
สถานีเพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย

Rating: 3.9/5 (7 votes)




สถานที่ท่องเที่ยวเพชรบุรี
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 06.00 - 18.00 น.
สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย (งานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า) สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526
ในการนี้ได้มีพระราชกระแสว่าเดิมบริเวณพื้นที่แห่งนี้ รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงเคยมีความอุดมสมบูรณ์มาก มีน้ำตกและลำธารไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกับเสื่อมโทรม ปริมาณฝนตกน้อยลงทุกปีและไม่ตกต้องตามฤดูกาล
เกรงว่าพื้นที่นี้จะแห้งแล้งกลายเป็นทะเลทราย จึงทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ประมาณ 15,880 ไร่ ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ด้านเกษตรกรรม โดยเน้นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับอุดมสมบูรณ์ดังเดิม และทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2533 ให้เร่งขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะ เนื้อทราย ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเพดั้งเดิม ให้สามารถนำไปปล่อยให้ใช้ชีวิตกลับคืนสู่สภาพป่าดังเดิมต่อไป
สถานที่ตั้ง งานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งอยู่ริมถนนจอมพล บริเวณเขาเตาปูน ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
การสนองพระราชดำริ งานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ซึ่งได้แบ่งการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะแรก เป็นการฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม โดยจะมีการปลูกไม้ยืนต้นชนิดต่าง ๆ โดยที่จะสามารถใช้เป็นร่มเงาและเป็นพืชอาหารสัตว์ได้ เช่น ตะขบ มะขามป้อม มะม่วง มะกอก เป็นต้น ซึ่งนอกจากนี้ยังมีการปลูกแปลงหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า
ระยะที่ 2 ทำการก่อสร้างกรงสัตว์ คอกสัตว์ รวมทั้งเกาะสำหรับปล่อยชะนี ให้สามารถอยู่ได้ค่อนข้างอิสระ ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
ระยะที่ 3 ทำการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ โดยนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากหน่วยงานของทางราชการและเอกชนที่ให้การสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันได้ทำการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ เก้ง กวาง เนื้อทราย ละองละมั่ง ชะนี ลิง หมี เป็นต้น
2. สัตวปีก ได้แก่ นกยูง ไก่ฟ้าชนิดต่าง ๆ นกแก้วโม่ง นกแขกเต้า นกชาปีไหน เป็นต้น
3. สัตวเลื้อยคลาน ได้แก่ เต่าหก เต่าเหลือง เต่าหับ เต่านา
ระยะที่ 4 การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้เสด็จทรงปล่อยเนื้อทรายออกจากคอกเลี้ยงสู่คอกใหญ่บริเวณรอบเขาเตาปูน นั้นเพื่อให้สัตว์ป่าเหล่านี้ปรับตัวเข้ากับสภาพธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมภายนอก และเพื่อในอนาคตจะสามารถนำไปปล่อยคืนสู่ป่าต่อไป
ในระยะเวลาต่อมา ทางหน่วยงานได้ปล่อยสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ละองละมั่ง เก้ง นกยูง ไก่ฟ้า สัตว์ป่าที่ปล่อยไปทั้งหมด สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น
นอกจากนี้ งานเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการและประชาชนทั่วไป ประกอบกับเป็นสถานที่ที่มีสภาพป่าไม้และมีสัตว์ป่าอาศัยควบคุ่กัน จึงเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าปีละหลายหมื่นคน




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
Facebook Fanpage