บทความท่องเที่ยว, สูตรอาหาร
ขนมไทยภาคเหนือ, สูตรอาหารเหนือ
อาหารว่างภาคเหนือ อาหารภาคเหนือ อาหารทานเล่นของภาคเหนือนั้นจะเป็นประเภทของหวาน ปรุงด้วยกะทิ และแป้ง น้ำตาล หรือน้ำอ้อย อาหารว่างภาคเหนือนั้นโดยปกติมักจะทำเมื่อมีโอกาส หรือเทศการพิเศษ หรือพิธีกรรมเท่านั้น นอกจากนี้ยังนิยมเตรียมเพื่อทำบุญ เช่น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา, วันสงกานต์, งานประเพณีภาคเหนือ และวัฒนธรรมภาคเหนือ, วันพระ อาหารว่างภาคเหนือที่นิยมทำ เช่น ขนมจ๊อก, ข้าวต้มหัวงอก, ขนมลิ้นหมา, ข้าววิตู, ขนมกล้วย, ขนมศิลาอ่อน หรือซาลาอ่อน, ขนมมวง, ข้าวแต่น เป็นต้น
ขนมไทย นั้นมีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประจำชาติไทย คือ จะมีความละเอียดอ่อนประณีตในการเลือกสรรวัตถุดิบ โดยวิธีการทำ ที่พิถีพิถัน รสชาติอร่อยหอมหวาน และสีสันสวยงาม รูปลักษณ์ชวนรับประทาน ตลอดจนกรรมวิธีที่ประณีตบรรจง
ขนมไทยภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะทำจากข้าวเหนียว และส่วนใหญ่จะใช้วิธีการต้ม เช่น ข้าวต้มหัวหงอก, ขนมเทียน และขนมวง โดยมักทำกันในเทศกาลสำคัญ เช่น วันเข้าพรรษา หรือวันสงกรานต์
ขนมที่นิยมทำในงานบุญเกือบทุกเทศกาลคือ ขนมเทียนหรือขนมจ๊อก เป็นขนมที่หาซื้อได้ทั่วไปคือ ขนมปาดซึ่งคล้ายขนมศิลาอ่อน ข้าวอีตูหรือข้าวเหนียวแดง ข้าวแตนหรือข้าวแต๋น ขนมเกลือ ขนมที่มีรับประทานเฉพาะฤดูหนาว ได้แก่ ข้าวหนุกงา ซึ่งจะเป็นงาคั่วตำกับข้าวเหนียว ถ้าใส่น้ำอ้อยด้วยเรียกงาตำอ้อย ลูกก่อ ถั่วแปะยี ถั่วแระ ข้าวแคบหรือข้าวเกรียบว่าว ลูกลานต้ม
ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนมพื้นบ้านได้แก่ ขนมอาละหว่า ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายขนมหม้อแกง ขนมเปงม้ง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายขนมอาละหว่าแต่มีการหมักแป้งให้ฟูก่อน ขนมส่วยทะมินทำจากข้าวเหนียวนึ่ง น้ำตาลอ้อยและกะทิ โดยในช่วงที่มีน้ำตาลอ้อยมากจะนิยมทำขนมอีก 2 ชนิดคือ งาโบ๋ ที่ทำจากน้ำตาลอ้อยเคี่ยวให้เหนียวคล้ายตังเมแล้วคลุกงา กับ แปโหย่ ที่ทำจากน้ำตาลอ้อยและถั่วแปยี มีลักษณะคล้ายถั่วตัด เป็นต้น