่น การแต่งกาย, ภาษา, วัฒนธรรม, ศาสนา, ศิลปกรรม, กฎหมาย, คุณธรรม และความเชื่อ ฯลฯ อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของสังคมเชื้อชาติต่าง ๆ จนกลายเป็นประเพณี ประจำชาติและถ่ายทอดกันมาโดยลำดับ หากประเพณีนั้นดีอยู่แล้วก็รักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติหากไม่ดีก็แก้ไข เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ
ประเพณี นั้นล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคมรับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานใน การดำเนินชีวิตประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคมโดยเฉพาะศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย และชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยศิลปกรรมที่งดงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล เป็นต้น
คำว่าประเพณีตามพจนานุกรมภาษาไทยฉบับบัณฑิตยสถานได้กำหนดความหมายประเพณีไว้ว่า ขนบธรรมเนียม แบบแผน โดยจะสามารถแยกคำต่าง ๆ ออกได้เป็น ขนบ มีความหมายว่า ระเบียบแบบอย่าง ธรรมเนียมมีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา และเมื่อนำมารวมกันแล้วก็มีความหมายว่า ความประพฤติที่คนส่วนใหญ่ยึดถือเป็นแบบแผน และได้ทำการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นต้นแบบที่จะให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ประพฤติปฏิบัติตามกันต่อไป
โดยสรุปแล้ว ประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้น ๆ ฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคมลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติมีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแผกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับ ความเชื่อในคติพระพุทธศาสนาและพราหมณ์มาแต่โบราณ
ประเภทของประเพณี
1. จารีตประเพณีหรือกฎศีลธรรม นั้นหมายถึง ประเพณีที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม ถ้าคนใดฝ่าฝืนงดเว้นไม่กระทำถือว่าเป็น ความผิดและชั่วจารีตประเพณีเกี่ยวข้องกับศีลธรรมของคนส่วนรวมในสังคม และที่เห็นได้ในสังคมไทย ได้แก่ การแสดงความ กตัญญูกตเวทีที่ลูกควรมีต่อบิดา มารดาเมื่อท่านแก่เฒ่าเป็นหน้าที่ของลูกจะพึงเลี้ยงดูถ้าลูกไม่ดูแลสังคมจะลงโทษว่าเป็นคนอกตัญญู ถือเป็นความชั่วไม่มีใครอยากคบด้วย ตัวอย่างข้างต้นเป็นจารีตประเพณีไทย เราไม่ควรนำจารีตดังกล่าวไปใช้ในการ ตัดสินคนในสังคมอื่น ๆ
2. ขนบประเพณีหรือสถาบัน คือ ประเพณีที่วางระเบียบแบบแผนไว้โดยตรง คือ วางเป็นระเบียบพิธีการไว้อย่างชัดเจน ซึ่ง จะถูกนำมาใชักับสถาบันทางสังคมเป็นประเพณีประจำสถาบัน แต่ประเพณีดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะ สมและยุคสมัย
3. ธรรมเนียมประเพณีหรือประเพณีนิยม หมายถึง แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติกันมาจน เคยชินเป็นปกติวิสัย เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ธรรมดาสามัญที่ไม่มีความสำคัญมากมายต่อสวัสดิภาพหรือความจำเป็นของสังคม และเป็นเรื่องที่ทุกคนปฏิบัติอยู่ทั่ว ๆ ไปจนเป็นนิสัยหรือมาตรฐานทั่วไปในสังคมนั้น ธรรมเนียมประเพณีมีกำเนิดมาโดย ไม่มีผู้ใดทราบหรือสนใจสืบประวัติที่แน่นอน อาจจะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในสังคมหรือเกิดขึ้นใหม่แล้วแพร่หลายในสังคมเป็น ซึ่งพฤติกรรมปกติธรรมดาโดยทั่วไปไม่ต้องเสียเวลาไปครุ่นคิดในเรื่องเล็กๆ น้อย เช่น การไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่เป็นประเพณีที่คนไม่ ได้ความสนใจว่ามันเป็นมาอย่างไรแต่ทุกคนควรกระทำถ้าหากไม่กระทำจะถูกซุบซิบนินทาได้ เป็นต้น
วัฒนธรรม โดยทั่วไปหมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์ และโครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัด และมีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้น ด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย และความเหมาะสม แต่ถ้าเป็นในวิชาหน้าที่พลเมืองจะแปลว่าสิ่งที่มนุษย์ เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงาม และสืบต่อกันมา
วัฒนธรรมส่วนหนึ่งสามารถแสดงออกผ่าน ดนตรี, วรรณกรรม, จิตรกรรม, ประติมากรรม, การละคร และภาพยนตร์ แม้บางครั้งอาจมีผู้กล่าวว่าวัฒนธรรมคือเรื่องที่ว่าด้วยการบริโภคและสินค้าบริโภค เช่น วัฒนธรรมระดับสูง, วัฒนธรรมระดับต่ำ, วัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมนิยม เป็นต้น แต่นักมานุษยวิทยาโดยทั่วไปมักกล่าวถึงวัฒนธรรมว่า มิได้เป็นเพียงสินค้าบริโภค แต่หมายรวมถึงกระบวนการในการผลิตสินค้าและการให้ความหมายแก่สินค้านั้น ๆ ด้วย ทั้งยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคม และแนวการปฏิบัติที่ทำให้วัตถุและกระบวนการผลิตหลอมรวมอยู่ด้วยกัน ในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงรวมไปถึงเทคโนโลยี ศิลปะ วิทยาศาสตร์รวมทั้งระบบศีลธรรม
