
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

Rating: 4.5/5 (4 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยา
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: วันพุธ - วันอาทิตย์
เวลาเปิดทำการ: 09.00 - 16.00 น.
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย ถนนโรจนะ ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนเช่าพระพิมพ์ที่ขุดได้จากกรุวัดราชบูรณะซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้าง จึงให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปีพ.ศ. 2504 สิ่งสำคัญที่น่าชมภายในพิพิธภัณฑ์ได้แก่ บริเวณพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นอาคารจัดแสดง 3 อาคาร คือ
อาคาร 1 ชั้นล่าง โดยจะจัดแสดงโบราณศิลปะวัตถุที่ค้นพบจากการขุดแต่ง และบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2499–2500 ซึ่งได้แก่ พระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดงได้แก่ พระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาขาวสมัยทวาราวดี ในท่าประทับนั่งห้อยพระบาทซึ่งเคยประดิษฐานในซุ้มพระสถูปโบราณวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม และพระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ลพบุรี อยุธยา
กรมศิลปากรได้พยายามติดตามชิ้นส่วนต่างๆ ขององค์พระที่กระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบขึ้นเป็นองค์พระได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นพระพุทธรูปที่มีค่ามากองค์หนึ่งซึ่งในโลกพบเพียง 6 องค์เท่านั้น คือในประเทศไทย 5 องค์และในประเทศอินโดนีเซีย 1 องค์ ในประเทศไทยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม 2 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร 1 องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา 1 องค์และวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์ เศียรพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
ทำด้วยสัมฤทธิ์มีขนาดใหญ่มากได้มาจากวัดธรรมมิกราช แสดงให้เห็นถึงความเก่าแก่ของวัดและฝีมือการหล่อวัตถุขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีเครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างสมัยอยุธยา
ชั้นบน นั้นจัดแสดงเครื่องทอง 2 ห้อง โดยห้องแรก จะจัดแสดงเครี่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อพ.ศ 2500 โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ พระแสงขรรค์ชัยศรีทองคำ องค์พระแสงขรรค์ทำด้วยเหล็กจะมีคมทั้ง 2 ด้าน ซึ่งจะฝักทำด้วยทองคำจำหลักลายประจำยาม ลายกนกประดับอัญมณี โดยด้ามทำด้วยหินเขี้ยวหนุมาน
ห้องที่สอง จัดแสดงเครื่องทองที่พบในกรุพระปรางค์วัดมหาธาตุประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งบรรจุอยู่ในผอบทองคำ ส่วนที่รอบเฉลียง จัดแสดงพระพิมพ์ที่ทำด้วยชิน(โลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก บุทองแดง)และดินเผา สมัยสุโขทัย ลพบุรี และสมัยอยุธยาที่ค้นพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุและวัดพระราม
อาคาร 2 จัดแสดงโบราณศิลปะวัตถุที่พบในประเทศไทยตามลำดับอายุสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11–24 คือ ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยาและรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบโบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง เช่น พระพุทธรูปปางต่าง ๆ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระคเณศ
อาคาร 3 นั้นเป็นเรือนไทยที่สร้างเป็นหมู่เรือนไทยภาคกลางปลูกอยู่กลางคูน้ำ โดยภายในเรือนไทยจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน มีเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยสมัยก่อน เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว หม้อดินเผา และเครื่องจักสานต่าง ๆ
โบราณวัตถุเหล่านี้แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในอดีตไว้อย่างน่าชมน่าศึกษาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์-วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ชาวไทย 30 บาท ส่วนชาวต่างชาติ 150 บาท
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา จากนั้นข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วตรงไปประมาณ 2 ไฟแดง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ





แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage