Rating: 3.9/5 (9 votes)
วัดป่าดาราภิรมย์
วันเปิดทำการ: ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ: 08.00 - 17.00 น.
วัดป่าดาราภิรมย์ วัดในเชียงใหม่ เที่ยวเชียงใหม่ เที่ยวภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ด้านหน้าวัดมีคลองชลประทานแม่แตงไหลผ่าน ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่ริม และค่ายดารารัศมี ประมาณ 1.00 กิโลเมตร ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 10.00 กิโลเมตร มีเนื้อที่อาณาเขตของวัด 26 ไร่
วัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป็นวัด ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2481 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2522 โดยมีเนื้อที่กว้าง 17.00 เมตร ยาว 30.00 เมตร และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ได้รับพระบรมราชานุญาต โดยยกเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2542 ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 6 รอบ แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ในปีพุทธศักราช 2471 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาถระ พระกรรมฐานนักปฏิบัติธรรมผู้ยึดมั่นในการถือธุดงควัตร มักน้อย สันโดษ เจริญรอยตามปฏิปทาของพระมหากัสสปเถรเจ้า ผู้เอตทัตคะทางธุดงควัตร ได้รับอาราธนาจากพระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปจาจารย์ ( จันทร์ สิริจันโท ) ให้มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มแรกที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งในขณะนั้นยังไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน บรรยากาศภายในวัดเงียบสงบ
พอออกพรรษาท่านก็ออกจาริกธุดงค์ ไปแสวงหาความสงบสงัด ในปีพุทธศักราช 2473 ได้จาริกมาทางอำเภอแม่ริม ได้พักอยู่ที่ป่าช้าร้างบ้านต้นกอก ซึ่งในขณะนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้สักและไม้เบญพรรณ อยู่ติดกับบริเวณสวนเจ้าสบาย ตำหนักดาราภิรมย์ ของพระราชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับการก่อสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 24 ในขณะนั้นบริเวณวัดเป็นป่าไม้เบญพรรณ (ป่าแพะ ) อยู่เขตชายป่าเทือกเขาดอยสุเทพ และดอยม่อนคว่ำหล้อง (ในตำนานของขุนหลวงวิรังคะ) ยังไม่พลุกพล่านด้วยบ้านผู้คน เป็นสถานที่เงียบสงบสงัด วิเวก ร่ำลือกันว่าเป็นสถานที่ผีดุ
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่พักชั่วระยะหนึ่ง แสวงจาริกไปที่พระธาตุจอมแตง เพื่อจำพรรษา 1 พรรษา ไปห้วยน้ำริน ป่าช้าบ้านเด่น บ้านปง ( วัดอรัญญวิเวก ) เชียงดาว และพร้าว ต่อไป จากสถานที่ป่าช้าร้างที่พระอาจารย์มั่น ผู้บำเพ็ญเผาผลาญกิเลสจนบรรถุถึงอริยมรรคอริยผล ได้มาเจริญสมณธรรมอธิษฐานจิตภาวนา ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการก่อสร้างขึ้นเป็นเสนาสนะป่าขึ้น ด้วยกุฏิศาลา แบบชั่วคราว และมีพระธุดงค์กรรมฐานผู้เป็นศิษย์แห่งพระอาจารย์มั่นมาอยู่จาริกอาศัยบำเพ็ญสมณธรรมตามวิถีแห่งธุดงคกรรมฐาน เป็นการชั่วคาวบ้าง ถาวรบ้าง
จึงกล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของสถานที่แห่งนี้เกิดนั้นเมื่อปีพุทธศักราช 2473 โดยท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีพระธุดงคกรรมฐานมาอยู่ปฏิบัติที่ป่าช้าแห่งนี้เป็นครั้งคราว โดยในปีพุทธศักราช พ.ศ.2481 คณะพุทธบริษัทกลุ่มหนึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของพระธุดงค์กรรมฐานในสายอาจารย์มั่น ภูริทตตมหาเถร ที่จาริกมาประพฤติปฏิบัติ จึงพร้อมใจกันสร้างเสนาสนะ มีกุฏิ และศาลา ได้ถวายแก่พระกรรมฐานเหล่านั้น
โดยได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดป่าวิเวกจิตตาราม” บางหมู่ก็เรียกว่า “วัดป่าเรไร” บางหมู่ก็เรียกว่า “วัดป่าแม่ริม” โดยมีพระอ่อนตา อคคธมโม เป็นประธานสงฆ์อยู่ โดยมีนายแก้ว รัตนนิคม, นายศรีนวล ปัณฑานนท์ เป็นหัวหน้า สถานที่ตั้งแห่งนี้เป็นป่าช้าติดกับตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2482