วัฒนธรรมในภูมิภาคต่าง ๆ อาจได้รับอิทธิพลจากการติดต่อกับภูมิภาคอื่น เช่น การเป็นอาณานิคม, การค้าขาย, การย้ายถิ่นฐาน, การสื่อสารมวลชน และศาสนา อีกทั้งระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนามีบทบาทในวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมาโดยตลอด
วัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. วัฒนธรรมทางวัตถุ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสุขทางกาย อันได้แก่ ยานพาหนะ และที่อยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องป้องกันตัวให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง
2. วัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้เกิดปัญญาและมีจิตใจที่งดงาม อันได้แก่ ศาสนา, ศีลธรรม, จริยธรรม, คติธรรม ตลอดจนศิลปะ วรรณคดี และระเบียบแบบแผนของขนบธรรมเนียมประเพณี
นักมานุษยวิทยาส่วนใหญ่มักใช้คำ "วัฒนธรรม" ไปในเชิงของวิสัยสามารถของคนทั่วไปในการบ่งชี้ จัดหมวดหมู่และสื่อถึงประสบการณ์ของตนในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ คนเราใช้วิสัยสามารถดังกล่าวสำหรับบ่งชี้เรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดในหมู่มนุษย์ด้วยกันมานานมากแล้ว อย่างไรก็ตาม นักวานรวิทยาหรือไพรเมตวิทยาก็ได้บ่งชี้ลักษณะวัฒนธรรมดังกล่าวในวานรหรือไพรเมตซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีสายพันธุ์ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดมานานแล้วเช่นกัน และโดยนักโบราณคดีจะมุ่งเฉพาะไปที่วัฒนธรรมที่เป็นเรื่องราวเท่านั้น (ซากเรื่องราวที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์) ขณะเดียวกัน นักมานุษยวิทยาสังคมก็มองไปที่ปฏิสัมพันธ์ของสังคม สถานภาพและสถาบัน ส่วนนักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมก็เน้นที่บรรทัดฐานและคุณค่า
การแบ่งแยกแนวกันนี้ แสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขที่แตกต่างกันที่ขึ้นอยู่กับงานที่ต่างกันของนักมานุษยวิทยา และความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นจุดการวิจัยที่ต้องชัดเจน จึงไม่จำเป็นว่าจะเป็นการสะท้อนถึงทฤษฎีของวัฒนธรรมซึ่งย่อมแตกต่างไปตามเชิงของเรื่องราว เชิงสังคม และเชิงบรรทัดฐาน รวมทั้ง ไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงการแข่งขันกันเองในระหว่างทฤษฎีต่าง ๆ ของวัฒนธรรม
ลักษณะของวัฒนธรรมไทย
1.วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรม นับตั้งแต่อดีตคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย เช่น พิธีแรกนาขวัญ และพิธีสู่ขวัญข้าว เป็นต้น
2.วัฒนธรรมไทยมีแบบแผนทางพิธีกรรม มีขั้นตอน รวมถึงองค์ประกอบในพิธีหลายอย่าง เช่น การทำพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำศพ และพิธีมงคลสมรส เป็นต้น
3.วัฒนธรรมไทยเป็นความคิด, ความเชื่อ และหลักการ ที่เป็นองค์ความรู้ซึ่งเกิดจากการสั่งสมและสืบทอดกันมา เช่นความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และศาสนา ค่านิยมการรักนวลสงวนตัวของสตรี เป็นต้น
4.วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมแบบผสมผสาน นอกจากคนไทยจะมีวัฒนธรรมเป็นของตนแล้ว ยังมีการรับวัฒนธรรมของชาติอื่นมาด้วย เช่น การไหว้ จากอินเดีย การปลูกบ้านโดย ใช้คอนกรีต จากวัฒนธรรมตะวันตก หรือการทำสวนยกร่อง จากวัฒนธรรมจีนเป็นต้น
5.วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินชีวิต บรรทัดฐานทางสังคม, ศิลปกรรม, วรรณกรรม และพิธีกรรม ตลอดจนประเพณีต่าง ๆ เช่น การตักบาตรเทโว, ประเพณีการตักบาตรเทโว, ประเพณีทอดกฐิน และประเพณีถวายสลากภัต เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญต่อลักษณะทาง วัฒนธรรมไทย
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
การอนุรักษ์วัฒธรรมไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนไทยทุกคนมีวิธีการ ดังนี้
1. ศึกษา ค้นคว้า และการวิจัยวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งที่มีการรวบรวมไว้แล้วและยังไม่ได้ศึกษา เพื่อทราบความหมาย และความสำคัญของวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นมรดกของไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งความรู้ดังกล่าวถือเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต เพื่อให้เห็นคุณค่า ทำให้เกิดการยอมรับ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ต่อไป
2. ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่าร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ และของท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจ และมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยน และตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่น ๆ อย่างเหมาะสม
