
วัดกำแพงแลง





สถานที่ท่องเที่ยวเพชรบุรี
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดกำแพงแลง แต่เดิมวัดกำแพงแลงเป็นวัดร้าง มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่โดยเช่าที่ดินจากกรมการศาสนาเพื่อใช้ทำสวน ต่อมาเมื่อตั้งเป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาผู้ที่อาศัยอยู่จึงอพยพออกไป และพระภิกษุในวัดได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาวัดและโบราณสถาน
ซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 หน้า 3692 วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478 ภายหลังวัดกำแพงแลงได้ตั้งเป็นสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อ พ.ศ. 2497 และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดเทพปราสาทศิลาแลง โบราณวัตถุสำคัญที่พบ พบทั้งหมด 5 ชิ้น ได้แก่
พระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี พบตรงบริเวณปราสาททิศตะวันตก ลักษณะประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมีที่พบ ทำจากวัสดุศิลาทรายขาว วรกายชำรุดหักพังในส่วนศีรษะ แขน และขา แต่ยังคงพบศีรษะในบริเวณใกล้เคียงอยู่ ลวดลายบริเวณพระวรกายท่อนบนตรงบริเวณ
พระอุระปรากฏพระพุทธรูปปางสมาธิองค์เล็กประดับเรียงเป็นแถว ถ้าสมบูรณ์ จะมี 8 พระกร มีพระพุทธรูปปางสมาธิประดับเหนือกระบังหน้า สวมพระธำมรงค์ที่มีหัวเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่นิ้วพระบาททั้งสิบ อันแสดงถึงภาวะเหนือพระพุทธเจ้าทั้งปวง
พระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร พบในสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนพระวรกายและท่อนแขน 4 ท่อน ทรงภูษาสมพตในศิลปะเขมรแบบบายน ถ้าสมบูรณ์ จะมี 4 กร กรซ้ายหน้าถือดอกบัว กรขวาหน้าถือหม้อน้ำ กรซ้ายหลังถือประคำ กรขวาหลังถือคัมภีร์
พระวัชรสัตว์นาคปรก นั้นเป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง ซึ่งลักษณะที่พบเหลือเพียงส่วนของพระพักตร์และพระอุระ โดยด้านหลังมีแผ่นหินสลักติดเป็นตัวนาคแผ่พังพาน ซึ่งถ้าสมบูรณ์จะเป็นพระพุทธรูปนาคปรก บนฐานพญานาคขด ปางสมาธิ เป็นพระวัชรสัตว์ในลัทธิวัชรยานของกัมพูชา คำว่า วัชรสัตว์ จะเป็นพระนามที่เขมรใช้เรียกพระอาทิพุทธะ หรือพระมหาไวโรจนะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 6 ของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน ซึ่งเป็นศิลปเขมรนิยมสร้างออกมาในรูปแบบพระพุทธรูปนาคปรก
พระนางปรัชญาปารมิตา พบเพียงส่วนเศียรเท่านั้น ปัจจุบันเป็นสมบัติเอกชน ถ้าสมบูรณ์จะพบอยู่ในรูปพระโพธิสัตว์เพศหญิง มี 2 กร กรซ้ายถือดอกบัว ภายในมีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา กรขวาแสดงปางประทานพร
หัวสะพานรูปครุฑยุดนาค หัวสะพานนี้ไม่ได้พบภายในวัดกำแพงแลง แต่พบว่าได้จัดเก็บไว้ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี โดยลักษณะเป็นหัวบันไดครุฑยุดนาค แต่ที่พบนี้ ชำรุดไปมาก เหลือเพียงส่วนของขาครุฑ และหัวพญานาค 3 เศียรเท่านั้น ซึ่งลักษณะของหัวสะพานเช่นนี้ เป็นที่นิยมมาในศิลปะเขมรสมัยบายน ดังตัวอย่างจากหัวสะพานรูปครุฑยุคนาด ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร




แสดงความเห็น
คำค้น (ขั้นสูง) |
ภูมิภาค
|