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ปี พ.ศ.2484 ในทายาทของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีเจ้าหญิงลดาคำ ณ เชียงใหม่ ได้เป็นหัวหน้าได้น้อมถวายที่ดินอันเป็นเขตพระราชฐานที่ตั้งของตำหนักดารารัศมี สวนเจ้าสบาย ของพระราชชายาฯให้แก่วัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จำนวน 6 ไร่
ทางราชการมีนายสว่าง พรหมปฏิมา นายอำเภอแม่ริม พร้อมทั้งทายาทของพระราชชายา และศรัทธาสาธุชน จึงได้พร้อมใจกันถวายนามให้แก่วัดใหม่ว่า“วัดป่าดาราภิรมย์” ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระกรรมฐาน และถวายพระราชกุศลแก่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้มีคุณูปการต่อเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
จากนั้นต่อมาก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาน้อมถวายที่ดิน และก่อสร้างเสนาสนะถวายโดยลำดับ เช่น ตะก่าจองจิงนะ ได้มีการถวายที่ดินเป็นจำนวน 12 ไร่ และต่อมาได้มีพระกรรมฐานมาอยู่ประพฤติปฏิบัติกันโดยลำดับ ซึ่งปรากฏผู้ที่อยู่เป็นเจ้าสำนัก (เจ้าอาวาส) ดังนี้
1. พระอาจารย์อ่อนตา (1 ปี) พ.ศ.2481 ( ประธานสงฆ์ )
2. พระอาจารย์พุทธา (1 ปี) ( ประธานสงฆ์ )
3.พระญาณดิลก(ภายหลังเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(พิมพ์)วัดพระศรีมหาธาตุ)มาอยู่ดูแลชั่วคราวระยะหนึ่ง (1 ปี ประธานสงฆ์ )
4. พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม ( ประธานสงฆ์ )
5. พระครูสังฆรักษ์กาวงค์ โอทาตวณฺโณ นธ.เอก (พ.ศ.2495–พ.ศ.2516) เจ้าอาวาสรูปที่ 1
6. พระมหาละม้าย สิริวณฺโณ ปธ.3 นธ.เอก (พ.ศ.2517–พ.ศ.2521) รักษาการชั่วคราว
7. พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล) ปธ.5 นธ.เอก (พ.ศ.2521–พ.ศ.2535) เจ้าอาวาสรูปที่ 2
8. พระโสภณธรรมสาร (ฤทธิรงค์ ญาณวโร) นธ.เอก พ.ศ.2540– ปัจจุบัน เจ้าอาวาสรูปที่ 3
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
พระกรรมฐานที่มีสุปฏิปัติในปัจจุบัน ในสมัยที่ท่านออกวิเวกปฏิบัติที่ได้มาอยู่พักปฏิบัติเป็นครั้งคราว เช่น หลวงปู่สาม อกิญฺจโน, พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, พระราชนิโรธรังษี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี), พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธจาโร), พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) เป็นต้น วัดป่าดาราภิรมย์
ในสมัยหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ในสมัยนั้นถาวรวัตถุยังไม่มีอะไรมากนัก นอกจากกุฏิสงฆ์ที่สร้างด้วยไม้ มีพระภิกษุสามเณร อยู่ปฏิบัติกรรมฐาน มีญาติโยมมาประพฤติปฏิบัติกันพอสมควร จากนั้นหลวงปู่ตื้อ ก็จาริกไปอยู่สำนักสงฆ์สามัคคีธรรม(ปากทาง) ปัจจุบันเป็น “วัดป่าอาจารย์ตื้อ” วัดป่าดาราภิรมย์ ในสมัยพระครูสังฆรักษ์กาวงค์ โอทาตวณฺโณ เป็นสมัยที่เริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้น ที่สำคัญปรากฏชัดเจนและเป็นประโยชน์ในภายหลัง คือ พ.ศ. 2521 สร้างศาลาการเปรียญทรงไทย กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สิ้นทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 95,000 บาท ชื่อ “ศาลาโอทาตวณฺโณ” พ.ศ. 2636 ได้รื้อและสร้างใหม่ใช้ชื่อว่า “ศาลาพัฒนานุสรณ์” พ.ศ. 2511 สร้างกุฏิสงฆ์จำนวน 1 หลัง 2 ชั้น ชื่อ “กุฏิโอทาตวณฺโณนุสรณ์”
ในสมัยพระครูสังฆรักษ์กาวงค์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนี้ ได้ดำเนินพัฒนาวัดให้เจริญขึ้นจากเสนาสนะให้มีรูปแบบมาตรฐาน ออกเอกสารในที่ดินของวัดให้ถูกต้องตามกฏหมาย พ.ศ. 2509 กรมชลประทานโครงการแม่แตง ได้ทำการขุดคลองส่งน้ำสายใหญ่ไหลผ่านในที่ของวัดอันเป็นที่ตั้งของศาลาโรงธรรมและกุฏิพระ และได้ถวายค่าผาติกรรมที่ดินให้แก่วัด เป็นจำนวนเงิน 250,000 บาท (ได้รับในปี พ.ศ. 2519) ทางวัดจึงดำเนินการเตรียมที่จะสร้างอุโบสถขึ้น