3. รณรงค์ให้ประชาชนและภาคเอกชน ตระหนักในความสำคัญ ของวัฒนธรรมว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้การรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานการบริการความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
4. ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยการใช้ศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
5. สร้างทัศนคติ ความรู้ และความเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่เสริมสร้าง ฟื้นฟู และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของชาติ และมีผลโดยตรงของความเป็นอยู่ของทุกคน
6. จัดทำระบบเครื่อข่ายสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ สามารถเลือกสรร ตัดสินใจ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตทั้งนี้สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
ประเพณีไทย 4 ภาค ระเพณีที่คนรู้จักทั่วประเทศ และสามารถแบ่งเป็นหลายภาค ยังมีประเพณีความเชื่อที่แต่ละชุมชนกระทำต่อ ๆ กันมา แยกย่อยไปได้อีก ได้แก่ ประเพณีภาคเหนือ, ประเพณีภาคกลาง, ประเพณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ประเพณีภาคเหนือ) และประเพณีภาคใต้ เป็นต้น
ประเพณีภาคเหนือ และวัฒนธรรมภาคเหนือ ภาคเหนือ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าล้านนา เป็นดินแห่งความหลายหลายทางวัฒนธรรม และประเพณี ที่มีเสน่ห์ให้ค้นหาไม่น้อยกว่าภาคอื่น ๆ ของไทย เพราะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความน่าหลงไหล ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว, ประวัติศาสตร์ความเป็นมา, ภาษาท้องถิ่น, การแต่งกาย, การละเล่นพื้นบ้าน, อาหารพื้นเมือง, ประเพณีภาคเหนือ และวัฒนธรรมภาคเหนือ นับเป็นกิจกรรมที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
ประเพณีภาคกลาง วัฒนธรรมภาคกลาง พื้นที่ภาคกลางมีจังหวัดต่างๆ มากถึง 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครนายก จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ลักษณะของพื้นที่ภาคกลางจะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ดังนั้นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ภาคกลาง จึงประกอบอาชีพเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการทำประมงทั้งน้ำจืดและ ประมงน้ำเค็ม อีกทั้งอาชีพค้าขายก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่คนภาคกลางนิยมกันมากเพราะว่าภาคกลาง จะมีทางคมนาคมที่สะดวกสบายทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้ เหมาะแก่การทำการค้าเป็นอย่างยิ่ง
ประเพณีภาคอีสาน วัฒนธรรมภาคอีสาน ประเพณีไทยที่สำคัญ อีสานมีความจำกัดในทรัพยากรธรรมชาติ จากสภาพอากาศแห้งแล้งในหน้าแล้ง น้ำจะท่วมสองฝั่งลำน้ำ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามที่เนินไม่ไกลจากแม่น้ำ สะท้อนถึง ภูมิปัญญาในการตั้งถิ่นฐาน และการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดิมนั้นเคยอยู่ในเขตอิทธิพลอารยธรรมจากขอม และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนไท-ลาว กลุ่มต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีการ ผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกัน และสั่งสมสืบทอดต่อกันมาเป็นวัฒนธรรมอีสานที่มีลักษณะ เฉพาะตัวและน่าสนใจ
ประเพณีภาคใต้ และวัฒนธรรมภาคใต้ ภาคใต้ เป็นภูมิภาคหนึ่งของไทยอยู่ทางใต้ของประเทศ ถัดลงไปจากบริเวณ ภาคกลาง บนคาบสมุทรอินเดีย ขนาบด้วยอ่าวไทยทางฝั่งตะวันออก และทะเลอันดา มันทางฝั่งตะวันตก มีเนื้อที่ รวม 70,715.2 ตารางกิโลเมตร ความยาวจากเหนือจดใต้ ประมาณ 750 กิโลเมตร ทุกจังหวัดของภาคมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ยกเว้นจังหวัด ยะลา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ เทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาภูเก็ต เทือกเขานครศรีธรรมราช
โดยมีเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นพรมแดน กั้นระหว่างไทยกับมาเลเซีย เทือกเขาในภาคใต้มีความยาวทั้งสั้น 1,000 กิโลเมตร แม่น้ำสายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตาปี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำ ท่า ทอง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง และแม่น้ำตรัง ชายหาดฝั่งอ่าวไทยเกิดจากการ ยกตัวสูง มีที่ราบชายฝั่งทะเลยาว เรียบ กว้าง และน้ำตื้น ทะเลอันดามันมีชายฝั่งยุบ ต่ำลง มีที่ราบน้อย ชายหาดเว้าแหว่ง เป็นโขดหิน มีหน้าผาสูงชัน
หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
กลุ่ม: ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
ปรับปรุงล่าสุด : 1 ปีที่แล้ว