หน้าหลัก > ภาคเหนือ > จ.เชียงใหม่ > อ.เมืองเชียงใหม่ > ต.ศรีภูมิ > การกิ๋นแขก-ที่สันกำแพง ประเพณีวัฒนธรรมภาคเหนือ
Rating: 5/5 (1 votes)
การกิ๋นแขก-ที่สันกำแพง ประเพณีวัฒนธรรมภาคเหนือ
การกิ๋นแขก-ที่สันกำแพง วัฒนธรรม ประเพณีไทย ภาคเหนือ นับเป็นประเพณีภาคเหนือ ที่ถือเป็นประเพณีแต่งงาน เรียกแบบภาษาเหนือว่า "กิ๋นแขก" โดยที่อำเภอสันกำแพง ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้อยู่ เมื่อหนุ่มสาวตกลงปลงใจที่จะล่มหัวจมท้ายด้วยกันแล้ว ก็จะปฎิบัติตามประเพณี โดยเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นสาว ต้องหาหมูมาเลี้ยงไว้ 1 - 2 ตัว โดยหมูที่เลี้ยงไว้นี้ก็เพื่อจะนำมาเป็นอาหารสำหรับแขกในเวลาแต่งงาน และหัวหมูก็จะนำเอามาถวายเป็นเครื่องสังเวยให้ผี ส่วนเจ้าสาวก็ต้องหาฝ้ายมาปั่นเป็นด้านทอผ้า สำหรับเย็บฟูก โดยเตรียมไว้รวมทั้งมุ้งหมอนด้วย
เพื่อความสะดวกในเวลาแต่งงาน ซึ่งฝ่ายชายไม่ต้องจัดหา นอกจากจะมีเงินทองติดตัวไปบ้างตามธรรมเนียม ประเพณี การแต่งงานนี้ เมื่อรักใคร่กันแล้ว ทางบิดามารดาฝ่ายหญิงมักจะไม่รังเกียจ เพราะเห็นว่าเป็นความสุขของลูกสาว
การกิ๋นแขก-ที่สันกำแพง ประเพณีไทย เมื่อหาฤกษ์งามยามดีได้แล้ว ก็กำหนดวันที่จะจัดงาน โดยฝ่ายหญิงจะเตรียมอาหารไว้เลี้ยงแขก ตามสมควรแก่ฐานะของตน ฝ่ายชายต้องเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้ ดาบ 1 เล่ม, ขันหมาก 1 ขัน, ผ้าห่มใหม่ 1 ผืน, หีบ 1 ใบ และเงินใส่ผีอีก 18 แถบ (เงินแถบ คือ เงินรูปปีทางภาคเหนือที่เคยนิยมใช้ในสมัยก่อน ปัจจุบันถ้าหาไม่ได้จะใช้เงินของเราแทน แต่เพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท)
เมื่อพร้อมกันแล้ว ฝ่ายหญิงจะให้ผู้แทนเป็นผู้ถือขันข้าวตอกดอกไม้ เพื่อมาเชิญเจ้าบ่าวไปยังบ้านเจ้าสาว โดยเมื่อถึงประตูบ้านเจ้าสาว ก็จะมีการกันประตูบ้าน ไม่ให้เจ้าบ่าวเข้าไป โดยจะโห่ถามว่า "โห จะไปไหนกันปะล้ำปะเหลือ" (จะไปที่ไหนกันมากมายนะ) ผู้แทนของเจ้าบ่าวจะตอบว่า "หมู่เฮา เอาแก้วตีแสงดีมาหื้อมาปั้นจะใดเล่า" (พวกเราเอาแก้วดีแสงดี มาให้อย่างไรล่ะ) ทางฝ่ายเจ้าสาวก็จะว่า "ประตูเงิน ประตู๋คำ จะเข้าไปง่ายบ่ได้ จะต้องซื้อเข้าก่อนก่ะ" (ประตูเงินประตูทอง จะเข้าไปง่ายไม่ได้จะต้องเสียค่าผ่านประตูก่อน) ทางฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะถามว่า "บ่เป็นหยัง จะเอาเท่าใดเล่า" (ไม่เป็นไร จะเอาเท่าไหร่ล่ะ)
ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการต่อรองราคา พอได้เวลา และราคาสมควร เจ้าบ่าวก็จะจ่ายค่าผ่านประตูไปให้ เมื่อผ่านประตูเข้ามาก็จะมีการโห่ร้องกันสนุกสนาน โดยการกั้นประตูนี้ ที่บันได จะมีญาติ หรือเด็ก ๆ ของเจ้าสาวมาตักน้ำเพื่อล้างเท้าให้เจ้าบ่าว จากนั้นเจ้าบ่าวก็ให้เงินบ้างพอสมควร จากนั้นญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงก็จะจูงมือเจ้าบ่าวเข้าไปนั่นอยู่กับเจ้าสาวเพื่อทำพิธีการผูกข้อมือ และรับพรจากผู้ใหญ่ และแขกสำคัญที่ได้เชิญมา
ขั้นตอนสุดท้ายจะเรียกว่า พิธีเสียผี จะทำหน้าที่โดยบิดา และมารดาของฝ่ายหญิง เป็นการประกอบพิธีภายใน โดยคนภายนอกจะไม่มีส่วนรู้เห็น เมื่อบ่าวสาว ได้อยู่กินกัน 3 - 7 วัน ก็จะมีการกราบไหว้พ่อตระกูลด้วย ซึ่งก็จะมีการรับไหว้ และให้ศีล ให้พรกัน หลังจากนั้นบ่าวต้องไปอยู่บ้านเจ้าสาวกับพ่อตาแม่ยาย อย่างน้อย 1 ปี เพื่อฝึกงาน ฝึกอาชีพกับพ่อตา เมื่อเห็นว่ามีความสามารถพอแล้ว ก็สามารถไปตั้งครอบครัวใหม่ของตนเองได้ แต่จำเป็นต้องจัดพิธีการให้พ่อตาแม่ยายเป็นพี่เลี้ยงในการ ตั้งครอบครัวใหม่ในครั้งนี้ โดยในปัจจุบันจะไม่นิยมทำกันแล้ว เมื่อแต่งงานก็มักจะไปตั้งครอบครัวใหม่เลย ไม่มาอยู่กับพ่อตาแม่ยายตามประเพณีของภาคเหนือแต่โบราณ
หมวดหมู่: ศิลปะ วัฒนธรรม และแหล่งมรดก
กลุ่ม: ศูนย์ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี
ปรับปรุงล่าสุด : 6 เดือนที่แล้ว