โดยได้กราบทูลเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เสด็จเป็นองค์วงศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2510 หลังจากนี้ไม่นานท่านพระครูสังฆรักษ์กาวงค์ ก็เริ่มอาพาธ และถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2516โดยเหตุที่ท่านพระครูองค์นี้มีอุปนิสัย และวิชาอุดมในทางเวทย์มนต์คาถา ท่านจึงมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์ลูกหาไปมาหาสู่ไม่ขาด จึงนับว่าท่านเป็นผู้นำความเจริญมาสู่วัดป่าดาราภิรมย์ในยุคแรก
พระธรรมดิลก (จันทร์ กุสโล)
หลังจากนั้นมา พระราชวินยาภรณ์ เเภอจังหวัดเชียงใหม่ (ธรรมยุต) ได้แต่งตั้งให้พระมหาละม้าย สิริวณฺโณ เป็นผู้ดูแลวัดสืบแทนมาวัดป่าดาราภิรมย์ในสมัย พระราชวินยาภรณ์, พระเทพกวี, พระธรรมดิลกหลังจากที่ท่านพระครูสังฆรักษ์กาวงค์ มรณภาพลงแล้วเมื่อ พ.ศ. 2516 พระราชวินยาภรณ์เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ (ธรรมยุต)
ในสมัยนั้น ได้แต่งตั้งพระมหาละม้าย สิริวณฺโณ เป็นผู้ดูแลวัด ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องคนที่มาพักอาศัยติดยาเสพติดและลักเล็กขโมยน้อย ได้มีคนมาร้องเรียนเป็นประจำ พระราชวินยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอฯ พยายามหาเจ้าอาวาสที่มีความสามารถและปฏิปทามาปกครองดูแล ก็ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดรับอาสา ใช้เวลา 5 ปี โดยที่ท่านแต่งตั้งตนเองเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสไปก่อน
(ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร)ลุถึงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 พระราชวินยาภรณ์ ได้ตัดสินใจย้ายจากการอธิษฐานพรรษาในวัดเจดีย์หลวง มาอยู่ประจำที่วัดป่าดาราภิรมย์ และได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแพร่ การสาธารณูปการ และการศาสนสงเคราะห์ บรรลุสมประสงค์ทุกประการ จนวัดป่าดาราภิรมย์สามารถดำเนินกิจกรรมอันอำนวยประโยชน์แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีชื่อเสียงขจรขจายไกล
พระโสภณธรรมสาร (ฤทธิรงค์ ญาณวโร)
เมื่อพระเทพกวี (จันทร์ กุสโล) ได้รับบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง พระอารามหลวง กลางเมืองเชียงใหม่และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) ในปีพ.ศ. 2434 และเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) ในปี พ.ศ.2538 ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมดิลก ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535
ได้มอบฐานานุศักดิ์ให้พระครูปลัดฤทธิรงค์ เป็นพระครูปลัดธรรมจริยวัฒน์ โดยทำหน้าที่เลขานุการเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธ) และผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ ต่อมาพระครูปลัดธรรมจริยวัฒน์ ได้นำพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ช่วยกันพัฒนาวัด และรักษาศาสนสมบัติ ตามข้อวัตรปฏิบัติที่พระบูรพาจารย์ได้พากันปฏิบัติมาแต่กาลก่อน มีการไหว้พระสวดมนต์ และทำวัตรเช้า-เย็น
การเจริญกรรมฐานภาวนา การบิณฑบาตร การบำรุงวัดให้ร่มรื่น สะอาด สงบ ร่มเย็นสมกับเป็นอารามในพระพุทธศาสนา จัดวางระเบียบของการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย งดงามสมตามสมณสารูป จนได้ความนิยมเลื่อมใสจากสาธุชนโดยทั่วไป
ต่อมาเมื่อพระเดชพระคุณพระธรรมดิลกได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏที่ได้มอบฐานานุศักดิ์ให้เป็นพระครูปลัดสุวัฒนวรคุณและได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระโสภณธรรมสาร ในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2547
หมวดหมู่: สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
กลุ่ม: วัด
ปรับปรุงล่าสุด : 6 เดือนที่แล้ว