กรุงเทพมหานคร
จำนวน : 5,701,394คน
คำขวัญ :กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย
กรุงเทพฯ หรือ บางกอก เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย โดยเริ่มก่อตั้งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองราชย์ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ขึ้นเมื่อวันเสาร์ ที่ 6 เมษายน ในเดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล ในปี พ.ศ. 2325
รัชกาลที่ 1 ได้มีพระราชดำริให้สร้างพระราชวังทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดีกว่ากรุงธนบุรีเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวคูเมืองทางด้านตะวันตก และด้านใต้
แนวคูเมืองเดิมฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี ถือเป็นอาณาเขตขึ้นแรกของกรุงเทพ แนวคลองหลอด ตั้งแต่ปากคลองตลาดจนออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า เกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณโดยรอบมีพื้นที่ ประมาณ 1.8 ตารางกิโลเมตร
พระราชวังนั้นเดิมนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของพระยา, เศรษฐี และชาวจีน ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่สำเพ็ง ในการก่อสร้างพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิบดี กับพระยาวิจิตรนาวี นั้นเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง
ต่อมาได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง ในวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที (21 เมษายน 2325) พระราชวังสร้างเสร็จ เมื่อพ.ศ. 2328
จึงได้จัดให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบแผน งานฉลองพระนคร โดยโปรดเกล้าพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลก ภพนพรัตน์ ราชธา นีบุรี รมย์อุด มราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตาร สถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงเปลี่ยน คำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้รวมจังหวัดธนบุรีเข้าไว้ด้วยกันกับจังหวัดกรุงเทพฯ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิปส์ท่องเที่ยวกรุงเทพ
- การเดินทาง สามารถโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) และรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) รวมถึงพาหนะส่วนตัว และรถโดยสารประจำทาง
- นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชม วัดพระแก้ว และ พระบรมมหาราชวัง ต้องแต่งกายให้สุภาพ ผู้ชายห้ามสวมกางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะ ส่วนผู้หญิงห้ามสวมเสื้อกล้าม เสื้อแขนกุด กางเกงสามส่วน กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะ และห้ามถ่ายภาพในอาคาร และในพระราชอุโบสถด้วย เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 08.00 – 16.00 น.
- ปัจจุบันตลาดนัดจตุจักร เฉพาวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เปิด 07.00 – 17.30 น. ถือเป็นตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ร้านค้าส่วนใหญ่จะปิดวันธรรมดา ตลาดต้นไม้จะเปิดวันพุธ และวันศุกร์ มีร้านค้ามากกว่า 10,000 ร้าน บนเนื้อที่มากกว่า 100,000 ตารางเมตร สินค้ามีแทบทุกประเภท สามารถต่อรองราคาได้ เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- ถนนข้าวสาร เป็นที่นิยมของชาติต่างชาติ และโด่งดังที่สุด อยู่ในเขตพระนคร แขวงตลาดยอด ระยะทางเริ่มตั้งแต่ถนนจักรพงษ์ จนถึงถนนตะนาวใกล้สี่แยกคอกวัว
- ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เวลาเปิดทำการจะแตกต่างกัน โดยปกติจะเปิดตั้งแต่ 10.00 - 22.00 น. ซึ่งบางแห่ง ในวันเสาร์ - อาทิตย์ โดยอาจมีเวลาเปิดทำการที่นานกว่าวันธรรมดา